- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 19 January 2023 21:36
- Hits: 2310
PwC เผย 53% ของซีอีโอเอเชียแปซิฟิก เชื่อโมเดลธุรกิจในปัจจุบันจะไปไม่รอดในอีกทศวรรษหน้า
PwC เผยผลสำรวจซีอีโลกครั้งล่าสุด พบเกือบ 70% ของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตลดลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นปัจจัยความกังวลที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ขณะที่ซีอีโอเกินครึ่งเชื่อว่า โมเดลการทำธุรกิจในปัจจุบันจะไปไม่รอดในทศวรรษหน้า หากไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงองค์กร
ทั้งนี้ ผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 ฉบับเอเชียแปซิฟิก: ก้าวนำในโลกแห่งความเป็นจริงใหม่ (26th Annual Global CEO Survey - Asia Pacific: Leading in the new reality) ของ PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 1,634 ราย และเปิดเผยให้เห็นถึงข้อมูลที่โดดเด่นสองประการที่กำลังท้าทายซีอีโอในภูมิภาค
• 69% ของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในอีก 12 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ 76% เชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น
• 53% ของซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า บริษัทของพวกเขาจะไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในทศวรรษข้างหน้า หากยังคงดำเนินการเฉกเช่นปัจจุบัน (มากกว่าซีอีโอทั่วโลก 14%)
เมื่อสภาวะเศรษฐกิจมหภาคถดถอยลง ความไม่แน่นอนได้เพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นแตะระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกจึงกำลังเผชิญกับสองความท้าทายสำคัญ นั่นคือ ผู้นำธุรกิจจะต้องจัดการความเสี่ยงจากภายนอกในระยะสั้นเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการทำกำไรเพื่อความอยู่รอด ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อการเติบโตในระยะยาว
นาย เรย์มอนด์ ชาว ประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า “ในเวลานี้ของปีที่แล้ว ความเชื่อมั่นของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่แค่เพียงหนึ่งปีต่อมา เราพบว่าความเชื่อมั่นนี้ได้กลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง ด้วยดิสรัปชันต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ซีอีโอในภูมิภาคกำลังเผชิญกับความเป็นจริงใหม่ ซึ่งการจัดการกับสองความท้าทายสำคัญนี้ให้ไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำธุรกิจจำเป็นจะต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่เกี่ยวกับการสร้างคุณค่า สร้างพลังของวัฒนธรรมที่แตกต่าง และทำงานร่วมกันในระดับที่กว้างกว่าและลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็น”
แม้ว่าความเชื่อมั่นของซีอีโอต่อเศรษฐกิจโลกจะลดลง แต่ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังคงมีมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับโอกาสของประเทศตนเอง น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับซีอีโอทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีอีโอในประเทศขนาดใหญ่กว่า แสดงมุมมองเชิงบวกในระดับสูงสุดต่อการเติบโตภายในประเทศ นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน (64%) อินเดีย (57%) และอินโดนีเซีย (50%) (เปรียบเทียบกับทั่วโลกที่ 29%) ทั้งนี้ การให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศที่เพิ่มขึ้น มากกว่าผลประโยชน์ของโลก แสดงให้เห็นถึงการเร่งตัวของแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของภูมิภาคยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการเปิดเสรีทางการค้า และการเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
เงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยความกังวลสูงสุดของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก
ในขณะที่ความเสี่ยงด้านสุขภาพและไซเบอร์ เป็นปัจจัยความกังวลในอันดับต้นๆ ในปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถือเป็นสิ่งที่ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแสดงความกังวลมากที่สุดในปีนี้ โดยเงินเฟ้อ (41%) และความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (30%) ถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้บริหารรู้สึกกังวลทั้งในระยะสั้น (เช่น 12 เดือนข้างหน้า) และระยะกลาง (เช่น มากกว่าห้าปีข้างหน้า)
ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (30%) ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความเสี่ยงอันดับต้นๆ เพราะสงครามในยูเครนและความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ส่งผลให้ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกมีการทบทวนรูปแบบของการทำธุรกิจใหม่ โดยพวกเขามีแผนที่จะ:
• ปรับการดำเนินธุรกิจของตนเองในตลาดปัจจุบัน และ/หรือขยายไปสู่ตลาดใหม่ (53%)
• ปรับห่วงโซ่อุปทาน (49%)
• กระจายข้อเสนอทางธุรกิจ (48%)
ตรงกันข้ามกับซีอีโอทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และข้อมูลส่วนตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโฟกัสไปที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน และการสร้างกระแสเงินสดทันที ในขณะที่มองการสร้างมูลค่าและความยั่งยืนเป็นปัจจัยระยะกลางถึงระยะยาว
ด้านนาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ในส่วนของประเทศไทย ซีอีโอส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นไปในทิศทางเดียวกันกับซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตลดลง เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ผลกระทบจากสงคราม ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน ล้วนสร้างแรงกดดันต่อการทำธุรกิจ ซึ่งแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว และมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 20 ล้านคนก็ตาม ต้นทุนค่าไฟฟ้าและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแข่งขันของหลายๆ อุตสาหกรรม”
“สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนในปีนี้ เราน่าจะเห็นผู้บริหารหันมาแสวงหาโอกาสในการสร้างคุณค่าจากการหาพันธมิตร หรือการควบรวมกิจการเพื่อขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศที่ไม่ใช่ตลาดหลักมากขึ้น รวมไปถึงขยายผลิตภัณฑ์ และปรับกลยุทธ์การจัดหาใหม่ ที่มุ่งเน้นความสามารถในฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาโดยเร็ว” นาย ชาญชัย กล่าว