- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 03 October 2024 00:17
- Hits: 5515
สำนักงาน กสทช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทางดิจิทัลได้อย่างหลากหลาย เท่าเทียม และรู้ทัน
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถานศึกษา รวม 21 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ และสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง ‘ความร่วมมือด้านการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ทางดิจิทัลได้อย่างหลากหลาย เท่าเทียม และรู้ทัน’ โดยมี นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล หลากหลาย เท่าเทียม รู้ทัน’
นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. กล่าวในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล หลากหลาย เท่าเทียม รู้ทัน’ ว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา คำว่า ‘ดิจิทัล’ เข้ามามีบทบาทและแพร่หลาย ในหลายกิจกรรมของมนุษย์ ผ่านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่ กสทช. ได้กำกับดูแล ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสาร และวิถีชีวิตผู้คน เทคโนโลยีต่างๆ ขยายตัว ขยายพื้นที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมของชีวิต (IoT) ธุรกิจหรือกิจการแบบเดิมๆ ต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัว ด้วยดิจิทัล เช่น ธุรกิจสื่อ ธุรกิจการเงิน การธนาคาร เป็นต้น แต่ถึงแม้จะครอบคลุมทุกกิจกรรมของชีวิต และครอบคลุมทุกองค์กร แต่ก็ไม่ใช่คนทุกคนที่จะมีโอกาสมีความสามารถในการเข้าถึงดิจิทัล ยังคงมีปัจจัย ทางภูมิศาสตร์ การอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางความสามารถในการใช้งาน ความพิการ อันไม่ได้หมายถึงทางด้านร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมไปถึงข้อจำกัดของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เป็นภารกิจหนึ่งของ กสทช. ที่จะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ
เพื่อรองรับความหลากหลายตามแต่ละปัจเจก โดยมีหลักการ ‘3A’ ในการขับเคลื่อน คือ 1.) Available โครงสร้าง โครงข่าย กระจายตัวอย่างทั่วถึง โครงข่ายต้องไปถึงตัวคนไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน 2.) Affordable ราคาต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสม โดยดูปัจจัยทางเศรษฐกิจประกอบ และ 3.) Accessible ต้องคำนึงถึงประชาชน ว่าจะสามารถเข้าถึง เข้าไปใช้ประโยชน์ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกออกแบบมารองรับกับปัญหาต่างๆ ที่หลากหลาย และรองรับต่อข้อจำกัดของคนทุกคน
“นอกจากบทบาทของ กสทช. ในฐานะองค์กรของรัฐ ที่มีบทบาทด้านการกำกับดูแล และคุ้มครองผู้บริโภค ยังมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมประชาชนให้สามารถใช้บริการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการ มีความเข้มแข็ง และรู้เท่าทัน” นายต่อพงศ์ กล่าว
นายต่อพงศ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีการสื่อสารไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต หลายๆ คน ยังนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ใช้ในการประกอบอาชีพ การสื่อสาร และความบันเทิงอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ ในการสร้างกลอุบายหลอกลวงประชาชน ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน ความเสียใจ และอาจนำไปสู่ความสูญเสียอื่นๆ ที่มีระดับความเสียหายที่รุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความเสียหายในวงกว้างต่อสังคม ดังนั้น ทุกคนจึงต้องมี พื้นฐานความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัล ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้สามารถอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย รู้เท่าทัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะโลกของการสื่อสาร โลกของดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกคน และเป็นโอกาสสำหรับคนทุกคน เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
1041