WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Class S26T

 

กองทัพเรือยก 5 เหตุผล แจงโปรเจ็กต์ซื้อ เรือดำน้ำ

มติชนออนไลน์ :

      หมายเหตุ - กองทัพเรือออกเอกสารชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำ แบบชั้น Yuan Class S26T จำนวน 3 ลำ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
       1.ความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยกองทัพเรือเห็นความสำคัญของการมีเรือดำน้ำเข้าประจำการ จำเป็นต้องมีไว้รักษาความมั่นคงของประเทศทางทะเล การมีเรือดำน้ำอยู่ในแนวความคิดในการนำมาใช้กว่า 100 ปี มาแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจอมพลเรือสมเด็จพระ มหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงถวายบันทึกรายงานความเห็นเรื่อง เรือ'ส' (หมายถึงเรือดำน้ำ 'ส' คือ Submarine) ต่อนายพลโทพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาธิการทหารเรือ เมื่อ พ.ศ.2458 ว่าการมีเรือ'ส' ในประเทศไทยมีได้แน่และจะได้ประโยชน์ดังความตอนหนึ่งว่า "ถ้าเรามีเรือ ส แล้ว ข้าศึกจะต้องนึกถึงเรือ ส ของเราด้วยในเวลาที่เขาจะจัดกองทัพเข้ามาตีกรุงสยาม สงครามคราวนี้ได้แสดงให้เห็นความสำคัญของเรือ ส เพราะฉะนั้นเพื่อจะหนีอันตรายเรื่องเรือ ส ข้าศึกคงไม่ส่งเรือใหญ่เข้ามาเพื่อให้เป็นเป้าแก่เรือ ส ได้" 
      กระทั่งกองทัพเรือได้จัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการจากประเทศญี่ปุ่น 4 ลำ คือ ร.ล.มัจฉาณุ ร.ล.วิรุณ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2481 ในอดีตเรือดำน้ำเคยช่วยทำให้ไทยรอดพ้นจากการถูกยึดครอง และเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนมาแล้ว 
      จากประวัติการรบกับฝรั่งเศสจนเกิดยุทธนาวี ที่เกาะช้างที่กองทัพเรือต้องเสีย ร.ล.ธนบุรี ร.ล.ชลบุรี และ ร.ล.สงขลา ไปนั้น มีหลักฐานว่าฝรั่งเศสระแวงเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยอย่างมาก หลังจากต่อตีเรือของกองทัพเรือแล้ว จึงรีบถอนกำลังทางเรือกลับทันที ต่อมาเรือดำน้ำของกองทัพเรือได้ถูกปลดประจำการไปพร้อมกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จึงทำให้ประเทศไทยขาดรั้วที่สำคัญไปหนึ่งด้านมาเป็นเวลากว่า 64 ปี จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางทะเล ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ 
      2.เรือดำน้ำกับความมั่นคงในสถานการณ์และภัยคุกคามปัจจุบัน โดยประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านล้านบาทต่อปี และนับวันจะทวีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ด้วยการเสริมสร้างกำลังทางเรือจึงเป็นความจำเป็น เพื่อให้มีกำลังทางเรือที่สมดุลทัดเทียมกันในภูมิภาค หรือเพื่อให้มีศักยภาพในการรบที่ใกล้เคียงกันหรือเหนือกว่า ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เสริมสร้างกำลังทางเรือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกำลังเรือดำน้ำ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของกำลังทางเรือแล้ว กองทัพเรือมีความเสียเปรียบอย่างยิ่ง 
      จึงจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ เพราะการมีเรือดำน้ำเท่านั้น จึงจะรักษาดุลกำลังทางเรือในสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเล ในปัจจุบันเรือดำน้ำเป็นเรือรบที่มีศักยภาพสูงที่สุดในบรรดาเรือรบด้วยกัน เป็นอาวุธที่มองไม่เห็น ตรวจจับยาก และมีอำนาจการทำลายรุนแรง สามารถสร้างความยำเกรงให้กับฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังทางเรือเหนือกว่าอย่างมากได้ เรือดำน้ำจึงเป็นตัวคูณกำลังหรือ Force Multiplier จะเข้ามาเสริม ให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถครบทุกมิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และในอากาศ
     ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังรบ หากเกิดความขัดแย้งและสถานการณ์ที่อ่อนไหวระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่คาดไม่ถึง ที่กองทัพเรือมีความพร้อมในการรบทุกๆ ด้าน จะทำให้ประเทศมีความมั่นใจในการรักษาอธิปไตยของชาติได้เป็นอย่างดี 
     การจัดหาเรือดำน้ำมิได้ใช้เวลาแค่เพียงชั่วข้ามคืน เพราะการต่อเรือและการฝึกกำลังพลให้พร้อม ต้องใช้เวลานาน 7-10 ปี กองทัพเรือจึงต้องเร่งขจัดความเสี่ยงต่อความล่อแหลมที่อาจจะเกิดขึ้นได้นี้ ด้วยการเริ่มโครงการจัดหาเรือดำน้ำตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากประเทศต่างๆ รอบบ้าน ล้วนมีเรือดำน้ำเข้าประจำการเป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงมีขีดความสามารถที่เหนือกว่ากองทัพเรือไปล่วงหน้า 8-10 ปี ดูได้จากสิงคโปร์ ปัจจุบันมีเรือดำน้ำประจำการ 6 ลำ และกำลังต่อเพิ่มอีก 2 ลำ เวียดนามสั่งต่อเรือดำน้ำจากรัสเซีย 6 ลำ เข้าประจำการแล้ว 4 ลำ อินโดนีเซียมีเรือดำน้ำประจำการ 2 ลำ กำลังต่อเพิ่มที่เกาหลีใต้อีก 3 ลำ และมาเลเซียมีเรือดำน้ำประจำการ 2 ลำ เป็นต้น 
     3.เรือดำน้ำกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยไทยนำเข้า-ส่งออก สินค้าทางทะเลสูงถึง 95% และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นเส้นทางคมนาคมทางทะเลเชื่อมทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกาผ่านช่องแคบมะละกา จึงนับว่ามีความสำคัญระดับโลกทีเดียว หากเกิดปัญหาการปิดล้อมพื้นที่หรือข้อพิพาททางทะเลไม่ว่าที่ใด ย่อมส่งผลกระทบต่อการคมนาคมทางทะเลโดยตรง ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก
     เมื่อมองพื้นที่บริเวณอ่าวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางคมนาคมสายหลักที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าจำนวนมาก มีเรือสินค้าผ่านเข้าออกปีละประมาณ 15,000 ลำ แต่ด้วยพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงทางด้านภูมิศาสตร์ในการที่จะถูกปิดอ่าวหรือขัดขวางการใช้เส้นทางเดินเรือ เนื่องจากปากอ่าวมีความกว้างประมาณ 200 ไมล์ทะเล หรือ 400 กิโลเมตร เท่านั้น หากเกิดกรณีพิพาทหรือความขัดแย้งกับต่างประเทศขึ้น การถูกปิดอ่าวจะทำให้การขนส่งทางทะเลสายนี้หยุดชะงักทันที ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดความเสียหาย ดังเช่นที่เคยประสบมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อ่าวไทยถูกปิดทำให้เกิดความเดือดร้อนแสนสาหัส 
     ปัจจุบันไทยมีผลประโยชน์ทางทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การขนส่งทางทะเล อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการท่องเที่ยว ซึ่งเส้นทางเดินเรือ ที่ปลอดภัยจะส่งเสริมเศรษฐกิจเหล่านี้มีความมั่นคง การที่กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ ใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาท หากมองระยะยาวเมื่อนับอายุการใช้งานของเรือดำน้ำที่มีอย่างน้อย 30 ปี รวมกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่อปีแล้ว คิดเป็นเพียง 0.006% ของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การจัดซื้อเรือดำน้ำจึงมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอนเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 
     เมื่อกองทัพเรือมีกำลังทางเรือ ที่แข็งแกร่ง ย่อมจะส่งผลถึงการคมนาคมขนส่งทางทะเลที่มีความมั่นคง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ ในด้านการลงทุนได้เป็นอย่างดี ถึงแม้กองทัพเรือจะมีเรือผิวน้ำและอากาศยาน ที่ทำหน้าที่ป้องกันสกัดการรุกรานทางทะเลอยู่แล้ว แต่การประกอบกำลังทางเรือที่สมบูรณ์จะต้องมีครบทั้ง 3 มิติ เพราะในมิติใต้น้ำ ต้องใช้เรือดำน้ำปราบเรือดำน้ำด้วยกัน 
