WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'ไพรินทร์'แถลงโต้'โสภณ'ปตท.ไม่ได้ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน 'ขู่ฟ้อง'โสภณ สุภาพงษ์'หลังขึ้นเทวี กปปส.โจมตี ปตท.

     'ไพรินทร์'บิ๊ก ปตท.เดือดจัด ส่งทนายดูข้อกฎหมายจ่อฟ้อง'โสภณ สุภาพงษ์'ขึ้นเวที กปปส.พาดพิง ปตท.สร้างความเข้าใจผิดในสังคมไทย สวนกลับ ยันข้อมูลแจงสิงคโปร์ใช้น้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดแพงกว่าไทยทั้งสิ้น จวกโสภณพูดเอามัน โกหกคำโต เหมือนยุคฮิตเลอร์ที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อ

     นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่นายโสภณ สุภาพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด และอดีตรองผู้ว่าการฝ่ายจัดหา การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ขึ้นปราศรัยพาดพิงและโจมตี ปตท.บนเวที กปปส. สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 11 เม.ย.และ 21 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้มอบมหมายให้ฝ่ายกฎหมายบริษัทฯ ไปพิจารณาว่าจะดำเนินการฟ้องร้องนายโสภณได้หรือไม่ เพราะสร้างความเข้าใจผิดในสังคมไทยที่ปัจจุบันมีความแตกแยกมากพออยู่แล้ว ถือเป็นกรณีที่ไม่สามารถยอมรับได้ ส่วนจะดำเนินการฟ้องร้องได้หรือไม่นั้นคงต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาข้อมูลก่อน

    พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงในหลายประเด็นว่าไม่เป็นความจริง ระบุว่าสิงคโปร์ไม่มีน้ำมันแม้แต่หยดเดียวเขายังใช้ถูกกว่าเราเสียอีก ผู้ที่เปลี่ยนแปลงปฏิรูปพลังงาน คือประชาชนต้องร่วมมือกันนั้น ยืนยันว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่จำหน่ายในสิงคโปร์มีราคาสูงกว่าไทยทั้งสิ้น โดยราคาน้ำมันดีเซลในสิงคโปร์เทียบเป็นเงินบาทที่อัตราแลกเปลี่ยน 25.74 บาท/เหรียญสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 57 อยู่ที่ลิตรละ 1.74 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 44.02 บาท แต่ดีเซลในไทยอยู่ที่ 29.99 บาท และน้ำมันเบนซิน 92 ที่สิงคโปร์มีทั้ง 3 เกรด มีราคาที่ 2.19, 2.23 และ 2.37 เหรียญสิงคโปร์ต่อลิตร หรือคิดเป็น 56.37, 57.40 และ 61.00 บาทต่อลิตรตามลำดับ ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ซึ่งแพงที่สุดในกลุ่มเบนซินของไทยมีราคาอยู่ที่กว่า 40 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาก๊าซแอลพีจีไทยก็เกือบถูกที่สุด รวมทั้งราคา NGV ด้วย

      “ไม่เห็นว่าจะมีน้ำมันสำเร็จรูปใดที่สิงคโปร์ขายต่ำกว่าไทย แสดงว่าคนพูดพูดเอามัน โกหกคำโต เหมือนหน่วยโฆษณาชวนเชื่อยุคสมัยฮิตเลอร์เมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ที่จะพูดบ่อยๆ ซ้ำๆ เพื่อให้คนเชื่อ”     

     นายไพรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า คนเมื่อจะพูดโจมตี ปตท.มักจะพูดว่า ปตท.ผูกขาด ซึ่งเป็นข้อสมมติฐานที่เขาวางเอาไว้ก่อนอยู่แล้ว โดยขอยืนยันว่าไทยเปิดเสรีพลังงานมานานแล้ว แม้ว่าจะไม่มี ปตท.ก็ยังมีผู้ค้าน้ำมันในตลาดอีกมากมายที่จะนำเข้าและส่งออกน้ำมัน ส่วนการส่งออกน้ำมันจะรวมค่าขนส่งทางเรือหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพียงแต่ราคาสินค้าต้องแข่งขันในตลาดนั้นๆ ได้ เช่น ส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปขายที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดเสรีมีเทรดเดอร์ 300-400 รายเราไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ หากเราไม่ขายก็มีคนอื่นขาย ปัจจุบันไทยก็มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลบริหารด้านพลังงานอยู่แล้ว คงไม่ยอมให้ ปตท.ผูกขาดพลังงานหรอก ดังนั้นที่กล่าวหาว่า ปตท.ผูกขาดน้ำมันในประเทศไม่เป็นความจริง ปตท.มีส่วนแบ่งตลาดน้ำมันสำเร็จรูปแค่ 39% ส่วนที่บอกว่าราคาน้ำมันเป็นเรื่องสมมตินั้นถูกต้องแต่ต้องสมมติให้ใกล้เคียงตลาดจริง ซึ่งไทยเทรดน้ำมันอยู่แค่ 8 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งโลก คงไม่สามารถไปกำหนดราคาตลาดได้

     ส่วนที่บอกว่า ปตท.ถูกระบอบทักษิณกลืนไปหมดแล้วนั้น ตนอยากชี้แจงว่า รายชื่อผู้ถือหุ้น ปตท.ก็ไม่มีชื่อของตระกูลชินวัตรเข้ามาถือหุ้นเลย ดังนั้นจึงไม่รู้ว่า ปตท.ถูกระบอบทักษิณเข้ามากลืนอย่างไร และรวมทั้งที่ระบุว่ากรรมการที่เข้าไปอยู่ใน บมจ.ปตท.อย่างน้อย 55 คนที่ถูกส่งจากตระกูลชินวัตร และเข้ามาควบคุม ปตท.ได้นั้น ขอยืนยันว่า ปตท.มีบริษัทลูกอยู่ในตลาดอีก 4 บริษัท ซึ่ง ปตท.ส่งคนเข้าไปเป็นบอร์ดคิดเป็น 1/4 ของกรรมการบริษัทลูก ที่เหลือเป็นกรรมการจากกระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ

    นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ปตท.กล่าวยอมรับว่า ในสมัยคุณโสภณ การกำหนดราคาน้ำมันหลายครั้งไม่บวกอะไรเลย ราคาสิงคโปร์กับราคาที่คนไทยน้ำมันเท่ากันเป็นความจริง แต่ยุคนั้นเราใช้ราคาน้ำมันตามราคาประกาศของบริษัทผู้ขาย (โพสติ้ง) เป็นราคาที่บริษัทน้ำมันซึ่งเป็นผู้ขายยอมขายในราคานี้ ส่วนเรื่องการตั้งราคาขายน้ำมันของสิงคโปร์มันห่างจากราคาน้ำมันในประเทศไทยค่อนข้างมาก คงต้องพิจารณาแนวทางการใช้พลังงานของสิงคโปร์ซึ่งต่างจากไทยอย่างมาก สิงคโปร์ไม่ได้เอาราคาน้ำมันเป็นตัวกำหนด แต่เอาราคาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด แม้ว่าราคาน้ำมันเท่ากันก็จริง แต่ภาษีรถยนต์ที่ใช้จะแตกต่างกัน เช่น ถ้ารถเก่าไม่สามารถใช้น้ำมันยูโร 4 ได้จะเสียภาษีถึง 2,232 เหรียญสิงคโปร์/6 เดือน แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันยูโร 4 ได้ค่าภาษีเหลือ 1,000 เหรียญสิงคโปร์ แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่น้ำมันเกรดพิเศษ ยูโร 5 ค่าภาษีเหลือแค่ 600 เหรียญสิงคโปร์/6 เดือน เป็นกุศโลบายของสิงคโปร์ที่ต้องการให้ประชาชนใช้รถที่มีคุณภาพสูง

