WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อาทิตย์เอกเขนก: 'เผด็จ ประดิษฐเพชร' อย่าท้อแท้ในสิ่งที่ยังไม่พยายาม

  ไทยโพสต์ : ใครๆ ก็ถามถึงตั๋วร่วม วันนี้อาทิตย์เอกเขนกจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับบุคคลที่มีความรู้ในระบบตั๋วร่วมอย่างรู้ลึกรู้จริง ซึ่งเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เผด็จ ประดิษฐเพชร รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. หรือที่ใครมักเรียกกันว่า ดร.เผด็จ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ว่าความคืบหน้าของการดำเนินการขณะนี้ไปถึงไหนแล้ว และเราจะได้ใช้ระบบตั๋วร่วมกันเมื่อไร

    ดร.เผด็จ เล่าว่า เกิดตำบลตลาดขวัญ นนทบุรี เดินทางตามบิดาซึ่งรับราชการกระทรวงมหาดไทยไปยังจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ 2 ขวบ ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดทางภาคเหนือ กว่าจะจบชั้นมัธยมปลายก็ผ่านโรงเรียนมากว่า 10 แห่ง จนสุดท้ายจบมัธยมปลายที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่ แล้วเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    "ผมเริ่มทำงานที่สมาคม YMCA ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ข้อมูลพัฒนาภาคเหนือ ดูแลงานด้านส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับหมู่บ้านในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ และเข้ารับราชการตั้งแต่มกราคมปี 2536"

     และยังเล่าต่อว่า เริ่มแรกนั้นได้ทำงานและรับผิดชอบงานโดยตรง ด้านแบบจำลองและฐานข้อมูลด้านการจราจรและขนส่ง ซึ่งสมัยก่อนการพยากรณ์สภาพการจราจรยังมีการใช้แบบจำลองและฐานข้อมูลที่ต่างกัน จึงได้มีแนวคิดที่จะทำให้มีการใช้แบบจำลองและฐานข้อมูลเดียว สำหรับการวิเคราะห์โครงการด้านการจราจรและขนส่ง

    ดร.เผด็จได้ย้ำว่า งานที่รับผิดชอบต่อมาและยังติดตัวอยู่ตลอด รวมถึงยังเป็นความหวังว่าจะต้องช่วยทำให้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นเพียงข้าราชการตัวเล็กๆ คนหนึ่ง คือการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทาง ที่ควรมีการพัฒนาให้ครบถ้วนอย่างเป็นระบบ เช่น การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ การจัดสรรจำนวนรถให้เหมาะสมกับเส้นทาง การนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการเดินรถ การใช้สัญญาจ้างเชิงคุณภาพ การปรับปรุงองค์กร และการใช้มาตรการเสริมอื่นๆ กับการจัดการเดินรถ การควบคุมความปลอดภัย เป็นต้น

    สำหรับ งานในปัจจุบันนั้น ดร.เผด็จเล่าว่า เป็นงานที่ได้รับผิดชอบมานานแล้วกว่า 5 ปี คือการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ซึ่งรับหน้าที่รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. โดยที่ผ่านมาได้เสนอแผนการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน และการจัดตั้งศูนย์การบริหารจัดการรายได้หลักการและเหตุผล

     ด้านมุม มองเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วมนั้น ดร.เผด็จบอกว่า เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือระบบขนส่งมวลชน สามารถจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการใช้ระบบขนส่งหลายรูปแบบโดยใช้ตั๋วใบเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถไฟ และการคมนาคมขนส่งรูปแบบอื่น ซึ่งอาจขยายการใช้งานไปยังทางด่วนที่เก็บค่าผ่านทาง รวมทั้งบริการอื่นๆ ของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งระบบตั๋วร่วมนี้จะช่วยลดเวลาและความยุ่งยากในการใช้เงินสดหรือเหรียญเมื่อต้องใช้บริการเหล่านั้นในเมือง ซึ่งระบบดังกล่าวได้นำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิเช่น Octopus card ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง Suica card ในประเทศญี่ปุ่น Ez-link ในประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

      ดร.เผด็จเล่าต่อว่า สำหรับรูปแบบของบัตรตั๋วร่วมที่จะนำมาให้บริการมี 3 ประเภท คือ บัตรที่ไม่มีการลงทะเบียน เมื่อเติมเงินและบัตรหายจะไม่สามารถขอคืนวงเงินในบัตรได้ บัตรที่มีการลงทะเบียน เมื่อบัตรหายสามารถขอคืนวงเงินส่วนที่เหลือในบัตรได้ และบัตรที่ระบุชื่อบุคคลสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสวัสดิการภาครัฐหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนจะมีสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานก็สามารถกำหนดได้

   ส่วนนอกเหนือจากงาน ดร.เผด็จมีเวลาให้ครอบครัว คือชอบไปเที่ยวภูเขา ทะเล น้ำตก ก็ออกต่างจังหวัด มีออกรอบไปตีกอล์ฟบ้าง และหลังจากได้เข้าพิธีอุปสมบท ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสเข้าวัดบ่อยๆ ถึงงานที่รับผิดชอบต่อสังคมจะเยอะ แต่ก็ไม่ลืมเวลาที่ให้กับครอบครัว

   ดร.เผด็จมองว่างานที่ได้รับมอบหมายพร้อมที่จะทำอย่างเต็มที่ โดยมีคติพจน์ประจำใจคือ อย่าเพิ่งท้อแท้ในสิ่งที่ยังไม่พยายาม และอย่าเพิ่งหมดหวังในสิ่งที่ยังไม่เริ่มต้น เพื่อทำทุกๆ วันให้ดีที่สุด

  และสุดท้าย ดร.เผด็จฝากบอกว่า ระบบตั๋วร่วม ไม่นานเกินรอนี้แน่นอน.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!