WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จ่อลดวาระ-เพิ่มตุลาการฯ รื้อศาลรธน. กมธ.ยกร่างฯยืนกราน

    แนวหน้า : จ่อลดวาระ-เพิ่มตุลาการฯ รื้อศาลรธน. กมธ.ยกร่างฯยืนกราน ไม่ให้‘กกต.’จัดเลือกตั้ง ‘สุรชัย’ขานรับผู้ตรวจฯ แบนนักการเมืองชั่วชีวิต ถ้าผิดจริยธรรมร้ายแรง

     นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของมาตราที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ว่า จะพิจารณาในส่วนกรอบกระบวนการยุติธรรมวันที่ 19 มกราคมนี้ โดยในช่วงวันที่ 19-21 มกราคม จะเป็นการพิจารณาในหัวข้อเรื่องหลักนิติธรรมและศาลและต่อด้วยการพิจารณาตัวบทขององค์กรอิสระซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามที่กมธ.ได้เสนอมา

   โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งในบุคลลในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น น่าจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรวมถึงกระบวนการคัดสรรที่จะเขียนในสามารถคัดสรรอย่างครอบคลุมและทั่วถึงทุกภาคส่วนมากขึ้น และที่สำคัญบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งจะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

รื้อที่มาสรรหาบุคคลองค์กรอิสระ

    สำหรับ การคัดสรรบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรตรวจสอบฯ จะใช้หลักเกณฑ์และมาตรฐานเหมือนกันทุกองค์กร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก คงต้องรอการพิจารณาจากคณะอนุกมธ.อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ทั้งนี้ในบททั่วไปของศาลและกระบวนการยุติธรรมจะมีการเขียนระบุชัดเจนในส่วนของหลักนิติธรรมซึ่งจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เขียนเรื่องหลักนิติธรรมไว้ในมาตรา 3 ให้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 รวมถึงทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เราจะระบุให้ชัดเจนในภาคสามเลยว่าอะไรคือหลักนิติธรรม

ลดวาระ-เพิ่มตุลาการศาลรธน.

     นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ส่วนอำนาจหน้าที่และการคัดสรรบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายคำนูณ กล่าวว่า อาจจะมีการปรับเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่เดิมจะอยู่ที่สมัยละ 9 ปี ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในกมธ.ด้านกฎหมายบอกว่ามากเกินไปจึงจะปรับให้สั้นลงและจำนวนตุลาการที่แต่เดิมมี 9 คนอาจน้อยเกินไปจึงจะมีการเพิ่มจำนวนตุลาการให้มากขึ้น ทั้งนี้จำนวนที่จะปรับใหม่ต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

ยืนกรานไม่ให้กกต.จัดเลือกตั้ง

     เมื่อถามถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ในหลักการที่ตกลงกันไว้อาจจะให้กกต.เป็นผู้กำกับควบคุมการเลือกตั้งในเต็มที่โดยจะเพิ่มอำนาจให้ในเรื่องการกำกับควบคุมการเลือกตั้ง แต่ในส่วนของผู้ที่จัดการเลือกตั้งอาจเป็นหน่วยงานอื่นเข้ามาจัดการเลือกตั้ง

เสวนาตอบโจทย์องค์กรอิสระ

     วันเดียวกันที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ โคฟ เกาะช้าง จ.ตราด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดเสวนาเรื่อง “ตอบโจทย์: องค์กรตรวจสอบบนเส้นทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี นายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินและอดีตสมาชิกวุฒิสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมเสวนา

     โดยนายพิเชต เห็นว่า องค์กรตรวจสอบในปัจจุบันเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 40-50 เมื่อทำงานมานานย่อมมีปัญหา เป็นโอกาสดีที่กำลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเห็นว่า 5 องค์กรตรวจสอบ คือป.ป.ช. สตง กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน กกต.ต้องอยู่ต่อไป แต่ก็ต้องมีการแก้ไข ในเรื่องกระบวนการสรรหา ควรขยายฐานคณะกรรมการสรรหาให้มีจำนวนมากกว่า 7 คน มีที่มาหลากหลายเพื่อกลั่นกรองให้ได้บุคคลที่เหมาะสมและมีคุณภาพ

ให้นิยามคำว่าอิสระให้ชัดเจน

    ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรอิสระแต่ละองค์กรควรเท่ากัน ไม่เกิน 6 ปีและเป็นได้วาระเดียว มีการแก้ไขการกำหนดกรอบหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน และที่สำคัญ ควรมีการกำหนดนิยามคำว่า “อิสระ” ให้ชัดเจน ว่า หมายถึงอะไร เพราะบางคนมองว่า หมายถึงทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรให้หมายถึงการทำงานที่ปลอดจากการถูกอิทธิพลทางการเมืองครอบงำ

