- Details
- Category: ปปช.
- Published: Monday, 25 September 2023 23:33
- Hits: 2105
นโยบายปราบโกง ฝันที่อยากให้เป็นจริง ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
การเริ่มต้นบริหารงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย นับเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ ตลอดระยะเวลา 8-9 ปึที่ผ่านมา โดยเฉพาะนโยบายที่จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันได้แก่ 1.นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 2.นโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน 3.การสร้างรายได้จากการท่องที่ยว และ 4.การแก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล และในอนาคตอันใกล้ จะมีนโยบายอื่นๆ ตามมา แบบเรียกว่า ทยอยทำ ซึ่งนายกเศรษฐาออกมายอมรับตรงๆ ว่าเป็นมือใหม่หัดขับ
ในขณะที่แวดวงแนวร่วมต่อต้านการทุจริต ตระหนักดีว่า การทุจริตคอร์รัปชันสร้างปัญหาให้กับประเทศ ยิ่งรัฐบาลมีนวัตกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาลสาธารณะใหม่ๆ ไม่ว่าจะจำนำ จ่าย แจก แลก โดยหว่านงบประมาณไป ก็ต้องระวังให้ดีอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหับคำว่าทุจริตเขิงนโยบาย ดังนั้นหลายฝ่ายจึงเรียกร้อง ให้รัฐบาลท่านนายกเศรษฐา ดำเนินการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทำให้ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันที่พึ่งผ่านมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน จึงมีเสียงเรียกร้องให้ รัฐบาล ผลักดันการดำเนินการ 5 ประเด็น ได้แก่
1. กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วนมีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน พร้อมมีวอร์รูม เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์
2. สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพแยกออกจากรัฐบาล
3. เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
4. ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่างๆในรูปแบบที่สามารถ เชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง
5. แก้ไขกฎระเบียบราชการต่างๆที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลา จนประชาชนลืม
ท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวถ้อยแถลงในงานดังกล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีความโปร่งใสหรือ CPI โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นอันดับ 101 ของโลก เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม หมายความว่าเรามีเรื่องต้องพัฒนาอีกมากมาย เพราะ 3-4 ประเทศที่กล่าวไปเป็นคู่แข่งด้านการค้าของเรา เราจำเป็นต้องถีบตัวให้ขีดการแข่งขันสูงขึ้นมาอีก
ปัญหาทุจริตนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับภาครัฐ ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นปัญหาหลักที่เศรษฐกิจไทยถดถอย และมีผลต่อเนื่องไปสู่การขับเคลื่อน GDP ของประเทศอีกด้วย เพื่อขจัดปัญหาทุจริต รัฐบาลของประชาชน ที่มีนายกเศรษฐาเป็นหัวเรือใหญ่ มีนโยบายด้านใช้หลักยุติธรรม หรือ Rule of Law ที่เข้มแข็ง เอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในกระบวนการต่างๆทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ช่วยประชาชนทั้งความโปร่งใส และการบริการภาครัฐที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
นโยบายที่จะนำมาใช้ในอนาคต เช่น
1. ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด
2. เปิดให้ขอใบอนุญาตผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ขอได้ง่ายและจบในที่เดียว (1 stop service)
3. ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ง่ายและโปร่งใส และป้องกันการทุจริต เปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง open government
4. ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น digital government ปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับการอนุมัติ อนุญาต ควบคุมตรวจสอบ ให้มีความโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดต่อกับประชาชน
