WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TRIS7 11ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ไมด้า ลิสซิ่ง’ ที่ ‘BB’และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต เป็น’Stable’จาก’Negative’

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่’BB’ และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ จาก’Negative’หรือ ‘ลบ’ อันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ’BB/Stable’ จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งสะท้อนคุณภาพเครดิตโดยรวมของกลุ่มไมด้า

ทริสเรทติ้ง ประเมินสถานะของบริษัทเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท สำหรับการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ‘Stable’หรือ ‘คงที่’นั้น เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท ซึ่งสะท้อนความกังวลที่ลดลงของการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมของกลุ่มบริษัทไมด้า แอสเซ็ท ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจหลักของบริษัทไมด้า แอสเซ็ทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทยังคงอยู่ที่ระดับ ‘bbb-‘ โดยพิจารณารวมถึงสถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากสถานะทางการธุรกิจและภาพรวมของแหล่งเงินทุนในระดับปานกลาง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท

อันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท ซึ่งเป็นไปตาม’เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ’ ของทริสเรทติ้ง โดยอันดับเครดิตของกลุ่มอยู่ที่ ‘bb’ ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทที่ ‘bbb-‘ บริษัทไมด้า แอสเซ็ทถือหุ้น 46.98% ในบริษัท โดยมีการควบคุมการดำเนินกิจการของบริษัทโดยตรงผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทีมผู้บริหารของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท

การบริหารจัดการด้านเงินทุนของทั้งสองบริษัทนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด โดยมีหลักฐานการช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น มีเงินกู้ยืมระหว่างกันซึ่งบริษัทเป็นผู้ให้เงินกู้แก่บริษัทไมด้า แอสเซ็ท และการใช้สินทรัพย์ถาวรของบริษัทไมด้า แอสเซ็ทเป็นหลักประกันในการขอวงเงินกู้ยืมของบริษัทจากธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีเงินให้กู้คงค้างแก่บริษัทไมด้า แอสเซ็ท เป็นจำนวนเงิน 792 ล้านบาท

ในภาพรวมของกลุ่มบริษัทนั้น บริษัทเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มกลยุทธ์การกระจายตัวของธุรกิจในกลุ่ม ธุรกิจลิสซิ่งของบริษัทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพได้มีส่วนช่วยสนับสนุนผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มได้ในระดับหนึ่งจากวัฏจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทและได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ตั้งแต่ปี 2563

ถึงแม้ว่า ทริสเรทติ้ง จะคาดว่า บริษัทจะสามารถขยายสินเชื่อกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ใน 1-2 ปีข้างหน้าได้ แต่ผลประกอบการของกลุ่มยังคงได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวของบริษัทไมด้า แอสเซ็ทที่ช้ากว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนสินทรัพย์ ส่วนของผู้ถือหุ้น และรายได้รวมต่องบการเงินรวมของบริษัทไมด้า แอสเซ็ทที่ระดับ 37.8%, 60.1%, และ 28.8% ตามลำดับ

ฐานทุนที่แข็งแรงและระดับหนี้ที่ต่ำ

ระดับฐานทุนของบริษัทยังคงเป็นจุดแข็งสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทและได้รับการประเมินอยู่ในระดับที่แข็งแรงมาก ระดับฐานทุนวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 50.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เทียบกับ 51.3% ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงจากการกลับมาขยายสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น

ระดับฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งกว่าผู้ประกอบการรายอื่นและอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับคุณภาพความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วของบริษัท

ในขณะเดียวกัน ระดับการก่อหนี้ของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ระดับ 0.98 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจาก 1.02 เท่า ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าตามเงื่อนไขในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้

โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทพิสูจน์ได้จากการมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับประมาณ 1 เท่าตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งซึ่งประเมินจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงในระดับประมาณ 50% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าบนสมมติฐานการเติบโตระดับปานกลาง

