WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ขนศาล

ติงพล.ต.ต.ปวีณ'บิ๊กตู่'ชี้-อย่าคิด เป็นซูเปอร์แมน

    ราชทัณฑ์คุมตัวพล.ท.มนัส-โกโต้ง อดีตนายกอบจ.สตูล กับพวกรวม 88 คน จำเลยคดีค้ามนุษย์โรฮิงยามาขึ้นศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ตรวจพยานหลักฐาน ท่ามกลางคอมมานโด-ตร.ท้องที่ดูแลเข้ม พล.ต.ต.ปวีณที่ยื่นลาออกจากตร.มาศาลด้วยในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน'บิ๊กแป๊ะ'เผยพร้อมให้ปวีณเข้าพบเพื่อพูดคุยเรื่องถูกย้าย ยอมรับเสียดายฝีมือ ส่วนใบลาออกยังอยู่ในขั้นตอนของธุรการ

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9114 ข่าวสดรายวัน


ขึ้นศาล - เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวพล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮิงยา พร้อมพวกรวม 88 คน มาตรวจหลักฐาน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ กทม. เมื่อวันที่ 10 พ.ย.

     เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ นัดตรวจพยานหลักฐานครั้งแรก คดีที่พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรจง หรือจง ปองพล จำเลยที่ 1, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง หรือเสี่ยโต้ง อดีตนายกอบจ.สตูล จำเลยที่ 29, พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 กับพวกซึ่งเป็นข้าราชการและพลเรือน เป็นจำเลยที่ 1-88 ซึ่งอัยการทยอยฟ้องจำเลยตั้งแต่เดือนก.ค.2558 ในความผิด 16 ข้อหา ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญา กรรมข้ามชาติฯ พ.ศ.2546 หลังจากโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 08.00 น.เศษ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายปัจจุบัน หรือโกโต้ง จำเลยที่ 29, พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 และจำเลยรายอื่นๆ รวม 88 ราย จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มายังศาลอาญา ต่อมาเวลา 10.00 น. ศาลเริ่มตรวจพยานหลักฐาน โดยถ่ายทอดสดการตรวจพยานหลักฐานจากห้องพิจารณาคดี ผ่านระบบทีวีวงจรปิด มายังจุดรับชมวงจรปิดบริเวณชั้น 2 ของอาคารเพื่อให้ญาติและสื่อมวลชนรับทราบกระบวนการ

     ศาลอ่านสรุปคำฟ้องของอัยการโจทก์ให้จำเลยทั้ง 88 คนฟัง สรุปว่า ระหว่างต้นเดือนม.ค. 2554 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 2558 ต่อเนื่องกัน มีขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ชักชวนหลอกผู้เสียหายชาวบังกลาเทศ ชาวโรฮิงยาจากประเทศบังกลาเทศ และเมียนมา จำนวน 80 คนมาทำงาน โดยชักชวนให้หลงเชื่อว่าจะพามายังประเทศไทยแล้วส่งไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งหลอกผู้เสียหายว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนในการทำงานสูงถึง 60,000 บาท ขณะที่ผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกมา บางรายอายุไม่เกิน 15 ปี และหากขัดขืนจะถูกใช้กำลัง บังคับ โดยผู้คุมที่มีอาวุธปืน มีด ไม้ และแส้ ซึ่งในการควบคุมนั้นหากพบว่าคนใดมีเบอร์โทรศัพท์ญาติติดตัวมาด้วยก็จะเก็บเบอร์โทร.ไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งจะทรมานผู้เสียหายให้เกิดเสียงร้องได้ยินเข้าไปในโทรศัพท์เพื่อให้ญาติได้ยินและส่งเงินมาเรียกค่าไถ่

    การลำเลียงจะนำตัวผู้เสียหายไปขึ้นฝั่งที่จ.ระนอง ลำเลียงผ่านจ.สุราษฎร์ธานี, นครศรี ธรรมราช และพัทลุง เพื่อไปยัง อ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา แล้วพาผู้เสียหายเดินเท้าไปยังเทือกเขาแก้ว ซึ่งสภาพความเป็นอยู่เป็นไปอย่างแออัด ผู้เสียหายถูกบังคับให้นอนสลับหัวเท้า และมีการทรมานเพื่อใช้เรียกค่าไถ่ กรณีที่ไม่มีญาติมาไถ่ตัวจะขายผู้เสียหายรายละ 60,000-70,000 บาท ระหว่างการควบคุมตัวมีการจำกัดอาหารและน้ำดื่ม ส่งผลให้ผู้เสียหายหลายรายเสียชีวิต

