WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สับสน การเมือง เนื่องแต่ ประธานวุฒิสภา สับสน กฎหมาย

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์


สับสน การเมือง เนื่องแต่ ประธานวุฒิสภา สับสน กฎหมาย

     การที่ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา นำเรื่องการแต่งตั้ง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธานวุฒิสภา เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)

    ถือเป็นเรื่อง ย้อนแย้ง ยิ่ง 1 ในทางการเมือง

     ย้อนแย้งเพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีนักกฎหมายใหญ่จากพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนะว่า ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการของคณะรัฐมนตรี

     นั่น ก็คือ นางนรรัตน์ พิมเสน เสนอไปเองเลย

     ย้อนแย้งเพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีนักกฎหมายใหญ่จากกลุ่ม 40 ส.ว.ตั้งข้อสงสัยต่อสถานะการเป็นรักษาราชการของ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีในการปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี

     ที่ฝุ่นตลบเพราะรอยตีนของ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และกลุ่ม 40 ส.ว.ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมาก็เนื่องมาแต่ข้อเสนอของนักกฎหมายใหญ่ 2 ท่านนี้แหละ

     แล้วทำไมเรื่องจึงได้กลับกลายเป็นการหักมุมจนเอวแทบเคล็ด

     ความจริง กระบวนการอัน นางนรรัตน์ พิมเสน กำลังปฏิบัติในฐานะที่เป็นเลขาธิการวุฒิสภาในขณะนี้ถูกต้องแล้ว

     ถูกต้องตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน

     นั่น ก็คือ เมื่อผ่านการลงมติจากที่ประชุมวุฒิสภาว่าใครได้รับเลือกเป็นประธานก็นำเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการตรวจสอบ และหากตรวจสอบแล้วถูกต้องตามกฎหมายก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

     และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยลงมาเป็นพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธานวุฒิสภา นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ก็ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

     เพียงแค่นี้ทุกอย่างก็เรียบร้อย ตามหลักแห่งกฎหมาย

     กระนั้น ความยุ่งยากจนแทบกลายเป็นเรื่องโกลาหลเพราะมีนักกฎหมาย ใหญ่ ที่อาจมากด้วยปัญญา อาจมากด้วยความรู้

     อย่างเช่น ส.ว.ในกลุ่ม 40 อย่างเช่นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

     ทำให้กระบวนการอันควรดำเนินไปตามช่องทางที่ถูกต้อง เหมาะสม เพิ่มความสลับซับซ้อนและยุ่งยากขึ้นไปอีก

     เป็นความยุ่งยากอันมีเจตนาทำให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายบางประการ

     บรรลุเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตสถานะของรัฐบาลรักษาการ บรรลุเป้าหมายเพื่อให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย บังเกิดอาการ เค-ลิ้ม ทางการเมืองไปทำในเรื่องที่มิได้เป็นหน้าที่โดยตรงของตน

     กระทั่งมีโอกาสที่จะ หน้าแหก แตกเป็นริ้วๆ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

     ถามว่า ความปั่นป่วน โกลาหลทางการเมืองนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมามีเหตุจากอันใด

     ก็จากบุคคลอย่างนักกฎหมายในกลุ่ม 40 ส.ว.นั่นแหละ ก็จากบุคคลอย่างนักกฎหมายอัยการเก่าจากพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละ

     และก็จากคนอย่าง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นั่นเอง...