การประกาศ ขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจังของนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ดี แม้จะรับประกันไม่ได้ว่า ปัญหาการรับสินบน การคอร์รัปชันจะไม่เกิดขึ้นในรัฐบาล และมีการปราบให้ปัญหาเหล่านี้น้อยลงจากเดิม แต่ก็ช่วยสร้างความฝัน ที่อาจกลายเป็นจริงได้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชัน
การที่หลายคนกัวงลกับเรื่องปราบปรามคอร์รัปชัน เนื่องจาก หากนับย้อนหลังกลับไป 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณขององค์กรที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตเป็นส่วนที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด แต่การทุจริตกลับไม่ได้ลดลง ตัวอย่างงบสำหรับต่อต้านการทุจริต ในปีงบประมาณ 2566 ของหน่วยงานต่อต้านทุจริต 40 หน่วยงาน มีมูลค่าถึง 3,803 ล้านบาท เติบโตจากปีงบประมาณ 2565 ประมาณ 15%
หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งรับผิดชอบจัดการกับการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง คิดเป็น 2,845 ล้านบาท (74%) รองลงมาคือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งรับผิดชอบจัดการกับการทุจริตของข้าราชการระดับกลาง-ต้น คิดเป็น 512 ล้านบาท (13%) งบประมาณอันดับ 3 คือ กองทุน ป.ป.ช. งบประมาณ 150 ล้านบาท สำนักงานอัยการสูงสุด 74 ล้านบาท และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 67 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการปราบปรามทุจริตขนาดใหญ่ แทน ‘การคอร์รัปชันเล็กๆ ที่เป็นปัญหาที่แพร่หลายและเร่งด่วน
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ก่อนหน้านี้มีคำถามว่า คณะรัฐมนตรีของนายกเศรษฐาเอาจริงแค่ไหน จะมีแนวทางปราบคอร์รัปชันให้อยู่หมัดอย่างไร จนเป็นเรื่องน่ากังวลของประชาชน ผู้ซึ่งเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ ผ่านการจ่ายภาษี ดังจะเห็นได้จากกรณี
คุณสุทธิชัย หยุ่น เคยวิจารณ์ ว่า เมื่อไม่มีนโยบายคอร์รัปชัน ทั้งการป้องกันและการปราบปราม รวมทั้งไม่เห็นนายกรัฐมนตรีดำเนินการเรื่องนี้ อีกทั้งคุณเศรษฐา ก็ไม่เคยอยู่ในแวดวงข้าราชการ ดังนั้นคุณเศรษฐาอาจจะไม่สามารถรู้เท่าทันกลเม็ดเด็ดพรายของข้าราชการที่จะคอร์รัปชันได้อย่างไร นอกจากนี้การที่คุณเศรษฐาต้องพึ่งพาพรรคการเมือง อีก 10 พรรค รวมทั้งในพรรคเพื่อไทยเอง ในการอยู่รอดของรัฐบาลผสม ที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้สนับสนุน คุณเศรษฐาจะมีความแข็งแกร่งแค่ไหนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศของประชาชน
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า “ควรมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม เพื่อการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน หรือจะเรียกว่า War Room for Anti Corruption เพราะวิกฤตนี้เป็นวิกฤตขนาดใหญ่ ซึ่งกระทบกับประชาชนคนไทยทุกๆ คน มีผลกระทบกับทุกภาคส่วนสร้างความเสียหายทั้งทางด้านสังคมและทางด้านเศรษฐกิจ จึงต้องยกระดับในการที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งภาครัฐควรมีความจริงจัง มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาทุจริต”
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า ถึงแม้การเลือกตั้งจะจบแล้ว หน้าที่ของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน และการจับตาดูการทำหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ยังไม่จบ หวังว่านายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ดูแลเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศอย่างเต็มที่
ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากมีความตื่นตัวในการร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งการรณรงค์ให้เข้าใจ และร่วมมือต่อต้านทุจริต ดังนั้นจากคำพูดของ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ว่า ‘จะส่งเสริมการบริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ยึดมั่นอุดมการณ์’ เป็นเหมือนสัญญากับประชาชน ว่าเราจะมั่นใจกับรัฐบาลนี้ได้ในเรื่องการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งพวกเราทุกคนต้องเฝ้าจับตามองว่าจะเป็นฝันที่เป็นจริง หรือเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ
A9892