WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

GOV11แถลงการณ์ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

          แถลงการณ์ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เวลา 20.20 น. วันที่ 6 เมษายน 2560

พี่น้องประชาชนที่เคารพ

            วันนี้ เมื่อ 235 ปีที่แล้ว เป็นวันสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เริ่มต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เราจึงเรียกว่าวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันเวลาได้ผ่านพ้นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ มาจนถึงรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ปกเกล้าปกกระหม่อมชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุข และรักษาเอกราชอธิปไตย ยั่งยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้

            วันเดียวกันนี้ในปีนี้ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่แก่ประชาชนชาวไทยเรียบร้อยแล้ว นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติการเมือง 85 ปีของไทยและเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติถึง 16 ล้านเสียงเศษ คิดเป็นร้อยละ 61.35 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประมาณ 30 ล้านคน หรือร้อยละ 60 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด ผลที่เกิดขึ้นจากการนี้คือ

            1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557) ซึ่งใช้มาประมาณสองปีเศษเป็นอันสิ้นสุดลง

            2. ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จะยังคงอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง แม้แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

            3. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ สิทธิเสรีภาพของพี่น้องทั้งหลายจะมีเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่ของชนชาวไทยก็เพิ่มจากเดิมด้วยเช่นกัน เพราะคนเราเมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่  คู่กัน จะเรียกร้องแต่สิทธิหรือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวมิได้ เช่นเดียวกับรัฐซึ่งมีหน้าที่มากขึ้น แม้แต่การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินหรือการใช้อำนาจรัฐ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม

            4. มีภารกิจสำคัญ 2 เรื่อง ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติให้ต้องทำ คือการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว    เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งในทางการเมืองการปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม   ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด และด้วยวิธีการอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่กันคือการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อจะได้ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก จนระยะหนึ่งถึงกับพูดกันว่า จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งแล้วจึงค่อยไปปฏิรูป การดำเนินการ ทั้ง 2 ภารกิจนี้จะต้องมีกฎหมายมารองรับ เพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดวิธีดำเนินการ และขั้นตอนต่าง ๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเร็ววันนี้

            คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล มิได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์ หรืออยู่ยาวนาน โดยปล่อยให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านพ้นไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิม ๆ ที่ค้างคาอยู่จนเป็นกับดักสะกัดกั้นความเจริญของชาติ ทั้งนี้ได้เคยแจ้งแผนและขั้นตอนการทำงาน หรือที่เรียกว่าโรดแมปให้พี่น้องทั้งหลายทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่แรกแล้วว่า ช่วงเวลาระยะที่หนึ่ง จะเป็นการบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วหลังจากที่ใช้เวลาสั้น ๆ เพียง 2 เดือน ช่วงเวลาช่วงต้นของระยะที่สอง คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศ ตลอดจนแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งใช้เวลามาจนถึงบัดนี้ 2 ปีครึ่ง

            ช่วงปลายของระยะที่สอง คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเริ่มต้นแล้วในวันนี้ แผนและขั้นตอนการทำงานในช่วงปลายต่อจากนี้ไป คือการบริหารประเทศโดยการเสริมสร้างความมั่นคงในทุกๆ ด้านรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย ตลอดจนเตรียมการปฏิรูปประเทศ เตรียมการด้านยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดองของชนในชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นกำกับดูแล และขับเคลื่อนงานเหล่านี้ไว้แล้วดังที่เรียกโดยย่อว่า ป.ย.ป. นอกจากนั้นในช่วงปลายของระยะที่สองนับจากวันนี้ไป จะเป็นการเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้แก่ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือนแต่ละฉบับจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็จะใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ 1 เดือน ต่อจากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 90 วัน เมื่อประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับแรกเฉพาะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเลือกตั้ง อันประกอบด้วยการสมัครรับเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายใน 5 เดือนนับจากวันประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ

            รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดแจ้งว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรกคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่น ๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ อันที่จริงไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวันเวลาชัดเจนได้นอกจากคาดเดาว่าน่าจะเป็นเมื่อนั้นเมื่อนี้ ขั้นตอนทั้งหลายจะเป็นดังที่เรียนมานี้ และไม่ได้เพิ่งมากำหนดใหม่ในวันนี้ หากแต่ทุกคนทราบมาตั้งแต่การออกเสียงประชามติแล้ว โดยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ การเริ่มต้นนับหนึ่งของแต่ละเหตุการณ์เท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะส่งมอบภารกิจให้รัฐบาลใหม่ และสิ้นสุดการทำงานลง อันจะเป็นการเริ่มช่วงเวลาระยะสามตามโรดแมปต่อไป

            นับจากวันนี้ รัฐบาลจะยังคงอยู่กับพี่น้องทั้งหลายและปฏิบัติหน้าที่ตามปกติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่   แม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้วยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือใช้เท่าที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์   ในการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน/ หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม

พี่น้องประชาชนที่เคารพ

            รัฐบาลขอให้โอกาสต่อจากนี้ไป เป็นเวลาที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมมือกันยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศตามแนวทางประชารัฐ และปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะเห็นประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในทุกทางด้วยการร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดอง ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างบรรยากาศที่สงบ และสันติสุข เอื้ออำนวยต่อวาระแห่งชาติที่จะมาถึง นั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ แม้แต่การเตรียมการเลือกตั้งภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์และยุติธรรม เพื่อแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาใหม่ ก็เป็นวาระแห่งชาติสำคัญ จึงไม่ควรที่ผู้ใดจะทำให้เสียบรรยากาศ หรือทำให้เสียความรู้สึก และเสียความตั้งใจของประชาชนชาวไทย

            รัฐบาลขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ที่ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และช่วยกันขับเคลื่อนโรดแมปจนผ่านพ้นช่วงเวลาและขั้นตอนต่างๆ มาได้ด้วยดี และขอเดชะ  พระบารมีแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ จงพิทักษ์รักษาราชอาณาจักรไทยให้สงบสุข และปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนชาวไทย ให้เย็นศิระเพราะพระบริบาล สืบเนื่องต่อไป ตราบกาลนานเทอญ

            - See more at: http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/2921#sthash.sNKgY1ph.dpuf

ในหลวงทรงมีกระแสพระราชปรารภให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านกระแสพระราชปรารภ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความว่า

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง

แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพ หรือราบรื่นเรียบร้อย เพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพา หรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉล หรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้านการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์ การเมือง การปกครองที่ยังไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล

            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองและเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น โดยได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่ด้วยการจัดโครงสร้างของหน้าที่ และอำนาจขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารให้เหมาะสม การให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรม และมีส่วนในการป้องกันและแก้ไขวิกฤตของประเทศตามความจำเป็นและความเหมาะสม การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสริภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยถือว่าการมีสิทธิและเสริภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิและเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น แต่การใช้สิทธิและเสริภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองส่วนรวม การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชน เช่นเดียวกับการให้ประชาชนมีหน้าที่ต่อรัฐ การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการกำหนดมาตรการป้องกันและบริการจัดการวิกฤตการณ์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ตลอดจนได้กำหนดกลไกอื่นๆ ตามแนวทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ระบุไว้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายแห่งรับและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผู้เข้ามาบริหารประเทศแต่ละคณะจะได้กำหนดนโยบายและวิธีดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งยังสร้างกลไกในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่สำคัญ และจำเป็นอย่างร่วมมือร่วมใจกัน รวมตลอดทั้งการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนพื้นบานของความรู้รัก สามัคคี ปรองดอง การจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะของสังคมไทย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล อันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างเป็นขั้นตอนจนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

            ในการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในหลักการและเหตุผลของบทบัญญัติต่างๆ เป็นระยะๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญและความหมายโดยผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแนะข้อควรแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก็ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุป ในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยสะดวกและเป็นการทั่วไป และจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ในการนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเสนอประเด็นเพิ่มเติมอีกประเด็นหนึ่ง เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในคราวเดียวกันด้วย การออกเสียงประชามติปรากฎผลว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

นายกรัฐมนตรี จึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีของรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสืบไป ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระราชานุมัติ

            จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!