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 10:01 น. ข่าวสดออนไลน์


สารพัดสูตรทางออกประเทศ

รายงานพิเศษ 

     แผนตั้งนายกฯ มาตรา 7 ของกลุ่ม กปปส. แเละพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้เวทีวุฒิสภาขับเคลื่อน กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง 

     ทั้งในแง่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดหลักกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และที่สำคัญยังเป็นการสร้างวิกฤตรอบใหม่ให้กับประเทศชาติ 

      ล่าสุดมือกฎหมายระดับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ออกมายืนยันแล้วว่า มาตรา 7 ไม่ได้ให้อำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นการพูดตามๆ กัน เอาโก้เข้าว่ามากกว่า 

     "มาตรา 7 เป็นเรื่องที่ใช้ในเวลาที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าไว้โดยตรง ก็ให้ใช้ตามประเพณีการปกครองฯ ส่วนจะนำไปสู่การทำอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอะไร"

     มือกฎหมายชั้นครูออกมาชี้แจงเอง น่าจะมีน้ำหนักไม่น้อย

     แต่จะสยบความเคลื่อนไหวผลักดันประเด็นล่อแหลมนี้ได้ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามรับชมกันต่อไป 

     อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้มีนักการเมืองและนักกฎหมายเสนอทางออกอื่นนอกเหนือจากนายกฯ มาตรา 7 ให้สังคมได้พิจารณา เพื่อหลบเลี่ยงภาวะสุญญากาศที่เปิดช่องทางให้คนบางกลุ่มฉวยจังหวะใช้เป็นเครื่องมือ 

      เริ่มจากสูตรเก่าเล่าใหม่'รัฐบาลแห่งชาติ' ของ นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ชวนคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายลงเลือกตั้ง ทุกพรรคที่ลงสนามจะได้โอกาสเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีใครเป็นฝ่ายค้าน

      โดยโควตารัฐมนตรีจะจัดสรรตามเก้าอี้ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้รับเลือก 

      จากนั้นเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมือง ตั้งคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองของสภาผู้แทนราษฎร ขีดเส้นให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน หรือไม่เกิน 1 ปี ก่อนจะยุบสภาเปิดทางให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศต่อไป 

     นายอำนวยมั่นใจว่า ในเมื่อมาตรา 7 เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ หากตั้งคนกลางเข้าไปก็จะเจอแต่ปัญหา ดังนั้นสูตรรัฐบาลแห่งชาติจึงเป็นทางออกที่ดี เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ และเป็นที่ยอมรับ 

      "ประเด็นนี้ได้หารือกับนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว นายอลงกรณ์ก็เห็นว่าจะเดินไปในแนวทางนี้ ส่วนนายอลงกรณ์จะไปคุยกับพรรคของเขาหรือไม่ อย่างไรนั้น ผมไม่ทราบ"

     อดีตประธานวิปรัฐบาลเผย พร้อมทิ้งท้ายว่า 

     "อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับมาเลือกตั้ง แล้วจะปฏิรูปอย่างไร หนึ่งสองสามสี่ห้าก็มาร่วมกันพิจารณา โดยมาทำปฏิรูปร่วมกันในฐานะของรัฐบาลแห่งชาติ ให้มีกฎหมายรองรับ บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปได้"

   ด้านสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) วิตกว่าประเด็นมาตรา 7 จะยิ่งสร้างความคับแค้นใจและความสับสนข้อกฎหมายให้กับประชาชน จึงประกาศย้ำจุดยืนเดินหน้าเลือกตั้งเพื่อผ่า ทางตัน 

โดยคำแถลงระบุข้อเสนอดังนี้ 1.หยุดการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ หยุดตีความรัฐธรรมนูญไปในทางที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย หยุดขยายขอบเขตอำนาจของตนเกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยุติการผลักดันนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ซึ่งยังไม่มีสถานะประธานวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ เสนอชื่อ'นายกฯเถื่อน'ขึ้นทูลเกล้าฯ 

     2. หาก กกต. ยังไม่จัดเลือกตั้งโดยเร็ว รัฐบาลรักษาการ สามารถออกพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้เอง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ทำหน้าที่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้เช่นเดียวกับนายกฯ

ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่าปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ไม่สามารถกระทำเรื่องดังกล่าวได้ 

     3.ทุกฝ่ายต้องหยุดการกระทำที่ใช้ความรุนแรง ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินประชาชนและทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหยุดแทรกแซงข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 

