- Details
- Category: CHINA
- Published: Wednesday, 04 September 2024 12:43
- Hits: 7937
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 4/2567 ผลการสำรวจการค้าด้วยพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่เป็นโอกาสต่อการส่งออกของสินค้าไทย
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 4/2567 การค้าโดยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นโอกาสที่ดีต่อการขยายการส่งออกไทย เล็งเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจีน ร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประจำไตรมาสที่สี่ ปี 2567 ระหว่างวันที่ 15 ถึง 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยผู้ตอบการสำรวจประกอบด้วย ประธาน คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และกรรมการหอการค้าไทยจีน ผู้บริหารและกรรมการสหพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีนอีก เป็นจำนวนทั้งหมด 485 คน ที่ตอบแบบสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าว
คำถามในครั้งนี้มีสองส่วนด้วยกัน ในส่วนแรกเกี่ยวข้องกับการค้าผ่านสื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และในส่วนที่สองเป็นคำถามที่เกี่ยวกับสถานการณ์การค้าของไทย โอกาสความร่วมมือกับจีน และข้อเสนอแนะต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลางสำคัญในการเชื่อมโยงการค้าขายระหว่างผู้ค้าและลูกค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถพิจารณาได้ว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทย ร้อยละ 43 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คิดว่า การค้าด้วยพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่เป็นโอกาสต่อการส่งออกของสินค้าไทย ที่การค้าระหว่างประเทศยังไม่พึ่งพาระบบพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์เพราะสินค้าไทยที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม
และยังอาจจะเป็นเพราะสินค้าไทยอีกส่วนมาจากการรับจ้างผลิตที่มีคู่ค้าต่างประเทศอยู่แล้ว ส่วนร้อยละ 38 ให้ความเห็นว่าการค้าโดยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นโอกาสที่ดีเพราะไทยสามารถพึ่งพาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนเพื่อการส่งออกได้ เพราะเป็นโอกาสในการเข้าสู่ตลาดได้ทั้งตลาดจีนและตลาดอื่นๆในภูมิภาค
เนื่องด้วยพาณิชอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างรวดเร็ว และน่าเป็นโอกาสการทำตลาดของไทยในบางสินค้า ร้อยละ 48.5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เล็งเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยให้มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการจีนในการพัฒนาโครงสร้างพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ร้อยละ 25 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เสนอข้อคิดเห็นว่ารัฐบาลควรพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็นเจ้าของเครือข่ายพาณิชอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเอง
ในส่วนของการนำเข้านั้น การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Temu ที่เป็นข่าวนั้น พอจะสรุปได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถาม มีจำนวนถึงร้อยละ 85 ที่เคยได้ยิน Temu (1) จำนวนร้อยละ 39 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ที่เคยสั่งซื้อไปแล้ว โดยแบ่งเป็นร้อยละ 24 ของผู้ตอบแบบสอบถามและครอบครัว เคยสั่งซื้อแล้วและมีความประทับใจทั้งราคาและคุณภาพ แต่ก็มีร้อยละ 15 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่าได้สั่งซื้อแต่ไม่ประทับใจในคุณภาพ (2) อีกส่วนหนึ่ง ร้อยละ 46 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ที่ได้รับทราบเรื่องการซื้อสินค้าผ่าน Temu แต่ยังไม่เคยสั่งซื้อ แบ่งเป็น ร้อยละ 32 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้ยินเรื่องการค้าผ่าน Temu แต่ยังไม่คิดจะสั่งซื้อ และ ร้อยละ 14 เคยได้ยินและคาดว่ากำลังจะสั่งซื้อ (3) มีเพียงส่วนน้อยร้อยละ 15 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เคยได้ยินการค้าผ่านเครือข่าย Temu
ในภาพรวมแล้วสรุปได้ว่า การค้าด้วยพาณิชอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญสำหรับผู้ค้าชาวไทย และในระยะสั้นความร่วมมือใกล้ชิดกับจีนน่าจะผลักดันการค้าของไทยในตลาดโลกได้ นอกจากนั้นผู้ประกอบการไทยที่เป็นรายย่อยยังสามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางพาณิชอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้ในระดับมณฑล ส่วนการรุกของจีนด้วย Temu นั้น ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังการทุ่มตลาด
