- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 13 June 2024 16:36
- Hits: 8185
โอกาสของผู้ประกอบการไทย จากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวของกัมพูชา : การพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ EP.1
โดย กฤตตฤณ เหล่าฤทธิ์
Krungthai COMPASS
Key Highlights
● แผนพัฒนาพลังงานกัมพูชา (PDP) ปี 2565-2583 เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว จะสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ การประมูลพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Solar Rooftop
● Krungthai COMPASS ประเมินว่าพนมเปญ กำปงฉนัง กำปงสปือ และกำปงธม เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการลงทุน นอกจากนี้ ประเมินว่าการลงทุนใช้เวลาคืนทุนราว 4.9-12.3 ปี และสร้างอัตราผลตอบแทน(IRR) อยู่ที่ราว 4.18%-19.35%
● Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ไทยที่สนใจเข้าร่วมการประมูลควรประเมินราคาเสนอขายไฟฟ้าที่เหมาะสมกับกิจการตนเอง รวมถึงตรวจสอบ ติดตามและเตรียมพร้อมด้านกฎระเบียบการประมูลและการดำเนินการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชา นอกจากนี้ ควรศึกษาเส้นทางและระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทำให้สามารถเสนอราคาเสนอขายไฟต่ำลงได้ โดยจะเพิ่มโอกาสในการชนะการประมูลแข่งขันราคาเพื่อดำเนินการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชา
ในปี 2566 IMF คาดการว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโต 5.3% และในช่วงปี 2567-2571 จะเติบโตเฉลี่ย 6.2% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นย่อมตามมาด้วยความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้นตามไปด้วย
ในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีสัดส่วนที่สูงถึงประมาณ 1 ใน 3 ของอุปทานกระแสไฟฟ้าของกัมพูชา ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดในกัมพูชา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ
ภาครัฐของกัมพูชาจึงได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมลพิษ สอดคล้องกับ International Energy Agency (IEA) ที่ชี้ว่า รัฐบาลกัมพูชาควรให้ความสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษจากภาคพลังงานอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากหลายตัวชี้วัดบ่งบอกว่า ทุกภาคส่วนในกัมพูชา ต้องเร่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้าน ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมโดยดัชนีชี้วัดด้านการขับเคลื่อน ESG ของกัมพูชาอยู่ลำดับที่ 103 จาก 166 ประเทศ จากดัชนี Business Information Industry Association (BIIA) ลำดับที่ 87 จาก 160 ประเทศและจากดัชนี Global Green Economy Index (GGEI) ที่ใช้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวจากบริษัท DUAL CITIZEN ในหลายด้าน อาทิ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากร
ภาครัฐของกัมพูชาตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว จึงได้จัดเตรียมนโยบายต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 โดยหนึ่งในนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญคือ การริเริ่มแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าฉบับล่าสุดของกัมพูชาที่เผยแพร่ในปี 2565 Power Development Masterplan (PDP) ปี 2565-2583 และนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานแห่งชาติ (National Energy Efficiency Policy หรือ NEEP) ซึ่งแสดงถึงการมีเป้าหมายที่ชัดเจนของกัมพูชาในการลดการปล่อยมลภาวะ ผ่านการส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคการผลิต
อีกทั้ง ภาคการเงินของกัมพูชากำลังร่วมกันสร้างการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อสนับสนุนกัมพูชาในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้น โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ได้ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อส่งเสริมการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในกัมพูชา
บทความฉบับนี้ Krungthai COMPASS จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่าน มาทำความรู้จักกับแผน PDP ของกัมพูชา และหาคำตอบร่วมกันว่าพลังงานสีเขียวรูปแบบใดจะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ก่อนที่จะลงในรายละเอียดผลตอบแทนและกระบวนการในด้านการลงทุนต่อไป
สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในกัมพูชาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากแผน PDP
ในปี 2565 กัมพูชาพึ่งพากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินในสัดส่วนถึง 22.8% แต่สัดส่วนดังกล่าวคาดลดลงอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายของแผน PDP โดยการผลิตพลังานไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งมีการปลดปล่อยมลภาวะสูง นับเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าลำดับที่ 2 ของประเทศรองจากพลังงานน้ำ ซึ่งมีสัดส่วนกำลังการผลิต 29.8% ของอุปทานกระแสไฟฟ้าของกัมพูชาทั้งหมด
