WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปรับ ครม. เศรษฐกิจ ปรับแนว บริหาร ไม่ใช่แค่ ปรับคน

ปรับ ครม. เศรษฐกิจ ปรับแนว บริหาร ไม่ใช่แค่ ปรับคน


(ที่มา:มติชนรายวัน 3 กันยายน 2558)


ฉับพลันทันใจยิ่ง

หนึ่งสัปดาห์หลัง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม

ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ให้เห็นผลสำเร็จอย่างชัดเจนภายใน 3 เดือน เพราะมีผู้ตั้งความหวังว่าเมื่อมีทีมเศรษฐกิจใหม่เข้ามาบริหารงานแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เคยมีอยู่ได้ดีขึ้น

โดยอยากให้ทีมเศรษฐกิจให้ความสำคัญและอย่าละเลยกับการดูแลเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าด้วย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย มีรายได้

และสามารถจับจ่ายใช้สอยให้เกิดการเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 



ที่ประชุม ครม. 2 กันยายน ก็มีมติออกมาเป็นชุด

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ป้ายแดง แถลงว่า

ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศที่ได้รับการเห็นชอบ 3 มาตรการ วงเงินรวม 136,275 แสนล้านบาท ดังนี้

1.อนุมัติงบประมาณผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ระดับเอ และบี กองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 30,000 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และปีต่อๆ ไป

2.อนุมัติงบประมาณส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลวงเงินรวมไม่เกิน 36,275 ล้านบาท เบิกจ่ายจากงบกลางในงบประมาณปี 2558 และ/หรือปี 2559 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเสนอให้ ครม.เห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์

3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศวงเงินรวมไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดบเบิกจ่ายจากงบกลางปี 2558 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559

 "วงเงินส่วนแรกทั้งหมด 15,000 ล้านบาทนี้จะต้องลงสู่ภูมิภาคให้เร็วที่สุด โดยตอนนี้กระทรวงมหาดไทยก็กำลังไปประชุมอยู่ว่าจะไปเร่งวงเงินลงอย่างไร เช่นเดียวกับกองทุนหมู่บ้านที่จะเริ่มเลยทันที เพราะเงินจะถึงชาวบ้านได้เร็ว ซึ่งการทำสิ่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ"

จากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้ รัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ประสบปัญหาด้านเงินทุน

และเมื่อผ่านการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนทั้งสองส่วนไปแล้ว ในระยะต่อไปที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก

ก็คือการเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนให้เกิดขึ้นจริง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ให้เงินที่จะลงไปนี้ช่วยผู้ที่มีรายได้น้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้สร้างตัวขึ้นมาใหม่

 ให้รอดพ้นจากภาวะตอนนี้


จะเรียก "ประชานิยม" หรือ "ทักษิโณมิกส์"

อย่างที่มีคนค่อนแคะก็ดี

หรือจะบอกว่านี่คือพื้นที่ "สีเทาๆ" ถ้าคนที่เราไม่ชอบลงมือทำเรียกว่าประชานิยม แต่ถ้าเราทำเองเรียกว่าการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อย่างที่ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย หนึ่งใน "ซุปเปอร์บอร์ด" ของรัฐบาลปัจจุบันระบุไว้ก็ดี

แต่ที่ชัดเจนก็คือ การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ มิได้ปรับแต่ "ตัวบุคคล" แต่ยังเป็นการปรับเปลี่ยน "แนวคิด" และวิธีการทำงาน

แม้ไม่ถึงระดับจากหน้ามือเป็นหลังมือ

แต่ก็ใกล้เคียง

มาเร็ว มาแรง และมาแตกต่างจากเดิม

น่าสนใจว่า กระบวนการ "รดน้ำที่ราก" ตามแนวคิดของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจคนใหม่ จะทะลุทะลวงด่านและอุปสรรคที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจคนเก่าไม่สามารถฝ่าไปได้หรือไม่

และกระบวนการฉีดเงินสู่ "รากหญ้า" จะได้ผลในทางปฏิบัติ จนสามารถประคับประคอง-หรือดีที่สุดคือพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่

ทั้งหมดนี้จะได้รู้กันในเวลาอันไม่ไกล 

เศรษฐกิจ-การเมือง

วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2558 บทนำมติชน

      นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองไว้อย่างน่าสนใจว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต หลังการปฏิวัติ เสาหลักด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนหดหายอย่างมาก ราคาพืชผลเกษตรลดต่ำตามราคาน้ำมันดิบ หากปล่อยไว้ไม่แก้ไข ประเทศไทยจะเสื่อมถอย กลายเป็นประเทศล้มเหลวได้ ปัญหาหลักของไทยขณะนี้ คือ บริษัทต่างประเทศที่อุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีสูงไม่ยอมมาลงทุน เพราะกลัวส่งออกไปสหรัฐและยุโรปไม่ได้ เนื่องจากสภาพการเมืองไทย ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ จนทำให้เกิดแนวคิดจะไม่ให้ความสำคัญกับการส่งออก ที่น่าวิตกก็คือ ยิ่งรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย จะยิ่งทำให้ปัญหาความไม่เชื่อมั่นของประเทศเพิ่มขึ้นอีก

     และแม้จะมีโรดแมป คสช.ประกาศว่าจะเร่งคืนอำนาจ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า 18 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบ 15 ปี แต่มีความขัดแย้ง จนต้องฉีกและร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เวลานี้อยู่ภายใต้การปกครองแบบรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะสร้างความสงบได้ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของโลก ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญให้ดี ให้เท่ ให้ตัวเองรอด ให้เป็นประชาธิปไตยจ๋า ถึงปี 2559 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งจะกลับมาอีก การเมืองจะกลับไปสู่วงจรเดิมคือประชาธิปไตยเต็มใบบวกความขัดแย้งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญหนที่ 3 จึงร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้หลักประชาธิปไตยที่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้เหมาะกับสภาพความขัดแย้ง และให้การปฏิรูปสำเร็จ เมื่อ 5 ปีหมดลง จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสากลที่ทำกันทั่วโลก

   กรรมาธิการเองยอมรับว่า สภาพการเมืองของไทยในปัจจุบัน ไม่เป็นที่ยอมรับของโลก แต่ยังเชื่อว่าประชาธิปไตยจ๋าจะทำให้ความขัดแย้งกลับมาอีก จึงยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และในเมื่อปัญหาการเมืองสัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจดังที่นายพิชัยวิเคราะห์ไว้ ความเสี่ยงที่ตกกับประชาชนคนไทยอย่างแน่นอนคือ อาจจะต้องมีชีวิตต่อไปภายใต้เศรษฐกิจที่เสื่อมถอยไปเรื่อยๆ ที่น่าคิดก็คือ กว่าจะผ่านเวลา 5 ปีไปได้ สภาพของประชาชนและประเทศจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นหรือย่ำแย่ลง มีหลักประกันใดมายืนยัน นอกจากความคิดความเชื่อของผู้มีอำนาจ น่าจะถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า ต้องให้ประชาชนได้ตัดสินชะตากรรมของตนเอง ตามระบบอันเป็นสากล หยุดการคิดแทนทำแทน ที่กำลังส่งผลเสียหายลุกลามไปเรื่อยๆ อย่างน่าวิตก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!