     4.การปฏิรูปการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นจากการฟังเสียงของคนกลุ่มเดียวบนท้องถนน หรือจากบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องยึดโยงกับความต้องการของประชาชนที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค 

     ปราศจากหลักการดังกล่าวนี้ การปฏิรูปก็เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อรวบอำนาจไว้กับมือของชนชั้นปกครองที่มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น 

     ขณะที่ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มขั้วที่ 3 อาทิ กลุ่ม Respect My Vote, กลุ่มสภาหน้าโดม, กลุ่มพอกันที, กลุ่ม My freedom ฯลฯ 

     จัดตั้ง'ภาคีประชาชนคือคนกลาง'คัดค้านนายกฯ มาตรา 7 พร้อมเรียกร้องให้วุฒิสภา กลุ่มกปปส.และเครือข่าย รับฟังเสียงและข้อเสนอของพวกตนที่ให้เดินหน้าจัดเลือกตั้ง ซึ่งเป็นทางออกที่แท้จริงของวิกฤต

      ปิดท้ายด้วยข้อเสนอของนักวิชาการด้านสันติวิธี 7 คน ได้แก่ นายสุริชัย หวันแก้ว, น.ส.ฉันทนา บรรพศิริโชติ, นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์, พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ, นางสุกัญญา เอมอิ่มธรรม, นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช, และนายโคทม อารียา

เสนอสูตรกลางๆ'รักษาการนายกฯที่เป็นคนกลาง แต่ไม่ได้มาด้วยมาตรา 7'

      หลักการคือ เมื่อคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายไม่ยอมรับแนวทางของกันและกัน พรรค ประชาธิปัตย์และกปปส. ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรักษาการที่จะลากยาวไปถึงเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และนปช.ก็คัดค้านนายกฯมาตรา 7

      จึงนำสิ่งที่สองขั้วเห็นตรงกันมาเป็นจุดเริ่ม นั่นคือตั้งคนกลางที่ไม่ฝักใฝ่ฝั่งไหนขึ้นมาบริหารประเทศช่วงวิกฤต พร้อมให้ทุกฝ่ายทำสัญญาว่าจะร่วมมือปฏิรูปการเมือง 

      โดยที่มาของคนกลางหรือผู้ไม่ฝักใฝ่ (non-partisan) นั้น กลุ่มนักสันติวิธีเสนอว่า บุคคลดังกล่าวจะต้องไม่เป็นนายกฯเต็มขั้น หมายถึงเป็นได้แค่รองนายกฯ ที่รักษาการในตำแหน่งนายกฯเท่านั้น 

      วิธีคัดเลือก จะให้คู่ขัดแย้งร่วมกันเสนอชื่อ เมื่อเลือกได้แล้ว รักษาการนายกฯ คนปัจจุบันจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรองนายกฯ จาก นั้นครม.ก็มีมติให้รองนายกฯ คนกลาง ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ แทนคนปัจจุบัน

      นอกจากนี้ อาจตั้งรัฐมนตรีคนกลาง 1 คนเพื่อประสานงานปฏิรูปการเมือง รวมถึงตั้งรัฐมนตรีคนอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นคนกลางหรือจากฝ่ายค้านก็ได้มาร่วมครม. เพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมือง แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 35 คน 

      โดยนายกฯ คนกลางจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง เช่น ไม่เกิน 1 ปี เมื่อภารกิจปฏิรูปการเมืองเสร็จสิ้นจะต้องยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ทันที 

     อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการโต้แย้งจาก นายยุกติ มุดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ถึงขนาดเกิดกระแสข่าวศึกวิวาทะ'นักมานุษยวิทยา' ปะทะ'นักวิชาการสันติวิธี'

      โดยนายยุติระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวขัดหลักการประชาธิปไตย นายกฯจะต้องมาจากเลือกตั้ง ไม่ใช่แต่งตั้งหรือตั้งคนกลาง 

      พร้อมยืนยันว่า ทางออกของประเทศคือการเลือกตั้งเท่านั้น

      สารพัดสูตรที่เสนอมานี้ก็เพื่อให้ประเทศเดินหน้าพ้นจากวิกฤตความขัดแย้ง 

       ขณะเดียวกันก็รักษาหลักการประชาธิปไตยด้วย....

 วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์


'ปฏิรูปบนหัวคน'คอลัมน์ ใบตองแห้ง

     เมื่อเร็วๆ นี้ คปท.ออกหนังสือเล่มหนึ่ง'รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ'เชิดชูวีรกรรมม็อบปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ ขัดขวางการเลือกตั้ง'สู้ไม่ถอย'ประหนึ่งวีรชน 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 

    ผมตั้งชื่อให้ใหม่ขำๆ 'รองเท้าผ้าใบบนหัวกู'เพราะนั่นคือวีรกรรมเหยียบย่ำสิทธิเลือกตั้งของผมและประชาชนอีก 20 กว่าล้านคน

     ขออภัยที่ใช้ภาษากันเอง เพราะบรรณาธิการรู้จักกันดี ส่วนตัวเป็น'ไนซ์กาย'น่าคบ วันนี้วันหน้าก็ยังอยากเป็นพี่เป็นน้องอยู่ แต่ถ้าไม่เอารองเท้าออกไปจากหัวกู เป็นคุณจะรู้สึกอย่างไร

   

   ผมก็ ไม่ต่างจากคนจำนวนมาก ที่มีญาติพี่น้องผองเพื่อนอยู่สองสี แต่ในวัยใกล้หลักหก ในชีวิตที่เคยเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษา เคยเข้าป่า ออกมาเป็นสื่อ ก็มีตั้งแต่เพื่อนพ้องน้องพี่วงการสื่อ ภาคประชาสังคม ไปจนสหายที่เคยร่วมรบ ฝ่าห่ากระสุนมาด้วยกัน นับหัวแล้วเผลอๆ จะมากกว่าข้างเดียวกันด้วยซ้ำ

      ฉะนั้นไม่ใช่ผมไม่เข้าใจว่าเพื่อน พ้องน้องพี่ต่างสีคิดอะไร ผมเข้าใจดีว่าพวกเขาก็มี "อุดมการณ์" ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งหลายเรื่องไม่ได้คิดต่างกัน เช่น กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปฏิรูปที่ดินด้วยภาษีอัตราก้าวหน้า ฯลฯ แต่วิถีทางที่จะเปลี่ยนแปลงต่างกันสิ้นเชิง

      เราคิดต่างกันมาตั้งแต่ พันธมิตรฯ ขอ "ม.7" เมื่อปี?49 เพราะอันที่จริงก่อนหน้านั้นไม่ได้คิดต่างกันเลยว่า "ระบอบทักษิณ" กำลังเหลิงอำนาจ แต่เห็นต่างในวิธีการที่นำไปสู่รัฐประหาร ซึ่งนานๆ เข้าก็พบว่ามันมาจากวิธีคิด ปรัชญา ที่สวนทางสิ้นเชิง

     ความขัดแย้ง 8 ปี ขึ้นๆ ลงๆ ตามสถานการณ์ รัฐประหาร ม็อบพันธมิตร ม็อบเสื้อแดง มีทั้งด่าทอ ญาติดี เป็นบางช่วงบางจังหวะ บางคนแตกหัก บางคนคบอยู่ เพราะผมพูดเสมอ ชั่วดีไม่ได้อยู่ที่สี คนสีเดียวกันคบไม่ได้ก็มี ก่อน "นิรโทษสุดซอย" จะนำมาสู่แตกหัก ผมก็เพิ่งไปกินข้าวกับพี่พันธมิตรที่นับถือ

     แต่ไม่แน่ใจว่ามื้อหน้าจะมีหรือเปล่า มีอีกเมื่อไหร่

     ประเด็น ทางการเมืองสังคม เรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม เราก็ยังร่วมมือกันได้ นี่ไม่ใช่เฉพาะแวดวงเพื่อนพ้อง แต่คนทั้งสองสี ยกตัวอย่างที่เชียงใหม่ เครือข่ายจังหวัดจัดการตัวเอง สองสีก็ร่วมกันได้