แผนแม่บทการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (Power Development Masterplan: PDP) หรือแผนการจัดการพลังงานไฟฟ้าระยะยาว 18 ปี (ปี 2565-2583) เพื่อสร้างความมั่นคงและเพียงพอของกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในกัมพูชาจึงมีการกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมพลังงานสีเขียวภายในประเทศ ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งแบ่งการลงทุนเป็น 2 ช่วง คือ ปี 2565-68 ซึ่งทำสัญญาลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแล้ว และปี 2569-83 ที่อยู่ระหว่างเปิดรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุน
โดยตามแผน PDP ของกัมพูชาต้องการยุติการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใหม่หลังจากปี 2567 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจะลดลงต่อเนื่องจาก 22.8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศและไฟฟ้านำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ในปี 2565 เหลือเพียง 15.6% ในปี 2583
พลังงานสีเขียวจะเข้ามามีบทบาทในภาคการผลิตไฟฟ้าของกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ตามแนวทางของแผน PDP โดยพลังงานสีเขียวทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นราว 4,600 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมราว 2.1 แสนล้านบาท ภายในช่วงปี 2569-83[1] โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 2,450 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำราว 1,600 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงานสีเขียว Battery Energy Storage System (BESS) 400 เมกะวัตต์ และพลังงานชีวมวล 150 เมกะวัตต์
พลังงานแสงอาทิตย์จะมีบทบาทมากที่สุด โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตราว 2,450 เมกะวัตต์ คาดมูลค่าการลงทุนราว 4.8 หมื่นล้านบาท โดยมาจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 39 แห่งที่จะกระจายอยู่ใน 10 จังหวัดและ 1 เขตปกครองพิเศษ จากทั้งหมด 25 จังหวัดของกัมพูชา ซึ่งแผนฯ นี้ ยังไม่นับรวมการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก การติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาอาคารหรือที่อยู่อาศัย (Solar Rooftop)
โดย 10 จังหวัด และ 1 เขตปกครองพิเศษที่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ได้แก่ กำปงฉนัง กำปงธม กำปงสปือ กำปงจาม โพธิสัตว์ สวายเรียง บันเตียเมียนเจย พระตะบอง เสียมเรียบ ไพรแวง และเขตปกครองพิเศษพนมเปญ
กำปงฉนังเป็นจังหวัดที่มีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตรวม 460 เมกะวัตต์ จาก 6 โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ นับว่ามีแผนกำลังการผลิตมากที่สุดในทุกจังหวัด โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของกัมพูชา มีพื้นที่ติดกับโตนเลสาบ รองลงมาได้แก่ กำปงธม เป็นจังหวัดมีพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของกัมพูชา(รองจากจังหวัดมณฑลคีรี) มีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตรวม 370 เมกะวัตต์จาก 5 โครงการ
นอกจากนี้ ในแผนเพิ่มกำลังการผลิตยังมี บันเตียเมียนเจย ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญในการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกระหว่างกัมพูชาและไทย ผ่านพรมแดนอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วประเทศไทยบันเตียเมียนเจยมีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ จาก 2 โครงการ
นอกเหนือจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ภาครัฐกัมพูชายังมีการปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ Solar Rooftop ในกัมพูชา อาทิ การอนุมัติให้ผู้ติดตั้ง Solar Rooftop สามารถป้อนไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าของประเทศได้ ซึ่งแม้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์ในการคำนวณราคาขายไฟคืนให้ภาครัฐ แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับขายไฟคืนให้ภาครัฐในระยะถัดไป และคาดว่าภาครัฐของกัมพูชาจะมีการจัดทำนโยบายดอกเบี้ยต่ำสำหรับครัวเรือนหรือธุรกิจที่ต้องการติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาคประชาชนและธุรกิจให้หันมาติดตั้ง Solar Rooftop มากขึ้น โดยตัวอย่างภาคประชาชนมีการติดตั้ง Solar Rooftop ในกัมพูชามี เช่น การติดตั้งในฟาร์มเลี้ยงสุกรเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าในช่วงที่ค่าไฟสูง
Krungthai COMPASS จึงมองว่าการผลักดันการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของกัมพูชา จะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การลงทุนในการพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และ 2.การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ Solar Rooftop โดยบทความในส่วนถัดไปจะเน้นรายละเอียดในส่วนการลงทุนในการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และจะกล่าวถึงการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ Solar Rooftop ในฉบับถัดไป
สำหรับนักลงทุนไทย จังหวัดใดในกัมพูชามีความเหมาะสมในการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์?
