WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ร้องเพิ่มดาบ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

     หมายเหตุ : พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" เกี่ยวกับแนวทางการทำงานและการตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินภายหลังการปฏิรูปประเทศ 

- เหตุใดจึงตัดสินใจเข้าสรรหาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไม่ปกติ 

   มีหลายคนถามว่าชีวิตหลังเกษียณอายุจะทำสิ่งใด ก็มีมาชวนให้ทำหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้สิ่งที่เขามาชวนไปทำนั้นจะถูกใจเราหรือไม่ จึงไม่อยากไปรับปากทำเพราะด้วยความเกรงใจ เลยตั้งเป้าหมายว่าจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาจะเลือกทางเดินแบบใดที่คิดว่าเหมาะสม ซึ่งก็ได้ดูงานขององค์กรอิสระที่ตรงกับความเป็นตัวตนของเรา และคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะมีหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาการร้องเรียนต่างๆ ของประชาชนกับหน่วยงานราชการเป็นหลัก เนื่องจากสมัยรับราชการทหารได้ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาก่อน ดังนั้น จึงคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินน่าจะเป็นงานที่ตรงกับตัวตนของเรา เพราะเป็นงานที่มีส่วนช่วยทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

- วางเจตนารมณ์และแนวทางการทำงานในตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินหลังจากนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง

ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ เพราะถ้ามีประชาชนมายื่นร้องเรียนกับหน่วยงานของเราแสดงว่าเขาได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นเราต้องให้โอกาสกับเขา หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานรัฐ เราต้องทำหน้าที่ช่วยปัดเป่าความเดือดร้อนและความทุกข์ยาก การที่ประชาชนคนธรรมดาจะมายื่นเรื่องร้องเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ กว่าจะเขียนคำร้องได้นั้นคงคิดแล้วคิดอีก ดังนั้น หากพบว่าหน่วยงานใดมีมูลที่จะกระทำผิด แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้พิจารณา ก็ต้องทำหนังสือเตือนไปว่าสิ่งที่หน่วยงานนั้นกำลังดำเนินการอยู่ อาจจะส่อไปในทางทุจริต หรือเจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจไปในทางมิชอบก็ได้ ต้องพยายามหาทางออกเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นที่พึ่งของประชาชนให้มากที่สุด 

- การทำหน้าที่เป็นกรรมการขององค์กรอิสระมีความแตกต่างจากการรับราชการทหารอย่างไร 

แตกต่างกันมาก สมัยรับราชการทหารได้รับผิดชอบนโยบายยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ด้านการป้องกันประเทศ การตัดสินปัญหาต่างๆ ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประโยชน์สุขของประชาชน แต่งานของผู้ตรวจการแผ่นดิน นอกจากไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐแล้ว จำเป็นต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี เพราะการชี้ปัญหาบางเรื่องที่แม้จะยุติไปแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมายที่ถูกต้องด้วย 

- มองว่าจริยธรรมของรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในขณะนี้เป็นอย่างไร 

ในช่วงปัจจุบันรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มาจากหลากหลายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มาจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เวลาในการทำงานมีไม่มาก เนื่องจากต้องเตรียมแผนงานต่างๆ เพื่อส่งต่ออำนาจให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปัจจุบันรัฐบาลไม่มีคำว่าพรรคการเมือง จึงไม่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคตัวเอง ไม่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาล การสรรหาบุคคลที่มาเป็นรัฐมนตรีก็เลือกบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ในกองทัพซึ่งมีผลงาน ทุกคนเติบโตเป็นตัวอย่างที่ดีของกองทัพมาโดยตลอด ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มาจากฝ่ายพลเรือน ก็จะเห็นว่าประวัติการทำงานดี จริยธรรมไว้วางใจได้ 

สำหรับ สนช.และ สปช.นั้น เรื่องจริยธรรม เห็นว่าตัวเขาเองก็ระมัดระวังเรื่องจริยธรรม เพราะด้วยอำนาจหน้าที่มักจะถูกภาคประชาชนคอยจับตามากเป็นพิเศษว่าอยู่ในแถวหรือไม่ แต่เท่าที่เห็นก็พบว่าทั้ง สนช.และ สปช.มีความรับผิดชอบ สามารถรักษาบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี ไม่ขาดการประชุมโดยที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงมีความมั่นใจว่าทั้ง 3 ส่วนจะเป็นตัวอย่างที่ดีทางจริยธรรมให้แก่สังคมได้ 

- หากอนาคตมีผู้มายื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ สนช. สปช. หรือนายกรัฐมนตรี หนักใจหรือไม่ 