   คำฟ้องระบุอีกว่า จำเลยทั้ง 88 คน บางคนดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นพนักงาน ราชการฝ่ายปกครอง เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองทัพบก และพยาบาลวิชาชีพ ได้ร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายฐานทำร้ายร่างกาย, แรงงานมนุษย์ และเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ อันเป็นการกระทำเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นการกระทำความผิดมากกว่า 1 รัฐต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ลักษณะเอาแรงงานมาเป็นทาส ลักพาตัวผู้เสียหายไม่เกิน 15 ปีข่มขู่ ทารุณ บังคับข่มขืนใจ โดยจำเลยทั้ง 88 คนมีเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และนำตัวผู้เสียหายอีกกว่า 80 คนไปยังแคมป์กักกัน เพื่อกักขังหน่วงเหนี่ยวส่งผลให้มีคนตาย มีการนำศพผู้เสียหายไปฝังบนเทือกเขาแก้ว

     จำเลยยังได้ร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบขนาดโดยไม่มีใบอนุญาต และพกพาไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กระทำการอันเป็นการอำนวยความสะดวกในการกระทำความผิด ซึ่งจำเลยทั้งหมดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงขอให้ศาลลงโทษ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 13, 52, 53/1, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2546 มาตรา 3, 5, 6, 8, 25, พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62, 64, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 270, 309, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 313, 320, 371

    ขณะที่การสอบคำให้การจำเลย ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 88 คนฟัง พร้อมมีล่ามแปลภาษาด้วย ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

   ด้านอัยการโจทก์เสนอพยานเอกสารหลักฐานต่อศาล ประกอบด้วย พยานวัตถุเป็นซีดี 12 แผ่น, ผังแสดงความสัมพันธ์ทางการเงิน, แผนผังแคมป์, แผนที่แสดงการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามา, ชาร์ตแสดงเครือข่ายการค้ามนุษย์ในด้านการเงินซึ่งจะโยงไปยังคดี ที่อยู่ในการดูแลของปปง., ภาพรวมการใช้โทรศัพท์ของผู้ต้องหา และพยานเอกสารอื่นๆ รวม 15 ลัง 70 แฟ้ม

    ส่วนจำเลยบางคนยังไม่มีทนายความ ศาลจึงกำชับให้ฝ่ายจำเลยจัดเตรียมบัญชีพยาน แนวทางการต่อสู้ และความเกี่ยวเนื่องของพยานที่จะนำสืบ ส่งให้ศาลพิจารณาภายในกำหนดนัดตรวจหลักฐานวันที่ 13 พ.ย.นี้

    ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า คดีนี้มีเอกสารพยานหลักฐานจำนวนมาก จึงให้คู่ความสามารถนำสืบพยานล่วงหน้าได้โดยไม่ต้องรอว่าจะตรวจพยานหลักฐานเสร็จแล้วหรือไม่ หรือจะนำตัวจำเลยที่ยังจับกุมตัวไม่ได้ เข้าสู่การพิจารณาเมื่อใดโดยศาลพร้อมที่จะเริ่มการสืบพยานล่วงหน้าได้ ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.นี้ต่อเนื่องกันตามความจำเป็นของคู่ความที่จะตกลงกัน เหตุเพราะคดีมีพยานหลักฐานมาก ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากนำสืบพยานตามกระบวนการอาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 200 นัด หากสืบต่อเนื่องอย่างรวดเร็วจะเป็นผลดีต่อตัวจำเลยเอง

    ศาลแจ้งกับจำเลยด้วยว่า คดีนี้มีการฟ้องข้อหาหนัก การปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและรองอธิบดี เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นหากจำเลยคนใดประสงค์ ขอปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยื่นคำร้องพร้อมเหตุผล ประกอบเป็นรายๆ ไป ซึ่งศาลจะพิจารณาในภายหลัง

     วันนี้ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาว โรฮิงยา ซึ่งได้ยื่นลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา เดินทางมาศาลอาญา โดยกล่าวว่า ตนมาในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบ สวน การยื่นลาออกจากราชการมีจุดยืนให้เหตุผลว่า เกรงกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากกรณีการถูกโยกย้ายไปเป็นรองผบช.ศชต. เนื่องจากไม่มีความชำนาญในพื้นที่ และระหว่างทำคดีถูกข่มขู่จากเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ ส่วนตัวแล้วยังอยากรับราชการตำรวจ รับใช้ประชาชน การมาวันนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

     พล.ต.ต.ปวีณกล่าวต่อว่า การดำเนินคดี ค้ามนุษย์ได้แยกส่วนจากคดีการฟอกเงิน โดยคดีค้ามนุษย์มีการออกหมายจับผู้ต้องหารวม 153 ราย มีผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ถูกออกหมายจับแต่เสียชีวิตแล้วก่อนหน้านี้ 2 ราย มีพยานร่วม 500 ปาก ส่วนคดีฟอกเงินมีผู้ต้องหา 80 กว่าราย ซึ่งบางคนถูกดำเนินคดีอาญาค้ามนุษย์ด้วย แต่พวกผู้คุมแคมป์ รับจ้างเรือที่จะได้รับค่าจ้างรายวันเหล่านี้จะไม่โดนคดีฟอกเงิน แต่เกี่ยวข้องในส่วนของเรื่องค้ามนุษย์

