WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OECD ประเมินศก.โลกขยายตัวปานกลาง เตือนยูโรโซนเสี่ยงชะงักงันยืดเยื้อ แนะใช้มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม

    องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวปานกลางในช่วงสองปีข้างหน้า พร้อมกับเตือนถึงความเสี่ยงสูงจากตลาดการเงินที่ผันผวน และการว่างงานสูงในยูโรโซน

  ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับล่าสุดที่มีการเปิดเผยในวันอังคาร OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวแตะ 3.3% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัวเร็วขึ้นเป็น 3.7% ในปี 2558 และ 3.9% ในปี 2559 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวปานกลางเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤต และค่อนข้างต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยระยะยาวที่ 4.0%

     สำหรับ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว OECD มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐและอังกฤษจะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากการอัดฉีดเงินได้ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ และส่งเสริมการลงทุน โดยในสหรัฐนั้น คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวขึ้นแตะ 3.1% ในปีหน้า ขณะที่จีดีพีอังกฤษจะขยายตัว 2.7%

    อย่างไรก็ตาม ยูโรโซนกำลังหยุดนิ่ง และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง และเงินเฟ้อยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายมาก

   OECD คาดว่า จีดีพียูโรโซนจะขยายตัว 0.8% ในปีนี้ 1.1% ในปี 2558 และ 1.7% ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซนจะยังคงอ่อนแอ เพราะหนี้สาธารณะและภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับสูง ภาวะสินเชื่อตึงตัว และการว่างงานสูง นอกจากนี้ หากอุปสงค์อ่อนแอ เศรษฐกิจยูโรโซนอาจเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอยอย่างยืดเยื้อ และเงินฝืด

    ส่วนในญี่ปุ่นนั้น OECD คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 0.8% ในปี 2558 และ 1.0% ในปี 2559 เทียบกับ 0.4% ในปี 2557 เนื่องจากภาวะตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น และการผ่อนคลายการเงินเพิ่มมากขึ้น

    ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ OECD คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงแตะ 7.1% ในปี 2558 เทียบกับ 7.3% ที่คาดการณ์ไว้สำหรับปีนี้ และคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในอินเดีย อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ แต่จะยังคงอ่อนแรงในรัสเซีย และบราซิล

   OECD ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพีในช่วงสองปีข้างหน้า ได้แก่ ความผันผวนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น การขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการขยายตัวในอนาคต และงบดุลของธนาคารและภาคครัวเรือนที่อ่อนแอ พร้อมกันนี้ OECD ได้แนะนำให้ประเทศต่างๆมุ่งเน้นไปที่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผ่อนคลาย และมาตรการกระตุ้นการขยายตัว รวมทั้งดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ตลอดจนเพิ่มผลผลิตและการสร้างงาน

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!