   ดังนั้น หากมองเรื่องราคาน้ำมันอย่างเดียวไม่เป็นธรรม ต้องดูระบบการบริหารเรื่องระบบการขนส่งในประเทศด้วย ซึ่งไทยไม่ได้มีการบังคับการใช้รถ หรือปริมาณ โดยสิงคโปร์มองกลับกัน ราคาน้ำมันสิงคโปร์แพง แต่รถที่ไปเติมจะต้องเสียภาษีตามกฎกติกา

     การโจมตี ปตท.ในหลายประเด็น ซึ่งไม่เป็นความจริงและทำให้ ปตท.ได้รับความเสียหาย โดยหากพบหลักฐานที่ชัดเจนจะฟ้องร้องเอาผิดต่อไป “ไม่เข้าใจว่านายโสภณออกมาโจมตี ปตท.ต้องการอะไร โดยเฉพาะประเด็นการปรับโครงสร้างราคา นายโสภณก็มีส่วนในการกำหนดโครงสร้างราคามาตั้งแต่ต้นจึงน่าจะเข้าใจดี แต่กลับพูดเหมือนไม่เข้าใจ พูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เป็นการพูดเอามัน โกหกคำโต”

    ทั้งนี้ ยืนยันว่า ประเด็นราคาน้ำมันที่อ้างว่าสิงคโปร์ขายถูกกว่าไทย ทั้งที่สิงคโปร์ไม่มีการผลิตน้ำมันของตัวเอง ได้ให้เจ้าหน้าที่ ปตท.ตรวจสอบราคาขายปลีกล่าสุดคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันยืนยันได้ว่าราคาขายปลีกน้ำมันทุกประเภทของสิงคโปร์แพงกว่าไทย

    ส่วนประเด็นกล่าวหา ปตท.ผูกขาด ขอชี้แจงว่าธุรกิจน้ำมันของไทยมีการเปิดเสรีมานานแล้ว ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบันมีประมาณ 40-50 ราย ซึ่ง ปตท.เป็นหนึ่งในนั้น และหากไม่มี ปตท.อยู่ บริษัทที่เหลือสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้กลับไม่มีการพูดถึงระบบบริหารราคาพลังงานที่ควรเป็นไปตามกลไกตลาด.

    การเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงตอบโต้ประเด็นที่นายโสภณ สุภาพงษ์ ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของทั้งปตท.และบางจากปิโตรเลียม ที่กล่าวปราศรัยบนเวที กปปส.ลุมพินี เมื่อคืนวันที่21เม.ย. โดยโจมตี ปตท.ในหลายประเด็นซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงว่า ประเด็นที่มีการกล่าวหาว่า ปตท.ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน นั้นอาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจปตท.ผิด เพราะธุรกิจการค้าขายน้ำมันในประเทศ เป็นการค้าเสรี ที่ใครมีใบอนุญาตก็สามารถทำธุรกิจได้ โดยในความจริง ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ36เท่านั้น หากไม่มีปตท. ประชาชนก็สามารถที่จะไปเติมน้ำมันกับรายอื่นที่เป็นคู่แข่ง อย่าง เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ได้ จึงไม่ได้เป็นการผูกขาด

    ในขณะที่ธุรกิจโรงกลั่น ที่ปตท.ถือหุ้นกว่าร้อยละ 86 ของโรงกลั่นที่มีอยู่ นั้นก็ไม่ได้มีการครอบงำ เพราะไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการบริหาร โดยการเข้าไปถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่ง เป็นไปตามนโยบายของรัฐในช่วงนั้น เนื่องจากโรงกลั่นหลายแห่งประสบปัญหาการขาดทุน จากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