     แต่ไม่แน่ว่าพรุ่งนี้มะรืนนี้เราจะยังร่วมกันได้หรือไม่

     อะไร คือเส้นแบ่ง เราขัดแย้งกันแต่ยังเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องไม่ได้หรือ อย่าคลั่งการเมืองนักเลย ขั้วอำนาจเขารบกัน แย่งชิงผลประโยชน์ ทำไมเราต้องเป็นศัตรูกันด้วย

     อ้าว งั้นก็เอารองเท้าลงไปจากหัวผมก่อนสิครับ 

     เส้น แบ่งคืออะไร เราเคารพความเห็นต่างได้ถ้าอยู่ในกติกาประชาธิปไตย แต่เรายอมไม่ได้ ถ้าเอาความเห็นตัวเองเป็นใหญ่ ใช้กำลัง ใช้พวกมาก ใช้อำนาจที่ลากหลักกฎหมายบิดเบี้ยวได้ มาข่มขืนสังคมให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ตัวเองเห็นว่าดี แต่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน ตั้งแต่สิทธิพื้นฐานในการเลือกตั้ง

      นี่ หมายความถึงภาคประชาสังคมที่เข้าไปเป่านกหวีดนะครับ ไม่ได้หมายถึงนักการเมืองแพ้เลือกตั้ง บิดเบือนหลักการ แล้วอ้างว่าฝรั่งไม่เข้าใจ นักการเมืองชั่วร้ายทั้งนั้น ใช่เลย แต่ชั่วร้ายแล้วอวดเป็นคนดีไม่อายปาก นี่สิชั่วหนัก

      ภาคประชาสังคม ยกตัวอย่างม็อบ คปท.นำโดยทนายนกเขา'นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน'ผู้มีเกียรติประวัติเป็นหางว่าว ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีเจตนาดี ต้องการ'ปฏิรูปสังคม'

      แต่ปฏิรูปด้วยความคิดอะไร ด้วยความคิดว่าชาวบ้านโง่เป็นควาย ยากจน ไร้การศึกษา จึงถูกซื้อ อย่ากระนั้นเลย เราต้องบังคับข่มขืนใจให้ปฏิรูป อย่างนั้นหรือ

      ดูถูกมวลชนอย่างนี้ไปเสียเวลาร้องเพลง 'คนกับควาย'ทำไมตั้งหลายสิบปี

      ยัง ไม่พูดถึงว่าพวกคุณจะปฏิรูปอะไรได้ซักกี่น้ำ ภายใต้ขั้วอำนาจที่คุณแอบอิง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือความแตกแยกในภาคประชาชน ที่หลังจาก'แตกหัก'ครั้งนี้คงไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ไม่สามารถกลับมาทำอะไรร่วมกันอีก

     ไม่ได้บอกว่าตัดญาติขาดมิตร ส่วนตัวอาจยังคบได้อยู่ แต่ไม่รู้จะมีกิจกรรมอะไรร่วมกัน มันเหลือ'ความไว้วางใจ'กันน้อยกว่าน้อย

     ไม่ ใช่ไม่ไว้วางใจว่าไม่ซื่อ ไม่ดี แต่ไม่ไว้วางใจว่า ถ้าทำอะไรดีๆ เช่นต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ให้เราหลงเชียร์ แล้วจะเอาเกียรติประวัติไปล้มล้างสิทธิเลือกตั้งของปวงชนชาวไทยอีกหรือเปล่า

    อย่างน้อยรอบนี้ ถ้าพวกคุณได้อำนาจตามอำเภอใจ แล้วจะไปปฏิรูปอะไร ก็เชิญตามสบายนะครับ แต่'กูไม่ปฏิรูป กับมึง' ต่อให้เห็นด้วย ก็จะนอนเอาเท้าแช่น้ำอยู่บ้าน

