WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaPGDP63

ม.หอการค้า หั่นจีดีพีปี 63 เหลือโต 2.8% - ส่งออกเหลือโต 0.8%

 ม.หอการค้าไทย หั่นจีดีพีไทยปี 63 เหลือโต 2.8% ส่งออกเหลือ 0.8% หวั่นปัญหาส่งออก-ภัยแล้ง-น้ำมัน ทำเม็ดเงินหายจากระบบแสนลบ. ด้านดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 24 เดือน มาอยู่ที่ 45.7 ยังไร้สัญญาณฟื้นตัว

 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ลดลงเหลือโต 2.8% จากเดิมคาดโต 3.1% ขณะที่ด้านการส่งออกคาดขยายตัว 0.8% จากเดิมคาดโต 1.8% ด้านการนำเข้าคาดติดลบ 0.1% จากเดิมคาดโต 0.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้คาดอยู่ที่ 0.9% จากเดิมคาด 1% ด้านการลงทุนภาครัฐคาดอยู่ที่ 6.5% และการลงทุนเอกชนคาดอยู่ที่ 4.1%

  ด้านปี 2562 ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 2.5% โดยมองการส่งออกจะติดลบ 2.5% และนำเข้าติดลบ 4.2% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ที่ 0.7%

 ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าเฉลี่ยที่ 29.5-31 บาท จากเดิมคาด 29.75-31.25 บาท ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ คาดอยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมคาด 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดอยู่ที่ 41.4-41.8 ล้านคน จากเดิมคาด 41.6-42 ล้านคน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดอยู่ที่ 1-1.25% โดยมองว่า หากเศรษฐกิจยังชะลอตัว มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้ง

 สำหรับ ปัจจัยบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ประกอบด้วย สงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณคลี่คลาย เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของรัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย

  ด้านปัจจัยลบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ประกอบด้วย ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆ ความเสี่ยงจากภัยแล้งในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลต่อจีดีพี 0.03% หนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินและการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

 “ที่เราค่อนข้างห่วงมาก คือ ค่าเงินบาท แต่หลังจากที่จะตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพขึ้นมา เชื่อว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้มีมาตรการออกมารับมือและไม่ทำให้ค่าเงินบาทหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์เร็ว ขณะที่พ.ร.บ.งบประมาณ แม้จะผ่านแล้ว แต่เชื่อว่า เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบได้ในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นต้นไป”นายธนวรรธน์ กล่าว

   ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบในเบื้องต้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินหายไปจากระบบประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น จากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่คาดเม็ดเงินจะหายไป 70,000-80,000 ล้านบาท จากผลกระทบจากภัยแล้ง 10,000 ล้านบาท และจากราคาน้ำมัน 10,000 ล้านบาท

   นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย และประธานโครงการ Herbour.Space@UTCC กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 45.7 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 45.9 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน และยังไม่เห็นสัญญาณในการฟื้นตัว

   โดยปัจจัยที่มีผลกระทบด้านลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.5% จากเดิมคาด 2.8% ส่วนในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2.8% จากเดิมคาดขยายตัว 3.3%

   นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาลดลง 7.39% ด้านการนำเข้าลดลง 13.78% ขณะเดียวกันยังมีความกังวล เกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ปัญหา Brexit รวมทั้งกรณีที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วย ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคที่ชะลอตัว

   ส่วนปัจจัยบวก ที่มีต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประกอบด้วย กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ผลของมาตรการกระตุ้นของภาครัฐช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4/2562 เติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตการประกอบกิจการขยายตัวสูงถึง 445,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.94%

   สำหรับแนวทางการดำเนินการแก้ไข ประกอบด้วย การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสถานการณ์การเมือง หรือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน เช่น มาตรการหรือแนวนโยบาย เป็นต้น กระตุ้นเศรษฐกิจโดยกระตุ้นด้านการบริโภค และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยให้ขยายตัวได้ชัดเจน

   นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความสมดุลของราคาพืชผลทางการเกษตรให้ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนให้มีโครงการในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการป้องกันการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์ธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

   รวมถึงการจัดการลดค่าครองชีพประชาชนในระยะยาว รวมถึงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศดีขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ โดยสามารถกระจายความเจริญไปทั่วทุกภูมิภาค

ม.หอการค้า จ่อหั่นจีดีพีสัปดาห์หน้า ชี้ดัชนีผู้บริโภคยังทรุดต่อเนื่อง

 ม.หอการค้าไทย เตรียมหั่นจีดีพี-ส่งออก 13 ม.ค.นี้  พร้อมเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคธ.ค. 62 อยู่ที่ 68.3 ต่ำสุดในรอบ 68 เดือน ระบุความเชื่อมั่นยังเป็นขาลง เหตุศก.ฟื้นตัวช้า ด้านงบประมาณปี 63 มั่นใจผ่านฉลุย ดันการลงทุนรัฐ-เอกชนคึกคักครึ่งปีหลัง 63

  นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า และยังมีปัจจัยใหม่ๆเข้ามากดดัน ส่งผลให้ในวันที่ 13 มกราคมนี้ จะทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปีนี้ลงจากปัจจุบันคาด 3.1% และปรับประมาณการส่งออกลดลงจากปัจจุบันคาด 1.8%

 ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 68.3 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 69.1 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 68 เดือนนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2557 และมองว่า ความเชื่อมั่นยังเป็นขาลง และยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว

 สำหรับ สาเหตุที่ดัชนียังปรับลดลลงและยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับเสียรภาพการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

   อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้นในช่วงปลายปี ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันปรับดีขึ้นในเดือนนี้ทุกรายการ

   “ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สถานการณ์การเมืองในไทย รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคตยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภค”นายธนวรรธน์ กล่าว

   นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงบวก ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.25% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม และต่ำกว่าศักยภาพ จากการส่งออกที่ลดลง ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเข้ามากระตุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2562 เติบโตต่อเนื่องและสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ขยายตัวได้อย่างมีศักยภาพ

   ด้านปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค คือ กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.5% จาก 2.8% และในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% จากเดิม 3.3% การส่งออกไทยที่ยังชะลอตัว ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง 10.75 จุด โดยปรับตัวลดลงจาก 1,590.59 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1,579.84 จุด รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว และผู้บริโภควิตกเกี่ยวกับปัญหาครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

   สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 56 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 56.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 68 เดือน สะท้อนว่าผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

   “ศูนย์พยากรณ์ฯ มองว่า การจับจ่ายใช้สอยหลังจากนี้ของประชาชนยังคงชะลอไปจนถึงกลางไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยกดดัน ทั้งปัจจัยใหม่เรื่องสหรัฐ-อิหร่าน สงครามการค้าสหรัฐ-จีน รวมถึงการเมืองในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังชะลอตัว และปัญหาภัยแล้งด้วย”นายธนวรรธน์ กล่าว

   ด้านการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน มั่นใจว่า งบประมาณปี 2563 จะผ่านมติสภาผู้แทนราษฎรแน่นอน และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 เช่นเดียวกับการประมูล 5G ในช่วง 2-3 เดือนนี้ จะสร้างความคึกคักและเป็นปัจจัยบวก โดยศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีความคึกคักมากขึ้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไท

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!