     ยามปกติ เรือดำน้ำจะทำหน้าที่ป้องปรามไม่ให้เรือใดๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามคิดเข้ามารุกรานประเทศไทย เปรียบเสมือนเป็นรั้วให้กับประเทศ เรือดำน้ำจึงเปรียบเสมือนกองกำลังใต้น้ำที่จะสร้างความน่าเกรงขามให้กับประเทศไทย จากสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายคนมองว่าคงจะไม่เกิดสงครามในระยะใกล้นี้ แต่ความขัดแย้งในทะเลยังคงมีอยู่และไม่มีใครยืนยันได้ว่าสถานการณ์จะไม่บานปลายไปถึงขั้นการใช้กำลังต่อกันเมื่อใด การมีเรือดำน้ำจึงเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้เกิดสงคราม เพื่อให้มีการยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังทางเรือและนำไปสู่การเจรจาต่อรองที่มีความทัดเทียมกัน 
     4.เรือดำน้ำกับความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ ไทยมีแผ่นดินติดกับทะเล 2 ด้าน คือ ด้านตะวันตกเป็นทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาส่วนด้านตะวันออกเป็นอ่าวไทย มีพื้นที่ทางทะเลประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ยที่ประมาณ 50 เมตร ความลึกที่สุดอยู่บริเวณกลางอ่าว ประมาณ 85 เมตร ความใสของน้ำสามารถเห็นได้ลึกสุดไม่เกิน 16 เมตร จากพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างและสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการซ่อนพรางของเรือดำน้ำ ทำให้การค้นหาเรือดำน้ำด้วยสายตาจากบริเวณผิวน้ำ หรืออากาศยาน เป็นไปด้วยความยากลำบาก เรือดำน้ำจึงสามารถเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายที่จำเป็นต่อการพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 
      ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือดำน้ำ Sealion ของกองทัพเรือสหรัฐ เคยเข้ามาจมเรือหลวง สมุย ขณะกำลังลำเลียงน้ำมันจากสิงคโปร์บริเวณอ่าวไทยตอนใต้ และปัจจุบันเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของกองทัพเรือสหรัฐซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าในอดีตมาก เข้ามาฝึกกับกองทัพเรือในอ่าวไทยเป็นประจำ สามารถปฏิบัติการใต้น้ำในอ่าวไทยโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เรือดำน้ำสมัยใหม่มีอุปกรณ์การเดินเรือที่ทันสมัยมาก มีระบบรักษาความลึกขณะดำน้ำโดยอัตโนมัติที่มีความเที่ยงตรงสูง ดังนั้น การปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นถือเป็นเรื่องปกติของเรือดำน้ำ อ่าวไทยมีน้ำลึกเฉลี่ย 50 เมตร จึงไม่ใช่อุปสรรคในการปฏิบัติการของเรือดำน้ำปัจจุบัน 
      5.การพิจารณาคัดเลือกเรือดำน้ำของกองทัพเรือ พิจารณาจากความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านสมรรถนะและขีดความสามารถ ความปลอดภัย การบำรุงรักษา ส่วนสนับสนุนบนบก การฝึกกำลังพล และอื่นๆ ที่ประเทศผู้ผลิตจะเสนอภายในวงเงินที่กำหนด โดยกองทัพเรือได้พิจารณาข้อเสนอจากประเทศต่างๆ รวม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และเยอรมนี แม้ว่าผู้ผลิตจากจีนเป็นรายเดียวที่เสนอเรือดำน้ำ 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท ในขณะที่รายอื่นเสนอเพียง 2 ลำ แต่มิได้เป็นเหตุผลเดียว ที่นำมาตัดสิน หากแต่ได้คำนึงถึงในทุกประเด็นที่กล่าวข้างต้น 
     ข้อสรุปในด้านสมรรถนะและขีดความสามารถที่สำคัญ เรือดำน้ำจีนมีระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ทำให้สามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้นาน โอกาสที่จะถูกตรวจจับจึงต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำประเทศอื่นที่อยู่ในน้ำได้อย่างมาก 4-5 วันต้องโผล่ขึ้นมาทำการชาร์จแบตเตอรี่ แต่เรือดำน้ำจีนอยู่ ใต้น้ำได้ 21 วัน 