    ส่วนข้อกล่าวหาที่บอกว่า ราคาน้ำมันเป็นราคาสมมติ และเพราะปตท.ผูกขาด จึงทำให้สามารถตั้งราคาที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้ ตามใจชอบนั้น ก็ไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกัน เพราะการตั้งราคาจำหน่ายน้ำมัน ต้องใกล้เคียงกับราคาตลาดที่มีการค้าขายกันอยู่ หากปตท.กำหนดราคาขายที่สูงเกินจริง บริษัทน้ำมันคู่แข่งก็สามารถที่จะนำเข้าน้ำมันมาขายแข่งปตท.ได้ เพราะเป็นตลาดเสรี และหากปตท.ขายราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ธุรกิจก็อยู่ไมได้ นอกจากนี้ ที่อ้างว่าราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน อยู่ที่100เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อคิดเป็นเงินไทยจะตกประมาณลิตรละ20บาท แต่ราคาน้ำมันเบนซินกลับขายอยู่ที่ลิตรละ41บาทนั้น คุณโสภณ ไม่รู้หรือว่าราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินมีการบวกภาษีสรรพสามิตและเงินกองทุนน้ำมันเข้าไปด้วย และส่วนที่บวกเพิ่มเข้าไป ไม่ใช่ปตท.เป็นผู้บวก แต่เป็นการดำเนินการโดยภาครัฐ ซึ่งบริษัทน้ำมันรายอื่นๆก็เป็นแบบเดียวกัน

    "ที่น่าตกใจคือ คำพูดที่ว่า สิงคโปร์ไม่ได้ผลิตน้ำมันแม้แต่หยดเดียว แต่ประชาชนใช้น้ำมันราคาถูกกว่าคนไทย ก็เป็นข้อมูลที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะไปเปรียบเทียบราคากันแล้ว ไม่มีน้ำมันชนิดใดเลย ที่สิงคโปร์ ถูกกว่าประเทศไทย วันนี้ เหมือนเราอยู่ในยุคของฮิตเลอร์ ที่มีการพูดโกหกคำโตๆ และพูดซ้ำๆ บ่อยๆจนคนหลงเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะพิสูจน์ได้ว่าข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น " นายไพรินทร์ กล่าว

     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการฟ้องร้องต่อนายโสภณ ที่มีการพูดแล้วทำให้ ปตท.เสียหาย โดยอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล และชี้แจงกับประชาชนให้เข้าใจเรื่องให้ถูกต้อง

 

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 20:43 น. ข่าวสดออนไลน์

ความเข้าใจผิดๆเรื่องพลังงานของ นายโสภณ สุภาพงษ์ จากเวที กปปส.

โดย Energy Man

      ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เวที กปปส. สวนลุม ได้เริ่มพูดเรื่องพลังงาน แต่ไม่วายที่จะป้อนข้อมูลความเข้าใจผิดๆแก่บรรดาสาวกมวลมหาประชาชนอยู่ดี ทั้งๆที่เมื่อสองเดือนก่อน ได้ตัดสินใจไม่ให้กลุ่ม กคป หรือกลุ่มทวงคืนพลังงานได้ขึ้นเวที กปปส. อาทิ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล เป็นต้น [i] ผู้เขียนก็นึกว่า กปปส. เข้าใจเรื่องพลังงานดี เพราะในกลุ่มของ กปปส เอง ก็มีผู้ที่เข้าใจเรื่องพลังงานอย่างดี คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนางอานิก อัมระนันทน์ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร

     แต่ก็น่าแปลกที่กลุ่ม กปปส กลับไม่ขอข้อมูลจากทั้งสองคนนี้ แต่กลับไปหลงเชื่อกลุ่มทวงคืนพลังงาน อย่างเช่น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่ไปหลงเชื่อกลุ่มทวงคืนพลังงานเพราะระยะหลังๆพยายามพูดเรื่องพลังงาน [ii] แต่ก็เข้าใจผิดๆอยู่เหมือนเคย แถมยอมรับอีกด้วยว่า ได้คุยกับ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี บ่อยๆ ผู้เขียนขอเรียกว่า ‘โดนล้างสมอง’ ให้เข้าใจข้อมูลพลังงานผิดๆมากกว่า และโดยเฉพาะล่าสุดให้นายโสภณ สุภาพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บางจาก ได้ขึ้นเวทีบ่อยๆ ด้วยความที่ผู้นี้เคยบริหารงานในบริษัทน้ำมัน ทำให้มีเครดิตที่จะพูดเรื่องพลังงาน แต่แล้วก็เข้าใจผิดๆอย่างไม่น่าเชื่อว่าเคยบริหารงานในบริษัทน้ำมัน เพียงเพราะต้องการโยงสาเหตุกำไรของ ปตท. และน้ำมันแพง มาจากระบอบทักษิณ [iii] [iv]

      ขอยกตัวอย่างสัก 3 ประเด็นก่อนละกัน

ประเด็นที่ 1

      ข้อเสนอให้ใช้ราคาหน้าโรงกลั่นที่ราคา Export Parity นั้น ไม่น่าเชื่อว่า เป็นคำพูดที่ออกมาจากปากของผู้ที่เคยบริหารงานในบริษัทน้ำมัน การคิดราคา Export Parity นั่นหมายถึง เรากำลังเป็นผู้ส่งออกแข่งกับประเทศสิงคโปร์

    โรงกลั่นในประเทศไทยนั้นสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป โดยเราจะนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเองแทน ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการในประเทศก็คือ ให้กำหนดราคาหน้าโรงกลั่นตามหลักการ Import Parity คือราคาเทียบเท่านำเข้า เพราะต้นทุนโรงกลั่นในประเทศไทยสูงกว่า ทั้งเรื่องการขนส่ง เพราะต้องขนส่งน้ำมันดิบเข้ามากลั่นไกลกว่าสิงคโปร์ กำลังการกลั่นที่ต่ำกว่า คุณภาพน้ำมันที่ใช้ก็สูงกว่า (ไทยกลั่นยูโร 4 สิงคโปร์กลั่นยูโร 2) ไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการสำรองน้ำมันตามกฎหมาย (สิงคโปร์ไม่ต้องสำรองน้ำมัน) และ ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่่ประเทศไทยก็สูงกว่าอีก ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่บวกใน Import Parity คือค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าสูญเสีย และค่าปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งรวมๆกันอยู่ประมาณ 80-90 สตางค์ต่อลิตร โดยเป็นค่าปรับปรุงคุณภาพเป็นยูโร 4 เสียส่วนใหญ่ประมาณ 50-60 สตางค์ต่อลิตร จึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเทียมหรือค่าใช้จ่ายสมมติที่นายโสภณกล่าวอ้าง แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่มีอยู่จริง ซึ่งอาจจะบวกน้อยกว่าภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนที่มากกว่าสิงคโปร์ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นด้วยซ้ำไป แต่ถ้าโรงกลั่นคิดค่าใช้จ่ายสูงกว่า Import Parity ก็จะแข่งขันกับน้ำมันนำเข้าจากสิงคโปร์ไม่ได้ จึงเป็นเพดานราคาที่โรงกลั่นจะคิดเกินกว่านี้ไม่ได้ ต่อให้โรงกลั่นถูกผูกขาดก็ตาม สุดท้ายราคาน้ำมันก็ต้องเป็นไปตามกลไกลของตลาด จะเห็นว่าธุรกิจโรงกลั่นไม่ได้กำไรงามเลย ครึ่งปีแรกขาดทุนยับ ครึ่งปีหลังกลับมามีกำไรบ้าง

     ถ้าไปบังคับให้โรงกลั่นขายราคา Export Parity จะกลายเป็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านจะแห่กันมาซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นไทยจนหมด เพราะราคาเท่ากับที่สิงคโปร์แถมหักค่าขนส่งอีก กลายเป็นประเทศไทยไม่มีน้ำมันใช้ ต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ในราคานำเข้าอยู่ดี และสุดท้ายโรงกลั่นไทยก็อยู่ไม่ได้เพราะค่าการกลั่นที่ต่ำจนแข่งขันกับสิงคโปร์ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวลง ส่งผลทำให้ Supply ในภูมิภาคหายไปกว่า ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้นไปกันใหญ่