มันอาจจะยากในการรวบรวมข้อมูล เพราะแต่ละคนก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ถ้าพบว่าบุคคลเหล่านั้นทำผิดก็ไม่หนักใจ ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นสุจริตและเที่ยงธรรม วินิจฉัยบนพื้นฐานของเหตุและผล มีความรอบคอบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันเรา ทำให้ผลการวินิจฉัยออกมาแล้วได้รับการยอมรับ เชื่อมั่น และศรัทธาจากประชาชนว่าเรามีความเที่ยงตรง เรื่องจริยธรรมมันเป็นเรื่องที่ไม่มีใบเสร็จ ไม่เหมือนเรื่องของการทุจริตหรือการประพฤติผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ซึ่งจะมีที่มาที่ไป มีเอกสารมีลำดับขั้นตอนชัดเจน แต่เรื่องจริยธรรมบางครั้งขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง ทุกวันนี้ไม่มีใครพูดถึงศาลที่ตัดสินเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการ มีเพียงคณะกรรมการที่อยู่ในฝ่ายของข้าราชการเท่านั้น การพิจารณาเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ดังนั้น ผู้ที่จะมีหน้าที่วินิจฉัยความผิดด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในอนาคตควรเป็นรูปแบบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความหลากหลาย นอกเหนือไปจากผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน เพื่อพิจารณาเรื่องจริยธรรมโดยตรง ทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความเชื่อถือต่อการวินิจฉัย

- ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นองค์กรหนึ่งที่อาจถูกปฏิรูป

ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ต้องระวังคือต้องให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ถ้าพบว่ามีหน่วยงานรัฐทำไม่ถูกต้อง กลไกที่จะทำหน้าที่ปัดเป่าความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็วน่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะถ้าหากทุกเรื่องต้องไปสู่ศาลปกครอง ศาลอาญา ศาลแรงงาน มองว่ากระบวนการทางศาลจะใช้เวลานาน อีกทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในโลกมีอัตราการเพิ่มขึ้นของหน่วยงานลักษณะแบบผู้ตรวจการแผ่นดินมากขึ้น ไม่มีการยุบ เพราะฉะนั้น เมื่อมีผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 รวมระยะเวลากว่า 15 ปี ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่พึ่งในการแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ เชื่อว่าน่าจะยังคงอยู่เป็นองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญต่อไป

- หากลดอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินลง จะส่งผลกระทบในการช่วยเหลือประชาชนได้ไม่เต็มที่หรือไม่ 

ถ้าคิดว่าจะทำให้การช่วยเหลือประชาชนบรรลุเป้าหมายสูงสุด เรากลับต้องการอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเราได้ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอแก้ไขปรับปรุงอำนาจหน้าที่เรื่องการคุ้มครองชั่วคราว ยกตัวอย่างเวลาประชาชนที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การรื้อถอน การขนย้าย หากมีเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางการปกครอง เมื่อมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว เราก็ขออำนาจว่าก่อนถึงวันเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ก็ขอคุ้มครองชั่วคราวจำนวน 30 วัน เพื่อดูว่าประชาชนที่มาร้องเรียนกับคำสั่งทางปกครองที่ออกมาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือมีแนวทางอื่นที่จะบรรเทาเยียวยาประชาชนไม่ให้เดือดร้อน 

ส่วนเรื่องของการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีไปยังส่วนราชการ เคยปรากฏว่าบางหน่วยงานปฏิบัติ บางหน่วยงานเพิกเฉย กลับเอาเรื่องที่เราส่งไปใส่ลิ้นชัก แกล้งทำเป็นลืม พอเปลี่ยนตัวผู้บังคับบัญชาก็หายไป ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก็ไม่รู้จะพึ่งใคร ด้วยเหตุนี้จึงขอเพิ่มอำนาจว่าเมื่อมีคำวินิจฉัยส่งไปยังหน่วยงานรัฐ หน่วยงานนั้นต้องรายงานผลกลับมายังผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วัน ว่าได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้อย่างไร หากทำไม่ได้ก็ต้องแสดงเหตุผลต้องชี้แจง จะได้รู้ว่าเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ แต่ต้องรายงานผลกลับมาภายใน 90 วันเท่านั้น ถ้าหากไม่ปฏิบัติตาม ก็ขอเพิ่มบทลงโทษด้วยคือ ถ้าหน่วยงานรัฐใดไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดเช่นเดียวกับการขัดมติคณะรัฐมนตรีเหมือนกัน 

- มองบทบาทองค์กรอิสระในอนาคตหลังการปฏิรูปประเทศไว้อย่างไร 

อยากให้องค์กรอิสระมีความเข้มแข็งมากขึ้น การถ่วงดุลอำนาจต้องดูว่าหากถ่วงไปถ่วงมาต้องระวังว่าบ้านเมืองเดินไม่ได้ สิ่งที่ต้องระวังคือ ที่มาของผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หากมั่นใจว่าได้คนที่ทำงานสุจริต เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อำนาจที่ให้ไปเขามีอำนาจมากขึ้น เขาก็จะใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่ถ้าไม่ให้อำนาจองค์กรอิสระมันก็อาจจะทำให้ประโยชน์สูงสุดของประชาชนเปลี่ยนไป พอถึงเวลาเอาผิด บทบัญญัติไม่ให้โอกาสให้เขาไปลงโทษอะไรเลย มันก็เหมือนว่าวินิจฉัยไปแล้ว มีความผิด สังคมรับรู้ แต่เดินไม่สุดทาง อำนาจขององค์กรอิสระยึดถือผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน บ้านเมืองเป็นหลัก ควรให้อำนาจตามสมควรเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้ถูกลงโทษ การถูกลงโทษจากองค์กรอิสระส่วนใหญ่ไม่ถึงตายหรอก

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!