WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

3333 SEC UN Women 01

ก.ล.ต. ร่วมกับ UN Women และสมาคม บจ. เปิดเวทีเสวนา ‘บทบาทผู้นำและการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน’ เน้นบทบาทผู้นำสตรีในภาคตลาดทุน

          ก.ล.ต. ร่วมกับองค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (สมาคม บจ.) จัดงานเสวนา “บทบาทผู้นำและการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน” แลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และประสบการณ์การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรธุรกิจ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 พร้อมทั้งเปิดตัว “Gender Corner” ศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ คำแนะนำและงานด้านการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ จัดทำโดย ก.ล.ต. และองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง 

          นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับและพัฒนาตลาดทุน สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ผนวกไปในกระบวนการประกอบธุรกิจ ซึ่งการให้ความสำคัญด้านความเท่าเทียมทางเพศก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยด้านสังคมที่สำคัญ ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันสตรีสากล ก.ล.ต. จึงได้จัดงานเสวนานี้เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทผู้นำสตรี พร้อมทั้งเปิดตัวไมโครไซต์ใหม่ภายใต้เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ชื่อ ‘Gender Corner’ ลิงก์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/GenderCorner/homepage.aspx จัดทำโดย ก.ล.ต. และองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือ คำแนะนำ และงานด้านการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศให้แก่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ในการนี้ ก.ล.ต. ขอชื่นชมบริษัทจดทะเบียนที่มีความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมทางเพศ* โดยจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2565 มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 206 บริษัท ที่มีสัดส่วนกรรมการหญิงร้อยละ 30”

 

3333 SEC UN Women 02

 

          นางสาวซาร่าห์ นิบบซ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า “เราทราบดีว่าการกระตุ้นให้ผู้หญิงพยายามหนักขึ้นอยู่ฝ่ายเดียวให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำองค์กรนั้น ไม่อาจก่อให้เกิดอำนาจทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริงได้ ดังนั้นกลไกการทำงานที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยและกระจายโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่ทุกคนจึงสำคัญอย่างยิ่ง UN Women ขอขอบคุณสำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ที่มุ่งมั่นส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของสตรี อีกทั้งยังคอยติดตามความก้าวหน้า ช่วยส่งเสริมหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (WEPs) และสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเข้าร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์สนับสนุน WEPs และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน WEPs ร่วมกับประชาคมโลก” 

          นางพจนารถ ปริญภัทร์ภากร กรรมการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของสตรีในฐานะผู้นำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 200 แห่งที่มีคณะกรรมการบริษัทเป็นสุภาพสตรี ซึ่งถือว่ามากถึง 1 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด สะท้อนโอกาสของผู้หญิงไทยในองค์กรเอกชนที่เปิดกว้างกับหน้าที่การงานและ มีบทบาทในสังคมมากขึ้น และเกิดจากหลายองค์กรมีความตระหนักและสนับสนุนเรื่องการสร้างสัดส่วนที่สมดุลให้กับความหลากหลายในองค์กร และเชื่อว่าในอนาคตบทบาทของสตรีจะเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่มีอิทธิพลสูงต่อการผลักดันเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในฐานะสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย มีเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมขอแสดงความชื่นชมและยกย่องธุรกิจต้นแบบที่ได้ริเริ่มและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการเพิ่มบทบาทผู้นำสตรีหรือ Women's Empowerment พร้อมเปิดโอกาสให้คนทุกเพศได้มีส่วนร่วม และมีความเท่าเทียมด้วยเช่นกัน”

          ในช่วงการเสวนา ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรของกรรมการและผู้บริหารหญิง โดยมีความตรงกันว่า ความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในบริบทปัจจุบันที่ความเสี่ยงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่ยังหมายรวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมอีกด้วย ผู้นำองค์กรจึงควรตระหนักถึงความสำคัญความเท่าเทียมทางเพศ กำหนดทิศทาง หรือ tone from the top เพื่อนำพาการขับเคลื่อนไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่สามารถปฏิบัติได้จริง

 

3333 SEC UN Women 03

 

          สำหรับผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ 1. นางเจนนิสา คูวินิชกุล จักรพันธุ์ ณ อยุธยา กรรมการอิสระ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 2. นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 3. นางสาวสิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ WE RISE Together ประจำประเทศไทย UN Women และ 4. นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. 

          ทั้งนี้ งานสัมมนาจัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม 2 - 3 โรงแรมแกรนด์ ไฮเอท เอราวัณ กรุงเทพฯ และถ่ายทอดสดผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “สำนักงาน กลต.” โดยผู้สนใจสามารถรับชมงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/sec.or.th/videos/1255546688710082 

____________________________

หมายเหตุ: 

*การชื่นชมนี้พิจารณาเฉพาะการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของบริษัทจดทะเบียน โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของผู้นำสตรี ทั้งนี้ การชื่นชมดังกล่าวไม่ถือเป็นการรับรองการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผลประกอบการที่ดี หรือการปฏิบัติตามเกณฑ์อื่นๆ ของบริษัทจดทะเบียน ไม่สามารถนำไปอ้างอิงสำหรับการประเมินขององค์กรอื่นได้ รวมทั้งไม่กระทบต่อการดำเนินการใดๆ ของ ก.ล.ต. ต่อบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวในอนาคต อนึ่ง ก.ล.ต. พิจารณาจากข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนกรรมการหญิงตั้งแต่ร้อยละ 30 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65) และไม่พบประวัติการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (วันที่ 1 ม.ค. 65 – 31 ธ.ค. 65)” 

 

 

A3333

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!