จากการศึกษาและประเมินจังหวัดที่มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในแผน PDP ทั้งหมด 11 จังหวัดของกัมพูชา Krungthai COMPASS ประเมินว่า 4 จังหวัด ได้แก่ พนมเปญ กำปงฉนัง กำปงสปือ และกำปงธม เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ สำหรับนักลงทุนไทย
ในการพิจารณาดังกล่าวใช้การประเมินจาก 3 ด้าน ได้แก่
1. แผนกำลังการผลิตรวมของแต่ละจังหวัด ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ไฟฟ้าในแต่ละจังหวัดของกัมพูชา ให้น้ำหนัก 35% โดยมาจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 39 แห่งที่จะกระจายอยู่ใน 11 จังหวัดของกัมพูชา ในช่วงปี 2569-2583
2. ค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ต่อพื้นที่(Global horizontal Irradiance: GHI) ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าในแต่ละจังหวัดของกัมพูชา ให้น้ำหนัก 35% โดยจากงานศึกษาของ World Bank พบว่าในพื้นตอนกลางของกัมพูชามีค่า GHI สูงถึง 5.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ตารางเมตร ทำให้การตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในพื้นที่ดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าพื้นที่อื่น และส่งผลให้มีกำไรจากการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้มากกว่าพื้นที่อื่นด้วย
3. ระยะห่างของแต่ละจังหวัดในกัมพูชากับท่าเรือสีหนุวิลล์ ซึ่งมีผลต่อการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์การก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ให้น้ำหนัก 30% โดยใช้ระยะทางจากท่าเรือสีหนุวิลล์กับแต่ละจังหวัด โดยเป็นท่าเรือน้ำลึกระหว่างประเทศและท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาซึ่งใช้ในการรองรับและขนส่งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำเข้าจากจีน[2] สำหรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ซึ่งนับว่าเป็นอุปกรณ์หลักของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์
ซึ่งจากการประเมิน พบว่า 4 จังหวัด ได้แก่พนมเปญ กำปงฉนัง กำปงสปือ และกำปงธม เป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ สำหรับนักลงทุนไทย โดยมีแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างมาก ตั้งแต่ 260-460 เมกะวัตต์ อีกทั้งล้วนเป็นจังหวัดในพื้นที่ๆ มีค่าความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ต่อพื้นที่ (GHI)
พนมเปญและกำปงฉนังนับว่าเป็นจังหวัดมีความโดดเด่นมากที่สุดใน 4 จังหวัดศักยภาพ โดยพนมเปญเป็นเมืองหลวงของกัมพูชา มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 260 เมกะวัตต์ จาก 4 โครงการโรงไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 50-100 เมกะวัตต์ต่อแห่ง โดยพนมเปญมีระยะห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ 214 กิโลเมตร
และกำปงฉนัง ที่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิต 460 เมกะวัตต์ นับว่ามีแผนเพิ่มกำลังการผลิตมากที่สุดในกัมพูชาโดยมจากทั้งหมด 6 โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ อันดับรองลงมาได้แก่ กำปงสปือและกำปงธมที่มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต 310 และ 370 เมกะวัตต์ตามลำดับ โดยสองจังหวัดนี้เป็นจังหวัดในพื้นที่ตอนกลาง ของกัมพูชามีพื้นที่ติดกับโตนเลสาบ นอกจากนี้ กำปงสปือ ถือเป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจในด้านของระยะห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์เพียง 165 กิโลเมตร นับว่าใกล้ที่สุดในทุกจังหวัดที่แผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม หากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของกัมพูชามีการเปลี่ยนแปลงแผนการขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ในแผนฯ ฉบับถัดไป อาจส่งผลต่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์แห่งใหม่ในอนาคต
การลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชามีกระบวนการอย่างไร?
การลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ทุกโครงการจะต้องได้รับการอนุมัติจากการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา(Electricité du Cambodge: EDC) ซึ่งประเภทโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ต้องผ่านการอนุมัติจากการไฟฟ้าแห่งกัมพูชาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. โครงการที่การไฟฟ้าแห่งกัมพูชาเป็นผู้วางแผนกำลังการผลิตเอง (โครงการตามแผน PDP ทั้ง 39 โครงการ) ซึ่งผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่สนใจลงทุนในกัมพูชาต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.1 ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เรียกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer: IPP) ต้องจัดทำเอกสารการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าและเสนอราคาขายไฟฟ้า เพื่อใช้ในการประมูลแบบแข่งขันราคาต่ำสุดระดับสากล (International Least Cost Competitive Bidding) โดยการไฟฟ้าแห่งกัมพูชาเป็นผู้คัดเลือกผู้ชนะการประมูล
1.2 ผู้ชนะการประมูลจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement: PPA) ระยะเวลา 20 ปี และสัญญาเช่าที่ดินในการตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์กับการไฟฟ้าแห่งกัมพูชารวมถึงการทำสัญญาในการดำเนินการโรงไฟฟ้ากับกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กัมพูชา (Ministry of Mines and Energy :MME) เมื่อโรงไฟฟ้าเหล่านั้นแล้วเสร็จจะขายไฟในราคาที่ชนะการประมูลจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามวัน (Commercial Operation Date :COD)
2. โครงการที่อยู่นอกเหนือแผนของการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา ซึ่งผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนโดยตรงโดยมีการทำสัญญาในลักษณะเดียวกับข้อแรก แต่ไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันราคา ผู้ประกอบการต้องวางแผนกำลังการผลิตและรายละเอียดอื่นๆ ของโครงการ รวมถึงจัดหาที่ดินด้วยตนเอง เพื่อเสนอแผนต่อการไฟฟ้าแห่งกัมพูชาในการขอรับการพิจารณาตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ซึ่งมีกระบวนการซับซ้อนกว่ารูปแบบแรก
โดยการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่จัดโดยการไฟฟ้ากัมพูชาในปี 2562 มีการแข่งขันที่สูงเนื่องจากอุปสงค์คว้าโอกาสดำเนินการในโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่มีในกัมพูชา อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ National Solar Park เฟส 1 ขนาด 60 เมกะวัตต์ซึ่งถือเป็นโครงการแรกๆ ในกัมพูชาที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประมูลจากกัมพูชา และต่างชาติมีสิทธิเข้าร่วมประมูล ทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลถึง 26 ราย และผู้ชนะเสนอราคาขายไฟอยู่ที่ 1.42 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง (0.038 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง)
ดังนั้น การเสนอราคาประมูลขายไฟฟ้าย่อมมีผลต่อการได้สิทธิ์ตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ รวมถึงผลตอบแทนในการลงทุน ทั้งในด้านรายได้จากการขายไฟ ระยะเวลาคืนทุนเทียบกับอายุสัญญาขายไฟฟ้า 20 ปี รวมถึงผลตอบแทนเฉลี่ยปี (IRR) Krungthai COMPASS จึงจะวิเคราะห์ผลตอบ แทนในการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ตามช่วงราคา ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประมูลแบบแข่งขันราคาต่ำสุดในโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ตามแผน PDP กัมพูชา ในหัวข้อถัดไป
ผลตอบแทนในการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชา เป็นอย่างไร?
