WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaอดม รฐอมฤตโฆษก กรธ.เผย สนช.นัดพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 28 ก.ย.นี้

     นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ไปให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) แล้ว ซึ่ง สนช.จะนัดพิจารณาวาระรับหลักการในวันที่ 28 ก.ย.นี้

      สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่หลักในการพิจารณาคดีว่าด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญในกฎหมายต่างๆ การดูแลองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่ามีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตลอดจนปัญหาคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

      และหน้าที่ใหม่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ ให้คำปรึกษาข้อสงสัยขององค์กรที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้ก่อนที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างองค์กร เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนบานปลายในอดีต เช่น กรณีเห็นต่างกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557

      "ในร่างนี้ กรธ.กำหนดให้มีตุลาการ 9 คน มีองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 7 คนในการทำหน้าที่ สำหรับบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวพันถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมนั้น กรธ.ยังยืนยันใช้หลักรีเซ็ต หรือให้คนเดิมที่มีคุณสมบัติครบตามรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไปได้ ตามหลักที่ กรธ.ใช้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่" นายอุดม กล่าว

      อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดช่องทางที่ประชาชนสามารถยื่นคำร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญว่าจะยื่นได้ในกรณีที่ไม่มีศาล องค์กร หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวให้โดยตรง  หรือมีแต่ไม่ทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในอำนาจหรือการทำหน้าที่ รวมทั้งเกิดคดีล้นศาล ซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักการใหม่ที่อาจมีข้อโต้แย้งได้มาก

       ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังได้เพิ่มบทบัญญัติการละเมิดอำนาจศาลให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมี โดยใช้หลักการเดียวกับศาลทั่วไปเป็นพื้นฐาน แต่ขยายให้คุ้มครองการป้องกันการวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนการยุยงปลุกปั่นนำมวลชนมาล้อมกดดันศาลด้วย

      นายอุดม กล่าวว่า ส่วนมาตรา 38 ของร่างกฎหมายฉบับนี้บัญญัติด้วยว่า "ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และรวดเร็ว..."  โดยกำหนดมาตรการลงโทษไว้ในมาตรา 39 ตั้งแต่การตักเตือน ไล่ออกจากบริเวณศาล จนถึงการลงโทษจำไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     "ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวที่ยังไม่เคยมีการเขียนหลักการละเมิดอำนาจศาลมาก่อน เราคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็ควรทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ปราศจากการถูกครอบงำหรือถูกกระแสอำนาจข่มขู่ใด ๆ จึงต้องบัญญัติเรื่องนี้ไว้ แม้ว่าร่างฉบับนี้ยังไม่มีบทคุ้มครองพยานโดยเฉพาะ แต่เชื่อว่าหากมีความจำเป็นเนื่องจากคำร้องบางเรื่องเกี่ยวพันถึงการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมือง ทางศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถร้องขอส่งพยานเข้าระบบการคุ้มครองพยานของศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วก็ได้" นายอุดม ระบุ

       อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!