     แล้วมีคำถามต่อมาว่าในเมื่อต้องใช้ราคาเท่ากับนำเข้า แล้วจะสร้างโรงกลั่นทำไม คำตอบก็คือ การที่รัฐส่งเสริมให้มีโรงกลั่นในประเทศเพราะ โรงกลั่นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำมันดิบให้เป็นน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่ม ลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศ โดยการนำเข้าน้ำมันดิบแทนน้ำมันสำเร็จรูป และเป็นการสร้าง GDP ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนไทย และรัฐก็เก็บภาษีได้อีก ดังนั้นการมีโรงกลั่นในประเทศ ย่อมมีประโยชน์กว่าไม่มี

ประเด็นที่ 2

     เปลี่ยนระบบสัมปทานขุดเจาะน้ำมันไปเป็นระบบแบ่งผลผลิตหรือ Production Sharing ที่นายโสภณกล่าวอ้างว่า ตัวเองพยายามผลักดันระบบนี้ แต่ไม่สำเร็จ ก็ไม่น่าจะสำเร็จอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยเคยนำระบบ Production Sharing จากมาเลเซียมาประยุกต์ใช้ครั้งหนึ่งใน Thailand 2 จนเจ๊ง เพราะไม่มีใครมาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยถึง 7 ปี เพราะรัฐเก็บส่วนแบ่งมากจนบริษัทเอกชนไม่สามารถลงทุนขุดเจาะน้ำมันและได้ผลตอบแทนที่คุ้มต่อการลงทุน นายโสภณ อ้างว่า ระบบสัมปทานทำให้เราไม่รู้ข้อมูลราคาซื้อขาย ขณะที่ระบบแบ่งผลผลิตจะทำให้เรารู้ข้อมูลราคาซื้อขาย ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงอีก เพราะราคาซื้อขายต้องเปิดเผยต่อรัฐ และประกาศราคาอยู่ในหน้าของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทุกๆเดือน [v] และกล่าวถึงระบบสัมปทานปัจจุบันว่า “แอบขายน้ำมันที่ขุดได้ในราคาถูกๆ เพื่อมาแบ่งถูกๆ” ที่น่าแปลกมากก็คือ บริษัทจะไปแอบขายน้ำมันที่อื่นถูกๆทำไมโดยไม่มีเหตุผล เพราะยิ่งขายได้แพง ก็ได้กำไรมากขึ้นอยู่ดี ถึงแม้ว่าจะต้องแบ่งให้รัฐเพิ่มขึ้นก็ตาม จึงเป็นตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

     แล้วมันต่างกันตรงไหนที่รัฐเก็บส่วนแบ่งในรูปตัวเงิน กับเก็บส่วนแบ่งในรูปของน้ำมัน เพราะน้ำมันที่ขุดเจาะขึ้นมาได้นั้น มันมีมูลค่าด้วยตัวของมันเองคือราคาตลาดโลก ถ้ารัฐขอแบ่งน้ำมันไป ก็ไม่ต่างกับขอแบ่งเงินในรูปมูลค่าของน้ำมันนั้น ถ้าอ้างว่า รัฐแบ่งน้ำมันไปขายถูกๆให้ประชาชนได้ ก็ไม่ต่างอะไรที่รัฐกำลังอุดหนุนราคาในรูปส่วนต่างของราคาขายกับราคาตลาดโลก เพราะรัฐก็สามารถขายน้ำมันในราคาตลาดโลกได้เช่นกัน