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตากับปัญหาด้านการค้ามนุษย์ เพราะถ้าทุกคนเห็นและรู้แต่ไม่บอกเจ้าหน้าที่ ก็จะมาโทษเจ้าหน้าที่ แต่ถ้ามาบอก ก็จะได้รู้ว่ามีการกระทำความผิดอยู่ที่ใดบ้าง อย่างเช่นกรณีการจับกุมนายสมพล (โกหนั้ง) จิโรจน์มนตรี นายกสมาคมประมงกันตัง จ.ตรัง ในคดีค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่รู้ว่าปล่อยไปได้อย่างไร จนถึงขั้นได้เป็นนายกสมาคมประมง ซึ่งมีการนำคนมากักขังทรมาน ทำงานวันละ 18 ช.ม. ดังนั้นต้องขจัดคนเหล่านี้ให้หมดโดยใช้กฎหมาย เพราะเราต้องสรุปรายงานสถานการณ์ ความก้าวหน้าในการดำเนินคดีต่อต่างประเทศทุกเดือน

     "ในเรื่องการทุจริตต่างๆ ผมขอร้องว่าต้องแก้ไขให้ได้ ทั้งเรื่องบ่อน สถานที่ค้าบริการ ปัญหาการค้ามนุษย์ เรื่องเหล่านี้มีผลกระทบทั้งสิ้น ถ้าเป็นเรื่องของตำรวจก็ร้องเรียนเข้ามา ร้องทุกข์มา พร้อมดำเนินการได้ทั้งหมด อย่าพูดกันไปกันมาให้เสียหาย มันมีเหตุผลทั้งนั้น" นายกฯกล่าว

      ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์ สิรินทร์ รองผบช.ภาค 8 หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงยา ยื่นลาออกจากราชการหลังถูกย้ายไปศชต. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "การปรับย้ายเป็นเหตุผลของตำรวจ ซึ่งมีเหตุผลของเขา จะเหมาะสมไม่เหมาะสม แต่อย่าไปคิดว่าทำเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วจะเก่งที่สุดในโลก เป็นซูเปอร์แมน การจะไปจับทหารหรือใครผมไม่สนใจ จับใครก็จับไป จับพล.ท.กี่คนก็จับไป ผมไม่ได้เดือดร้อน มีการบอกว่าถูกเขียนขู่ ฆ่า วันนี้ผมน่ากลัวกว่า ผมยังไม่กลัว ผมยังไม่ลาออก ทำความดีแล้วจะไปกลัวอะไร ถ้าคิดว่าไม่เป็นธรรมก็ร้องเรียนมา ร้องทุกข์ ซึ่งมีขั้นตอนของมันอยู่แล้ว ข้าราชการต้องเป็นแบบนั้นไม่ใช่จะมาพูดผ่านสื่อ แต่ต้องระวังถ้าร้องไปแล้วเกิดข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ ต้องโดนเบิ้ลสองเด้งอีก ต้องมั่นใจนะ อย่างที่บอกว่าคดีค้ามนุษย์ประกันตัวไม่ได้ ใหญ่โตจากไหนก็ไม่ให้ประกัน เห็นมีวิ่งเต้นกันเยอะ แต่ยืนยันไม่ให้ประกัน ไปสู้คดีกันมา"

     ที่บช.ก. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณี พล.ต.ต.ปวีณ พงษ์สิรินทร์ รองผบช.ภาค 8 รรท.รองผบช.ศชต. หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ชาวโรฮีนยา ยื่นหนังสือลาออกจากราชการเพราะถูกย้ายไปศชต. ว่า ขณะนี้ขั้นตอนลาออกอยู่ที่ธุรการ สำนักงานกำลังพล ส่วนหาก พล.ต.ต.ปวีณยังต้องการรับราชการต่อจะทบทวนหรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่พล.ต.ต.ปวีณ ตนบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าเสียดายเพราะ พล.ต.ต.ปวีณมีความรู้ความสามารถด้านการสืบสวน ส่วนจะทบทวนปรับย้าย พล.ต.ต.ปวีณไปอยู่ที่อื่นหรือไม่นั้น หากพล.ต.ต.ปวีณมาพูดคุยกับตนคงต้องถามดู

     "ต้องมีการพูดคุย พี่กันน้องกันทั้งนั้น ผมก็ยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ในการลาออกของพล.ต.ต.ปวีณ แต่ในใบลาออก พล.ต.ต.ปวีณระบุเอาไว้ว่า เพื่อไปดูแลบิดา มารดา ส่วนจะยับยั้งหรือทบทวนการลาออกหรือไม่นั้น เป็นไปได้ทั้งนั้น" ผบ.ตร.กล่าว

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ผบ.ตร.ยินดีให้ พล.ต.ต. ปวีณเข้าพบหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ตนไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว จะเข้าหรือออกก็ได้ เมื่อถามว่าเข้าพบได้ 24 ช.ม. เลยใช่หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า ให้ 48 ชั่วโมงเลย มากกว่าเซเว่น อีเลฟเว่นอีก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!