- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 05 September 2024 15:08
- Hits: 8380
‘ธนพันธุ์’ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานปล่อยจรวดหรือ Rocket Launch Site เพื่อส่งดาวเทียมและก้าวไปสู่การเป็น ‘ท่าอวกาศยาน’ หรือ ‘Spaceport’ ในระดับภูมิภาคต่อไป
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีการสร้างสนามยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมในประเทศไทย ว่า “กสทช. ต้องเป็นผู้ดูแลอนุญาตหรือไม่?” นั้น ได้ชี้แจงว่า ตามอำนาจหน้าที่ กสทช. ไม่ได้เป็นผู้ดูแลโดยตรง แต่ กสทช. เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และส่วนตัวสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะ กสทช. มีหน้าที่และอำนาจในการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้ “วงโคจรดาวเทียม” ซึ่งหากเปรียบเทียบระหว่างเครื่องบินที่บินอยู่บนท้องฟ้า กับดาวเทียมที่โคจรรอบโลกอยู่บนอวกาศนั้น “เครื่องบิน” ก็ต้องมีสนามบิน หรือ “ท่าอากาศยาน” (Airport) ที่ใช้ในการขึ้นและลงของเครื่องบิน ดังนั้น “ดาวเทียม” ก็ต้องมี “สนามหรือฐานยิงจรวด” (Rocket Launch Site) เพื่อส่งดาวเทียม และพัฒนาต่อยอดเป็น “ท่าอวกาศยาน” (Spaceport) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมใช้ในการส่งและรับจรวดเพื่อส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรบนอวกาศนั้นเอง โดยที่ “วงโคจรดาวเทียม” (Satellite Orbit) ก็เปรียบเสมือนเส้นทางการบิน (Flight Route) ที่ดาวเทียมนั้นใช้ในการโคจรรอบโลก ดังนั้น กสทช. มีหน้าที่ในการอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้ “วงโคจรดาวเทียม” แต่มิได้มีหน้าที่ในการอนุญาตสิทธิในการสร้างท่าอวกาศยาน
อย่างไรก็ตามต่อคำถามที่ว่าประเทศไทยมีดาวเทียมไม่กี่ดวง แล้วจะสามารถเป็นท่าอวกาศยานได้หรือไม่นั้น ขอให้เปรียบดูกรณีประเทศไทยก็มีเครื่องบินเป็นของตนเองไม่น่าเกินหลักพันและไม่ได้ผลิตเครื่องบินเองด้วยซ้ำ แต่ทำไมประเทศไทยมีสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการบินของโลกได้ ทั้งนี้เช่นเดียวกัน และเมื่อเข้าใจถึงเงื่อนไขทางเทคนิคที่ใช้ในการพิจารณาจัดตั้งท่าอวกาศยานที่มีเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น
1. ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีความเหมาะสมมาก เพราะตามหลักแล้วท่าอวกาศยานควรตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร (equator) มากที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์จากความเร็วการหมุนของโลก ที่จะช่วยให้จรวดสามารถบรรทุกสิ่งของที่หนักกว่า เช่น ดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้ โดยใช้เชื่อเพลิงที่น้อยลง เนื่องจากได้รับการหนุนจากการหมุนของโลกเป็นอย่างมาก
2. ตำแหน่งควรอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงจากความล้มเหลวเวลายิงจรวดจึงมักนิยมอยู่บนสถานที่ริมฝั่งทะเลเพื่อยิ่งจรวดไปเหนือน่านน้ำทะเลเปิด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเหมาะสม
3. สภาพอากาศควรมีท้องฟ้าแจ่มใส ลมสงบ อุณหภูมิคงที่ ไม่เป็นพื้นที่แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ หรือเกิดพายุ ฟ้าผ่า บ่อยครั้ง
4. ควรมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ รองรับ เช่น ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการบินและอากาศยาน ซึ่งประเทศไทยก็มีความพร้อมรองรับจากโครงการ EEC ที่มี S Curve ด้านอุตสาหกรรมการบิน และสามารถต่อยอดได้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น ประเทศไทยได้เปรียบเป็นอย่างมาก โดยในอดีตการส่งจรวดเป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้สำหรับรัฐบาลและทหารเท่านั้น ทำให้มีท่าอวกาศยานอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น ที่แหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ที่ NASA ใช้ ส่วนยุโรปก็ต้องไปที่ เฟรนซ์เกียน่า ทวีปแอฟริกา ยกเว้นรัสเซียใช้ฐานยิงที่คาซัคสถาน ซึ่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่ค่อยเหมาะสมเช่นเดียวกับของประเทศจีน แต่ปัจจุบันเอกชนและหน่วยงานอวกาศจากนานาประเทศเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอวกาศมากขึ้น รวมทั้งความต้องการในการสร้างและส่งดาวเทียมได้เปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่ต้องสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นสู่วงโคจรดาวเทียมค้างฟ้า หรือ Geo-Stationary Earth Orbit (GEO) ที่มีระยะที่สูงจากพื้นโลกมากแต่ใช้จำนวนดาวเทียมที่น้อย มาเป็นการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ขึ้นสู่วงโคจรดาวเทียมต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) เช่น Starlink ของอเมริกามีแผนจะปล่อยดาวเทียมมากถึง 42,000 ดวง เช่นเดียวกับ Oneweb ของประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศจีน ที่มีแผนที่จะยิงดาวเทียมนับหมื่นดวงเช่นกัน และดาวเทียมประเภทนี้จะมีอายุสั้นประมาณ 5 ปีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทนอย่างต่อเนื่อง
“กิจการอวกาศเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้นที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง ที่มิใช่เฉพาะเรื่องดาวเทียมเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้จะมีกิจกรรมอื่น เช่น การส่งคนขึ้นไปท่องเที่ยวบนอวกาศ หรือ การสร้างและส่ง data center บนอวกาศ ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ จึงถือว่าเป็นหนึ่งใน Sunrise Industry ที่เทคโนโลยีปัจจุบันรองรับในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นประเทศไทยควรเห็นโอกาสและร่วมมือกับประเทศที่มีความต้องการในเรื่องนี้ เช่น ประเทศจีนที่พื้นที่ตั้งอาจไม่เอื้ออำนวย โดยให้มีการร่วมลงทุนในไทยที่มาพร้อมเทคโนโลยี เช่นเดียวกับในอดีตที่เคยดึงญี่ปุ่นมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้ประสบความสำเร็จมาแล้ว และจะทำให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ด้วย และเมื่อเศรษฐกิจดีปัญหาสังคมความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ก็น่าจะเบาบางลงด้วย ดังนั้นหากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และมีความรู้คู่คุณธรรมได้มาบริหารองค์กรแล้ว คงจะเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนดั่งที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้ครับ” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
9147