การคาดการณ์ การประกอบธุรกิจของไทยในประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ร้อยละ 29.8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าผลประกอบการของธุรกิจที่ค้าขายในประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 จะชะลอตัวลง ขณะที่ร้อยละ 25 คาดว่าจะดีขึ้น แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ร้อยละ 20.7 ที่ให้ความคิดเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้
ส่วนการคาดการณ์การส่งออกของสินค้าไทยไปยังตลาดโลก ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ร้อยละ 27.4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าผลประกอบการของธุรกิจที่ค้าขายในประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 จะชะลอตัวลง ขณะที่ร้อยละ 27.2 คาดว่าจะดีขึ้น ซึ่งมีจำนวนผู้ตอบใกล้เคียงกันมากระหว่างชะลอตัวลงและดีขึ้น แต่ยังมีร้อยละ 20.9 ที่ให้ความคิดเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้
แม้ว่า เสียงส่วนใหญ่คาดว่าธุรกิจที่ค้าขายในประเทศและการส่งออก จะชะลอตัวลงในไตรมาสที่สี่ ของปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ก็มีผู้ตอบแบบสอบถามในจำนวนที่ใกล้เคียงกันคาดว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้น อีกทั้งยังมีอีกส่วนหนึ่งที่กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ สรุปได้ว่า ยังไม่สามารถฟันธง ผลประกอบการในไตรมาสที่สี่ในปีนี้โดยเปรียบเทียบกับไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน
เมื่อพิจารณาพิจารณาถึงสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ที่จีนมีบทบาทมากขึ้นในตลาดโลก คำถามที่สำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนเพื่อการค้าในตลาดโลกจะทำอย่างไร ผู้ตอบแบบสอบถาม เสนอว่า (1) สนับสนุนให้อาเซียนกับจีนมีความร่วมมือกัน โดยให้ไทยนั้นมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเพราะไทยมีความได้เปรียบทางภูมิภาค (2) ให้ไทยและจีนร่วมมือกันในการลงทุนและผลิต เพื่อมุ่งไปสู่การส่งสินค้าอุตสาหกรรมออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันตก
การค้าโลกในปัจจุบัน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูง ต้องพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตนานาชาติ กล่าวได้ว่าในการผลิตสินค้าหนึ่งต้องพึ่งพาการผลิตในหลายประเทศ ดังนั้นหุ้นส่วนทางการค้าระหว่างไทยและจีน และอาเซียนและจีนที่มีไทยเป็นจุดเชื่อมโยง จะเป็นการสร้างเสริมประโยชน์ร่วมกันหากได้จีนมาเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ดี ทั้งนี้ควรอาศัยความสัมพันธ์ตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนและจีน และกรอบข้อตกลง RCEP จะทำให้ปริมาณการค้าจะเพิ่มพูน (Trade Creation) ทั้งสินค้าทุน สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบ สรุปได้ว่าทั้งสองประเด็นที่นำเสนอ เป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรมีการบริหารและจัดการอย่างเร่งด่วน
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีกประเด็นหนึ่งคือการผลักดันสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยเข้าสู่ตลาดจีนด้วยวิธีการเจาะตลาดรายมณฑล โดยเฉพาะมณฑลในภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนที่มีกำลังซื้อสูง
ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยที่มีโอกาสจะซบเซานั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐ โดยให้ความสำคัญของข้อเสนอแนะ 4 ประการ ตามลำดับดังนี้ (1) สนับสนุนให้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อผลิตสินค้าต่างๆ (2) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อผลิตสินค้าและบริการ และการอำนวยความสะดวกทางการตลาด (3) ส่งเสริมให้มีนวัตกรรมใหม่สำหรับอุตสาหกรรมใหม่และมีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และ (4) มาตรการลดต้นทุนทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการ'นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
การค้าระหว่างประเทศไทยและจีน ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 66,148 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.43% มีสัดส่วน 18.68% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย ส่วนการส่งออกของไทยไปยังจีน มีมูลค่า 20,549 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพียง 0.30% และการนำเข้าของไทยจากจีน มีมูลค่า 44,599 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.52% เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวที่ 18.34% เช่น (1) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ (2) เครี่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศจีน มูลค่า 24,050 ล้านเหรียญสหรัฐ