      หากในสถานการณ์รบที่ยืดเยื้อ หรือสถานการณ์คับขัน เรือดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำได้นานโดยไม่ต้องขึ้นมาเปิดเผยตัวจะได้เปรียบทางการรบมากกว่า รวมทั้งเรือดำน้ำจีนติดตั้งระบบอาวุธที่ครบถ้วนหลายชนิดมาพร้อมกับเรือ ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถีที่สามารถยิงจากใต้น้ำสู่เป้าหมายเรือรบผิวน้ำ และยังสามารถยิงเป้าหมายบนฝั่งได้ รวมทั้งอาวุธตอร์ปิโด และทุ่นระเบิด จึงทำให้มีขีดความสามารถที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่นที่เสนอมา อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับกำลังพลในการขึ้นสู่ผิวน้ำแบบฉุกเฉินใช้อุปกรณ์ของยุโรป จึงมั่นใจในความปลอดภัยของกำลังพลเช่นเดียวกันกับเรือดำน้ำของยุโรป 
     ด้านการบำรุงรักษาเรือ ทางบริษัทผู้สร้างเรือจะรับประกันอุปกรณ์ทุกระบบเป็นเวลา 2 ปี มากกว่าของประเทศอื่นๆ ที่รับประกันเพียง 1 ปี และสนับสนุนอะไหล่ถึง 8 ปี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ
    ทางบริษัทยังถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำ โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงตัวเรือ และระบบต่างๆ ของเรือ รวมทั้งระบบอาวุธ ทำให้กองทัพเรือเข้าถึง องค์ความรู้ที่สามารถดำรงความพร้อมของเรือดำน้ำได้ตลอดอายุการใช้งาน ประกอบกับเรือดำน้ำที่จีนเสนอเป็นเรือดำน้ำแบบดีเซล-ไฟฟ้า รุ่นล่าสุดที่ผลิตสำหรับกองทัพเรือจีน ทำให้หมดปัญหาเรื่องการสนับสนุนอะไหล่ตลอดอายุใช้งาน และการส่งกำลังบำรุงที่เกี่ยวข้องทั้งปวง 
     การฝึกอบรมกำลังพลนั้นจีนเสนอเป็นแบบเดียวกับที่กองทัพเรือจีนใช้ราชการในปัจจุบัน ทางกองทัพเรือจีนจึงสามารถให้การสนับสนุนการฝึกได้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการสร้างเรือโดยใช้เรือของกองทัพเรือจีนเป็นเรือฝึก ซึ่งการฝึกกำลังพลจะใช้เวลาฝึกนานถึง 3 ปี นับว่าเป็นการฝึกที่สมบูรณ์อย่างมาก นอกจากนี้ ก็ยังส่งช่างเทคนิคไปทำการเรียนและฝึกอบรมที่อู่ต่อเรือและบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ด้วย ทำให้กำลังพลเรือดำน้ำและช่างของกองทัพเรือมีความพร้อมทันทีเมื่อได้รับมอบเรือ 
      ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยด้านการทหารอย่างมาก ทำให้เทคโนโลยีทางทหารของจีนมีความก้าวหน้า โดดเด่น และมีมาตรฐานสูงขึ้นมาก จะเห็นได้จากการที่เรือดำน้ำของจีนสามารถเล็ดลอดการตรวจจับเข้าไปปรากฏตัวกลางกองเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐในระยะใกล้ได้ จึงทำให้มั่นใจในขีดความสามารถของเรือดำน้ำรุ่นที่จีนเสนอได้ ในประเด็นงบประมาณ 36,000 ล้านบาท กองทัพเรือใช้การผ่อนชำระในระยะยาว 7-10 ปี ไม่ใช่การจ่ายเงินก้อนเดียวทั้งหมด จึงตกปีละประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท เท่านั้น ขณะที่กองทัพเรือจะได้รับมอบเรือมาใช้งานทั้ง 3 ลำ ภายในระยะเวลา 6 ปี จึงถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กองทัพเรือได้ประโยชน์มาก และงบประมาณมาจากงบที่กองทัพเรือได้รับจัดสรรประจำปีตามปกติ มิได้มาจากงบกลางหรืองบพิเศษของรัฐบาลแต่อย่างใด 
     ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่อนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ กองทัพเรือต้องพัฒนากองทัพเรือด้วยงบประมาณก้อนนี้อยู่ดี แต่เปลี่ยนเป็นการจัดหายุทโธปกรณ์ประเภทอื่นแทน เช่น เรือฟริเกต หรืออากาศยานปราบเรือดำน้ำ แทน เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถทำให้กองทัพเรือบรรลุภารกิจที่สมบูรณ์ได้อยู่ดี เพราะไม่มียุทโธปกรณ์ใดสามารถมาทำงานแทนที่เรือดำน้ำได้ 
    ดังนั้น โครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ถือว่าเป็นความจำเป็นจริงๆ เพื่อผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงทางทะเลอย่างแท้จริงและคุ้มค่าเงินที่สุด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!