ผู้ตรวจฯต้องเป็นยักษ์มีกระบอง

    ส่วนในภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นว่า ควรเพิ่มอำนาจให้ผู้ตรวจฯเป็นยักษ์ที่มีกระบองเล็ก เช่น หากผู้ตรวจมีคำวินิจฉัยให้หน่วยงานนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วภายใน 90 วันหน่วยงานดังกล่าวไม่ดำเนินการเพราะเพิกเฉยให้ถือเป็นความผิดทางวินัย รวมทั้งควรให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหรือมีส่วนในเรื่องการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองต่อไป เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมีหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียวทำ ซึ่งไม่เชื่คอว่าสมัชชาคุณธรรมจริยธรรมที่จะตั้งขึ้นเพียงหน่วยงานเดียวจะทำได้

'ศรีราชา'ชี้การเมืองห้ามจุ้นสรรหา

    ขณะที่นายศรีราชา กล่าวว่า จริงอยู่ที่การสรรหากรรมการองค์กรอิสระโดย 7 อรหันต์ไม่เหมาะสม แต่จะเอาองค์กรอื่นเข้ามาจะต้องคิดให้แตกก่อนว่า มันจะก่อให้เกิดความดีงาม เป็นธรรม เลืออกคนที่ดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้จริงหรือไม่ ส่วนตัวไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาเลย เพราะมันก็ทำให้เกิดการวิ่งเต้นว่าจะเอาไม่เอาได้อยู่ดี และเห็นว่าควรกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นกรรมการฯให้ชัดเจนว่าต้องไม่มีประวัติด่างพร้อย เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องสามารถให้คนคัดค้านได้

ขอเพิ่มอำนาจผู้ตรวจฯฟ้องเองได้

    นายศรีราชา ยังกล่าวด้วยว่าในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทางผู้ตรวจฯมีข้อเสนอขอให้มีการเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบ โดยนอกจากในเรื่องขอให้มีอำนาจการขอต่อศาลให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นเวลา 30 วันในระหว่างที่ผู้ตรวจพิจารณาคำร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน แล้ว ยังได้เสนอว่า อยากให้ผู้ตรวจมีอำนาจฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาแทนประชาชนได้ การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของรัฐทุกระดับรวมทั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่สำคัญอยากให้กำหนดให้การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างแรงกลายเป็นคุณลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่การตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดเพื่อเพิ่มมาตรฐานกับสถาบันการเมือง

'สุรชัย'ขานรับห้ามการเมืองจุ้น

     ด้านนายสุรชัย กล่าวว่า ก็เห็นด้วยที่จะกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระเพียง 6 ปี และเป็นได้วาระเดียวเพื่อให้การทำหน้าที่ไปอย่างอิสระ ขณะเดียวกันเห็นว่าไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ เพราะเมื่อเราจะสร้างองค์กรอิสระมาตรวจสอบฝ่ายการเมือง ถ้าคนที่จะตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตรวจสอบ มันก็จะกลายเป็นเหมือน “ลิเกโรงใหญ่” ที่มาเล่นหลอกเขา และที่สุดมันก็จะไม่พัฒนาไปเป็นการถ่วงดุลและแบ่งแยกอำนาจอย่างสุจริต

ระบุ 4 ปัจจัยทำให้องค์กรตรวจสอบ

     ทั้งนี้องค์กรตรวจสอบจะเข้มแข็งได้คิดว่าขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือ 1. ต้องมีความเป็นอิสระแท้จริง 2. บทบาทอำนาจหน้าที่ต้องสามารถดูแลผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริงได้ 3.ต้องติดดาบให้ลงโทษผู้ทำผิดได้เพราะถ้ามีหน้าที่แค่ตรวจสอบมันก็เข้มแข็งไม่ได้ 4 .ผลงานองค์กรต้องเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เอียงไปมา หลายมาตรฐาน ไม่กล้าเป็นผู้นำทางสังคม โดยปัจจัยใน 3 ข้อแรกนั้นสามารถแก้ไขได้โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ในข้อสุดท้ายขึ้นอยู่กับบุคคลกรขององค์กรนั้นๆที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น

ให้ปชช.ถอดถอนองค์กรอิสระได้

     นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็เห็นว่าเพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้องค์กรอิสระใช้อำนาจตามอำเภอใจก่อความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นการป้องกันการเอื้อประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองกับกรรมการองค์กรอิสระ เห็นควรให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าชื่อถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระได้ และเสนอแก้ไขกฎหมายองค์กรอิสระได้

หนุนผิดจริยธรรมแบนตลอดชีวิต

     ส่วนในเรื่องการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต่อไปไม่เพียงจะกำหนดเฉพาะเรื่องจริยธรรมเท่านั้น แต่จะมีการรวมเรื่องคุณธรรมนักการเมือง เข้าไปไว้ด้วย ซึ่งคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินยังเป็นองค์กรที่เหมาะสมจะทำในเรื่องการตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป และเห็นด้วยกับที่นายศรีราชาเสนอว่า ควรกำหนดให้การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงกลายเป็นคุณลักษณะต้องห้ามในการเข้าสู่การตำแหน่งทางการเมืองตลอดไปเพื่อที่ได้เป็นยกระดับของนักการเมืองด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!