     ปรัชญา วิธีคิด มันสวนทางกัน ปฏิรูปต้องมาจากการมีส่วนร่วม ไม่ใช่ข่มขืนใจปฏิรูปบนหัวคน

 

จัดการความรุนแรง

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 บทนำมติชน

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองน่าวิตกกังวลเป็นที่ยิ่ง เกิดความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่ควรเกิด คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใช้ปืนเอ็ม 16 กราดยิงผู้ชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 22 ราย ก่อนหน้านี้ มีเหตุการณ์การ์ดม็อบรุมซ้อม แทงคนส่งน้ำแข็งบาดเจ็บ ยิงและรุมทำร้ายร่างกายนายทหารยศ พ.อ.อาการสาหัสฯลฯ แต่ละคดีที่เกิดขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่จับกุมคนร้ายไม่ได้แม้ราย เมื่อไม่สามารถคลี่คลาย ทำความกระจ่างได้ ก็สุ่มเสี่ยง เกิดสถานการณ์บานปลาย ยากแก่การควบคุม เพราะต่างฝ่ายต่างปักใจเชื่อ ว่าเป็นฝีมือฝ่ายตรงข้าม โอกาสที่จะเกิดการแก้แค้น ตอบโต้กันด้วยวิธีรุนแรงก็มีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่อยากเห็น ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาจัดการ แก้ไข อย่าปล่อยให้เป็นเงื่อนไข ชักนำไปสู่เรื่องเลวร้าย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ออกแถลงการณ์ล่าสุด เรียกร้อง ทุกฝ่ายเคลื่อนไหวด้วยวิธีการอันสงบสันติ ไม่สร้างเงื่อนไขและปัญหาเพิ่มขึ้น อีกทั้งประณามการใช้ความรุนแรง เตือนทุกกลุ่มยุติการใช้ความรุนแรง หากเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุอย่างเต็มรูปแบบ ท่าทีของกองทัพครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณดี ที่กองทัพมุ่งมั่นที่จะรักษาบ้านเมือง ให้สงบเรียบร้อย แต่การดำเนินการก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและอย่างแยกแยะ ไม่เหมารวม เพื่อป้องกันมิให้นำไปสู่เหตุอื่น ขณะเดียวกันทุกฝ่าย ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรม ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการเมืองก็ต้องยึดมั่น ปฏิบัติตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน

ปัญหาบ้านเมืองที่เดินมาไกล หาข้อยุติไม่ได้จนถึงวันนี้ ด้านหนึ่งเป็นผลจาก แต่ละฝ่ายที่มีหน้าที่ ความรับผิดชอบ มิได้ปฏิบัติงานของตัวเองเต็มกำลังความสามารถ การปล่อยปละละเลย ได้ส่งผลเสียประการต่างๆ ต่อบ้านเมืองอย่างที่ปรากฏ อย่างไรก็ตาม ถือว่าไม่สายเกินไป หากฝ่ายต่างๆ จะได้ทบทวน กลับมาตั้งหลักใหม่ มุ่งมั่นปฏิบัติงานตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมา ไม่ยกเว้นกลุ่มสีใดทั้งสิ้น บ้านเมืองมาถึงจุดที่ทุกฝ่ายต้องเอาใจใส่จริงจังทุกเรื่อง เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องหาทางระงับยับยั้ง ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกด้วยเครื่องมือที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันต้องเร่งสะสางจับกุมคนร้ายให้ได้โดยเร็ว เพื่อสกัดกั้นการนำไปเป็นเงื่อนไขปลุกปั่นชักนำสู่การเผชิญหน้า หรือฉกฉวยโอกาส แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการอันไม่พึงประสงค์ เข้าทางบางฝ่าย การรักษาบรรยากาศบ้านเมืองมิให้เกิดความรุนแรง ยุ่งเหยิงไปยิ่งกว่านี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะตราบใดที่ความขัดแย้งยังอยู่ในระดับควบคุมได้ นั่นย่อมแสดงว่าการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธียังเปิดกว้างเสมอ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!