Krungthai COMPASS ประเมินราคาขายไฟฟ้าที่ช่วงราคา 1.42-2.80 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง[3] (0.038-0.076 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง) ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้ประมูลแบบแข่งขันราคาต่ำสุดของโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ตามแผน PDP กัมพูชา โดยโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชามีเงินลงทุนราว 19 ล้านบาท/เมกะวัตต์[4] มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ อาทิ ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้าอยู่ที่ราว 5 แสนบาท/แห่ง/ปี [5]และการลงทุนพลังงานสีเขียวในกัมพูชาจะได้ได้รับการยกเว้นกำไรภาษี 3-9 ปี และลดหย่อนต่ออีก 6 ปี โดยรายละเอียดพิจารณากรณีตัวอย่างของราคาเสนอประมูลเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 หากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เสนอราคาขายไฟอยู่ที่ 2.80 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง(0.076 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง) โดยอ้างอิงกรอบราคาขายไฟสูงสุดที่สามารถยื่นเสนอประมูลได้ในการประมูลโครงการโรงไฟฟ้า National Solar Park เฟส 2 ในกำปงฉนัง ปี 2564 ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากการขายไฟต่อปีราว 4.5 ล้านบาท ใช้เวลาคืนทุนที่ 4.9 ปี เมื่อเทียบกับอายุสัญญาขายไฟฟ้าที่ 20 ปี และสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (IRR) อยู่ที่ 19.35% เมื่อโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในโครงการดังกล่าว สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด
กรณีที่ 2 หากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เสนอราคาขายไฟประมูลอยู่ที่ 2.11 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง(0.057 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง) โดยเป็นราคาขายไฟเฉลี่ยของกรณี 1 และ 3 ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากการขายไฟต่อปีราว 3.48 ล้านบาท ใช้เวลาคืนทุนที่ 6.9 ปี เมื่อเทียบกับอายุสัญญาขายไฟฟ้าที่ 20 ปี และสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (IRR) อยู่ที่ 12.83%
กรณีที่ 3 หากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เสนอราคาขายไฟอยู่ที่ 1.42 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง(0.038 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง) โดยอ้างอิงราคาขายไฟของ บริษัท ไพรม์ โรด ผู้ชนะการประมูลแข่งขันราคาต่ำสุดของโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ National Solar Park เฟส 1 ขนาด 60 เมกะวัตต์ ในกำปงฉนัง ปี 2562 ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากการขายไฟต่อปีราว 2.35 ล้านบาท ใช้เวลาคืนทุนที่ 12.3 ปี เมื่อเทียบกับอายุสัญญาขายไฟฟ้าที่ 20 ปี และสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (IRR) อยู่ที่ 4.18%
Recommendation
ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลแบบแข่งขันราคาจึงควรมีการวิเคราะห์ Sensitivity Analysis โดยใช้แบบจำลองทางการเงินเพื่อประเมินราคาเสนอขายไฟฟ้าที่เหมาะสมกับกิจการตนเอง ตรวจสอบ ติดตามและเตรียมพร้อมด้านกฎระเบียบการประมูลและการดำเนินการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชา นอกจากนี้ ควรศึกษาเส้นทางและระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทำให้สามารถเสนอราคาเสนอขายไฟต่ำลงได้โดยจะเพิ่มโอกาสในการชนะการประมูลแข่งขันราคาเพื่อดำเนินการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชา
[1] นับโครงเฉพาะในช่วงปี 2569-2583 เนื่องจากเป็นโครงการที่ยังไม่มีการทำสัญญากับเอกชน
[2] ไทยและกัมพูชามีการนำเข้าแผงเซลล์แสงอาทิตย์จากจีนเป็นหลัก ในสินค้ากลุ่มแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งรวมทั้งแบบประกอบและยังไม่ประกอบเป็นโมดูล (ที่มา:TradeMap)
[3] คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 36.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (13 พ.ค. 2567)
[4] คำนวณจากเงินลงทุนของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้า แสงอาทิตย์ในกัมพูชาซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟเข้าระบบรัฐได้เป็นที่เรียบร้อย
[5] คำนวณจากข้อมูลของค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่ 0.7 แสนบาท/แห่ง/ปี และปรับตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของกัมพูชาที่ต่ำกว่าไทยราว 27%(ณ พ.ย. 2566) และปรับตามอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของกัมพูชาในช่วงปี 2556-66 (2.88%)
6387