สถานะทางการตลาดอยู่ในระดับปานกลางแม้จะเริ่มกลับมาขยายสินเชื่อ

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีสถานะทางการตลาดที่อยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ บริษัทให้สินเชื่อในตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งเน้นไปที่ตลาดรถกระบะใช้แล้ว สินเชื่อส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กโดยอยู่ในช่วง 50,000-300,000 บาทต่อสัญญา

บริษัทได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อใหม่เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อคงค้างของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 3.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 สู่ 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 บริษัทได้กลับมาขยายสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ทำให้สินเชื่อคงค้างปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2% เทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะค่อย ๆ ขยายสินเชื่อคงค้างรวมจากการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างที่อัตราการเติบโตประมาณ 5%-10% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2565-2567


กำไรที่มีเสถียรภาพ

บริษัทดำรงสถานะกำไรสุทธิอย่างมีเสถียรภาพที่ระดับประมาณ 100 ล้านบาทต่อปีในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา โดยผลประกอบการของบริษัทเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งด้วยกำไรสุทธิที่ 103 ล้านบาทในปี 2564 โดยกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกของปี 2565 ลดลง 11%

เมื่อเทียบกับปีก่อนมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินกิจการที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาขยายสินเชื่อและต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น ความสามารถในการสร้างกำไรของบริษัทนั้นพิจารณาจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.3%-3.5% ในปี 2561-2564

ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะควบคุมอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับประมาณ 3.0% ใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่บนสมมติฐานที่บริษัทจะค่อย ๆ ขยายสินเชื่อรวมคงค้างสู่ระดับ 3.6-3.8 พันล้านบาท และค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ในสัดส่วน 45%-47% ในปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับมากกว่า 7% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทปรับลดลงเหลือ 7.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากระดับ 8.3% ในปี 2564 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีสัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทไมด้า แอสเซ็ทเพิ่มขึ้นซึ่งมีผลตอบแทนต่ำกว่าสินเชื่อเช่าซื้อในขณะที่มีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

คุณภาพสินทรัพย์น่าจะปรับตัวอ่อนลงท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่ออันดับเครดิตบริษัทจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทที่มีสถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงและการตั้งสำรองที่ค่อนข้างต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ถึงแม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์จะมีการปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะปรับตัวอ่อนลงตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปสอดคล้องกับผู้ประกอบการรายอื่นจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ

และภาวะเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-performing Loan -- NPL) ของบริษัทในส่วนเช่าซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% จากระดับ 3.6% ณ สิ้นปี 2564 สอดคล้องกับอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.0% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 จาก 0.7% ในปี 2564

ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในอดีตโดยอยู่ที่ประมาณ 2.2% ในปี 2563-2564 แม้ว่าอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยในครึ่งแรกของปี 2565 จะปรับตัวลดลงเป็น 1.3% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี)

แต่ทริสเรทติ้ง ยังคงมองว่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และอยู่ในระดับสูงกว่า 2% เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 89.7% โดยแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 70% แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ควบคุมได้

ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทจะสามารถกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมของบริษัทได้ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนค่อนข้างมากใน 12-18 เดือนข้างหน้า บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 725 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2566 และ 325 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีแผนในการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมโดยการกู้ยืมจากสถาบันการเงินและออกหุ้นกู้ชุดใหม่

นอกจากนี้ จากประมาณการของบริษัท กระแสเงินสดรับจากการชำระเงินค่างวดของลูกหนี้นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาทในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 จะเป็นแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมที่ช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับช่วงระยะเวลาในปี 2565-2567 มีดังนี้

  • สินเชื่อเช่าซื้อใหม่จะขยายตัวที่ระดับ 5%-10% ต่อปี
  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 7%-8%
  • ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 2%
  • อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับประมาณ 50%
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 46%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ของบริษัทเป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือบริษัทไมด้า แอสเซ็ท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของบริษัทไมด้า แอสเซ็ท

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563

บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ML)

อันดับเครดิตองค์กร:

BB

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com 

ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!