WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง' ย้ำใช้ม. 44 สร้างสรรค์ 'ลดเหลื่อมล้ำ-ขัดแย้ง'


มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์

      หลังจากมีพระบรมราชโองการยกเลิกการประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2558 ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558 ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ

      มีกฎเหล็ก 14 ข้อ ที่ให้อำนาจทหารชั้นสัญญาบัตรเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบ มีอำนาจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบกับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2558 ว่าด้วย "มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ตามที่หัวหน้า คสช.ได้ชี้แจง 

     โดยเฉพาะในพื้นที่ "ภาคอีสาน" ของประเทศไทยนั้น เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งในแง่ความมั่นคงและแง่ปัญหาความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดำรงอยู่มายาวนานของไทย ในมุมมองของ "บิ๊กมี่" พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 อธิบายถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ว่า ได้ให้คณะทำงานตามกฎหมายของกองทัพภาคที่ 2 เอากฎหมายมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) กฎหมาย 2557 มาพิจารณาและศึกษา พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับกฎหมายเดิมคือกฎอัยการศึกว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในกองทัพภาคที่ 2 ได้ทำงานและยึดกฎอัยการศึก เพราะสถานการณ์ยังวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาก็บังคับกฎหมายตัวนี้เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตอะไรต่างๆ ก็ทำไปได้ส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนซึ่งก็พอมีบ้าง เราใช้กฎอัยการศึกด้วยความสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการที่ประชาชนเคลื่อนไหว ทางเจ้าหน้าที่ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายก็อธิบายถึงความจำเป็น โดยประชาชนก็น่ารัก ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และที่ผ่านมาไม่มีปัญหาอะไร

     เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การบังคับใช้ ม.44 กฎหมายตัวนี้จะเป็นไปในทิศทางใด "แม่ทัพภาคที่ 2" ตอบคำถามดังกล่าวอย่างหนักแน่น เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้กลับไปสู่ภาวะวิกฤตทางการเมืองอีก อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับว่าเมื่อก่อนบ้านเมืองเราวิกฤตจริงๆ จนแทบจะไม่มีทางเดินไปไหนได้เลย แต่พอใช้กฎอัยการศึกมาสักระยะก็เอากฎหมายมาตรานี้มาใช้แทน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบสถานการณ์แล้ว ณ ตอนนี้ไม่ปรากฏความรุนแรง แต่ถ้ามีสถานการณ์อะไรที่ต่อต้านแล้วขัดกับกฎหมายมาตรานี้ เราก็จะเน้นการเข้าไปพบปะพูดคุยเป็นหลัก เพราะเรามีอำนาจกฎหมายรองรับอยู่ 

      "ผมขอย้ำว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารไม่เคยไปกดดันใคร ส่วนข่าวที่ออกมานั้นก็เขียนกันไปเองมากกว่า เราไม่เคยเลย ทั้งการควบคุม การซ้อมทรมาน การกดดันอะไรต่างๆ เพราะพี่น้องประชาชนก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ทางเจ้าหน้าที่จะทำไปทำไม ซึ่งการควบคุมตัวเราก็ให้ไปอยู่ในเรือนรับรองที่พักอย่างดี หากแต่จะใช้กฎหมายตัวนี้ในแง่อย่างสร้างสรรค์ และใช้เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน" นั่นเป็นสิ่งที่ พล.ท.ธวัชย้ำถึงการใช้กฎหมายมาตรา 44

     พล.ท.ธวัช อธิบายต่อว่า หลักของการใช้ ม.44 อยู่ที่สาธารณประโยชน์ที่ถูกบุกรุกอย่างมากจากผู้มีผลประโยชน์และกลุ่มผู้มีอิทธิพล เพราะเรื่องจำพวกนี้จะถูกร้องเรียนมากมาย เช่น ที่ดินกว่า 3,000 ไร่ ถูกบุกรุก ขณะนี้กำลังมีการไปทวงคืน โดยส่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไปร่วมกันทำงาน ซึ่งผู้บุกรุกก็ยอมคืนให้ ในขณะเดียวกันการทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกอย่างมากจากผู้มีอิทธิพล ตลอดจนการทวงหนี้สินนอกระบบ อีกทั้งทางเราก็ต้องเน้นงานด้านความมั่นคงเป็นหลักอีกด้วย เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม วัตถุสงคราม ซึ่งเราก็ดำเนินการไปได้มาก เพราะว่าเราต้องช่วยส่วนราชการพลเรือนทำ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวลดลง

      ภาคอีสานเสมือนเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งสูง นอกเหนือจากความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐในการเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนปากมูล ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านสัมปทานเหมืองโพแทช จ.อุดรธานี ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน ยากต่อการแก้ไขให้ลงเอยกันได้ ส่วนกรณีเขื่อนปากมูลเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เราได้มีการพูดคุยกันหลายครั้ง แถมยังได้แก้ไขปัญหาในหลายระดับ ส่วนกรณีเหมืองโพแทชนั้นก็เป็นความขัดแย้งที่มีเวลากว่า 10 ปีเช่นกัน ซึ่งเอาจริงแล้วผมคิดว่าเราต้องเอาความจริงมาพูดกันสักครั้ง โดยเอาคนกลางมาช่วยอธิบายว่าปัญหาที่แท้จริงเป็นอย่างไร แร่มีอยู่มากน้อยเท่าใด แต่ไม่ได้ถูกเอามาใช้เพราะไม่ยอมฟังกัน ก็ทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ ทั้งนี้ ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้มีการมาพูดคุยกันหลายๆ ฝ่าย และให้ผลประโยชน์ตกไปยังท้องถิ่นของพี่น้องประชาชนได้จริงๆ หากแต่จะต้องหาคนกลางที่น่าเชื่อถือให้มามีส่วนช่วยในกระบวนการตรงนี้

แต่เจ้าของเรื่องไม่น่าจะเป็นทหาร หากแต่ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วจัดส่งทีมมาเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน เพียงแต่มาก็จะมีกลุ่มภาคประชาสังคม (NGO) มักจะอ้างแต่ว่าเกิดผลกระทบ เกิดผลเพียงในมุมเดียว แต่ประชาชนที่เห็นด้วยก็มี เพราะฉะนั้นมันก็ยากที่จะตกผลึกความคิดเห็นให้ตรงกัน ประกอบกับที่ผ่านๆ มามักจะเลือกใช้วิธีพลังมวลชนเข้ามากดดันกัน ซึ่งในความเข้าใจผมจะต้องสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อต่อไปจะได้ตกผลึกทางความคิดและผ่านการยอมรับของคนในท้องถิ่นทุกฝ่าย 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!