ประเด็นที่ 3

      ยกกำไร ปตท. ว่ากำไรปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าหลังการแปรรูป โดยพยายามโยงที่มาของกำไรมาจากการขายน้ำมันแพงจากสูตรราคาอ้างอิงสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียมว่าเป็นผลพวกจากระบอบทักษิณ แต่พูดแต่เลขกำไรอยู่มุมเดียว ไม่พูดตัวเลขอื่นๆ เช่น ยอดขาย อัตรากำไร หนี้สิน และสาเหตุ ? เอาง่ายๆ กำไร ปตท. จากงบการเงินปี 2556 [vi] หลังหักภาษีส่งเข้ารัฐแล้ว มีกำไรอยู่ 115,125.20 บาท จากยอดขาย 2,842,688 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทน 4% เท่านั้นเอง ผุ้เขียนกลับมองว่า ปตท.ไม่ได้กำไรมหาศาลเลย สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และที่ ปตท. มีรายได้มาก ก็เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการค้าระหว่างประเทศ เพราะ ปตท.มีการลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากด้วย รวมทั้งกำไรส่วนใหญ่ก็มาจาก ปตท.สผ.ที่มาจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 40 โครงการ ไม่ได้เกิดจากการขายน้ำมันแพงเกินจริงของ ปตท.เลย ถ้าดูงบการเงินส่วนที่เป็นการขายน้ำมัน ปตท. ขาย 617,305 ล้านบาท แต่มีกำไรก่อนหักภาษีเพียง 10,716 ล้านบาท คิดเป็น 1.7% เท่านั้น น้อยกว่าฝากธนาคารประจำเสียอีก !!!

     ถ้าคิดจะเอากำไรทั้งหมดแสนล้านบาทมาลดราคาน้ำมันในประเทศลง ก็ลดได้แค่เพียงลิตรละ 2 บาทเท่านั้นเองจากการใช้น้ำมันประมาณ 50 ล้านลิตรต่อปีของประเทศไทย และสุดท้าย ปตท. ก็เจ๊ง แข่งขันกับบริษัทน้ำมันต่างชาติไม่ได้ และระบบพลังงานของไทยจะถูกครอบงำโดยต่างชาติ ถ้าเป็นแบบนั้น เราก็จะกลับไปสู่อดีตในยุคที่บริษัทน้ำมันต่างชาติผูกขาดสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ และขาดความมั่นคงทางพลังงาน อาจจะได้ต่อคิวเติมน้ำมันตามโควต้ากันอีก และแน่นอนคงไม่มีใครยอมขายก๊าซ NGV กับ LPG ขาดทุนแบบที่ ปตท. ทำอยู่ทุกวันนี้ที่ยอมขายขาดทุนให้ประชาชนรวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ที่ไม่มีใครพูดถึงมุมนี้ของ ปตท.เลย [vii]

     เอาแค่เบาะๆ 3 ประเด็นก่อน แค่นี้ก็ทราบแล้วว่า นายโสภณ ยังคงมีความเข้าใจในเรื่องพลังงานผิดๆ ไม่ได้รู้จริงอย่างที่กล่าวอ้างเลย ทั้งๆที่เคยเป็นอดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันบางจาก หรือทั้งหมดเป็นเพราะความมีอคติต่อ ปตท. เพียงเพราะคิดว่าเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณเท่านั้นเอง พออ้างชื่อทักษิณเท่านั้น มวลมหาประชาชนก็เชื่อนายโสภณทันทีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ช่างน่าเป็นห่วงจริงๆ ประเทศไทย !!!...

โสภณ สุภาพงษ์ เวที กปปส สวนลุมพินี 21 4 57 ทำไมราคาน้ำมันไทยแพง

http://www.youtube.com/watch?v=FAS9X-4kpTI

'ไพรินทร์'เดือด เล็งฟ้องอดีตผู้บริหารปตท. ขึ้นเวที กปปส.กล่าวหาบิดเบือนราคาน้ำมัน

(ชมคลิป)มติชนออนไลน์ : วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!