WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

12622 KT Compas FIDF

สิ้นสุดการลดอัตราเงินนำส่ง FIDF ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขึ้นเต็มตัว

โดย ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์

Krungthai COMPASS

 

Key Highlights

          • ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ธปท. ได้ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) จากธนาคารพาณิชย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปี เป็นการชั่วคราว มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของระบบธนาคาร ซึ่งได้ส่งผ่านไปยังลูกหนี้ในวงกว้าง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M-Rate ทุกชนิดของธนาคารขนาดใหญ่ ลดลง 0.4% ในคราวเดียว 

          • เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย ธปท. จึงมองถึงความจำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยในระบบจะต้องปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวทางปรับขึ้น FIDF fee กลับไปสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2565

          • Krungthai COMPASS ประเมินว่าการสิ้นสุดมาตรการลด FIDF fee จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในระบบธนาคารเพิ่มขึ้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M-Rate ที่อาจจะเพิ่มขึ้นราว 0.4%-0.6% ได้ในคราวเดียว

          • การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบ แม้จะสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงด้านเครดิตแก่ระบบธนาคารในภาวะที่ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง 

 

          เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น ภายใต้ภาวะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเริ่มกระบวนการปรับนโยบายสู่ภาวะปกติ หรือ Policy Normalization มาตรการช่วยเหลือหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง (broad based) ในช่วงวิกฤต COVID-19 ทยอยสิ้นสุดลง มาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ก็เช่นกัน บทความนี้จะช่วยผู้อ่านทำความเข้าใจบทบาทของ FIDF Fee และจะวิเคราะห์ผลกระทบของการปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF Fee สู่ระดับปกติ ในบริบทของเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบ้น ที่แม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ทั่วถึงและยังเผชิญกับความไม่แน่นอนและปัจจัยความเสี่ยงที่มีอยู่เบื้องหน้า

 

          โดยปกติ สถาบันการเงินต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน FIDF ปีละ 0.46% ของฐานเงินฝาก 

 

          ในภาวะปกติ สถาบันการเงินจะต้องนำส่งเงินสมทบให้แก่ ธปท. เพื่อเข้าบัญชีสะสมสำหรับการชำระคืนต้นเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของกองทุน FIDF (FIDF Fee) ในอัตรา 0.46% ต่อปีจากฐานเงินฝาก ซึ่งเป็นแหล่งเงินหลักในการชำระหนี้กองทุน FIDF โดยในปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2561-กันยายน 2562) ก่อนเกิด COVID-19 สถาบันการเงินได้นำส่งเงินสมทบแก่ ธปท. จำนวน 6.38 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยของกองทุนฯ อย่างไรก็ดี หลังจากที่ ธปท. ลดอัตรานำส่ง FIDF ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนกราคม 2563 ทำให้ยอดเงินนำส่งจากสถาบันการเงินในปีงบประมาณ 2562 และ 2563 ลดลงจากปีงบประมาณ 2561 เหลือเพียง 4.6 หมื่นล้านบาท และ 3.5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ (รูปที่ 1)

 

12622 KT Compas 01

 

          สอดคล้องกับสัดส่วนยอดเงินนำส่งสะสมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ของสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุน FIDF ที่ลดลงจาก 63.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มาอยู่ที่ 62% และ 61.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 และ 2564 ตามลำดับ (รูปที่ 2) อย่างไรก็ดีในช่วงที่มีการลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินนั้น ได้มีการนำส่งเงินจากกองทุนฯ และบัญชีผลประโยชน์ของ ธปท. เพิ่มขึ้นกว่าปกติ จึงทำให้ยอดหนี้คงค้างของกองทุน FIDF ลดลงราว 1 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562

 

12622 KT Compas 02

 

          ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ธปท. ได้ลดอัตราเงินนำส่ง FIDF ในปี 2563-2565 หนุนธนาคารลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

 

          สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง เป็นผลจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งทำให้รายได้และกำลังซื้อลดลง ธปท. จึงออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและครัวเรือนลง ด้วยการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฯ (FIDF Fee) เป็นการชั่วคราว จาก 0.46% ต่อปี เป็น 0.23% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2564 และได้มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปี 2565 

          ด้วยภาระต้นทุนทางการเงินของธนาคารจากการนำส่งเงินสมทบ FIDF Fee ลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมประเภทต่างๆ โดยเฉลี่ยปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 (รูปที่ 3) โดยที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M-Rate ลง 0.4% ทันทีภายหลัง ธปท. ออกมาตรการข้างต้น

          โดยลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่มีสัญญาเงินกู้ผูกกับอัตราดอกเบี้ยกลุ่ม M-Rate จะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายน้อยลง จากการประเมินของ ธปท. ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราเงินนำส่ง FIDF Fee ครอบคลุมลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยจำนวนรวมกัน 1.38 ล้านรายซึ่งมียอดหนี้คงค้างรวมกัน 5.57 ล้านล้านบาท (รูปที่ 4) โดยรวมแล้ว จะช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ถูกกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤต COVID-19 ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2563

          แม้ว่ามาตรการลดอัตราเงินนำส่ง FIDF จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจและประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจถูกกระทบรุนแรงจากวิกฤต COVID-19 แต่การลดอัตราเงินนำส่ง FIDF Fee ก็ต้องแลกมาด้วยการล้างหนี้กองทุน FIDF ที่จะช้าลงกว่าที่เคยคาดไว้

 

12622 KT Compas 03

 

12622 KT Compas 04

 

          สิ้นสุดการต่ออายุ…เก็บ FIDF Fee เต็มจำนวนตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 เป็นต้นไป เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัว

 

          ธปท. ประกาศปรับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้างเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ของปี และยืนยันที่จะสิ้นสุดการลด FIDF Fee ภายในปี 2565 ซึ่งแปลว่าระบบธนาคารจะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน FIDF เต็มจำนวนที่อัตรา 0.46% ต่อปี คิดจากฐานเงินฝาก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป จากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF ที่อัตรา 0.23% ต่อปี 

          การปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติของ ธปท. เป็นผลสืบเนื่องจากมุมมองเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 3.7% ในปี 2566 และ 3.9% ในปี 2567 จากปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโตที่ 3.2% โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจรวมไปถึงการจ้างงานและรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นซึ่งจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.3% ในปี 2565 และ 3% ในปี 2566 โดยที่อัตราเงินเฟ้อจะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในระยะข้างหน้า

          อนึ่ง การปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ของฐานเงินฝากในคราวเดียว จะทำให้ต้นทุนในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการส่งผ่านนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในกลุ่ม M-Rate ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว

          ผลที่ตามมา คือ อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากการปรับ FIDF Fee และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ภาคธุรกิจและประชาชนจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและรายย่อยที่จ่ายดอกเบี้ยอิงกับอัตราดอกเบี้ย MRR ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนรายลูกค้ารวมกันสูงถึง 91%

 

12622 KT Compas 05

 

          ดอกเบี้ยขึ้น แม้จะสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงด้านเครดิต

 

          ทิศทางดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงด้านเครดิตแก่ระบบธนาคารในภาวะที่ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง 

          ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 3/2565 คุณภาพสินเชื่อในภาพรวมดีขึ้น จากการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้และการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio หรือ Stage 3) ลดลงต่อเนื่องจาก 3.14% ในไตรมาส 3/2564 มาอยู่ที่ 2.77% ในไตรมาส 3/2565 แต่มีประเด็นน่ากังวลในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage 2) ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.26% ในไตรมาส 3/2565 จาก 6.09% ในไตรมาสก่อนหน้า

          ประกอบกับข้อมูลล่าสุดของบริษัท ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ชี้ว่าปัญหาหนี้มีปัญหายังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงและต้องติดตามต่อเนื่อง โดยพบว่ามีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วันจากผลกระทบของ COVID-19 เพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านรายในเดือนมกราคม 2565 เป็นประมาณ 3.2 ล้านราย ในเดือนกันยายน 2565 โดยในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ราว 4.24 แสนราย เพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนรายในเดือนมกราคม 2565 นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ประสบปัญหาในการชำระหนี้ 1 เดือน และ 2 เดือนขึ้นไป ยังคงเพิ่มขึ้นแม้ COVID-19 จะคลี่คลายลงแล้ว 

          โดยรวมแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังมีความเปราะบาง อีกทั้งภาระทางการเงินของลูกหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่กล่าวก่อนหน้า ฉะนั้น ธนาคารพาณิชย์โดยรวมจึงยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงการเปลี่ยนผ่านและความสนับสนุนการปรับตัวที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตต่อระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์จะยังคงมีการกันสำรองหนี้ด้อยคุณภาพไว้ในระดับสูงเพื่อสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพและความสามารถในการรองรับคุณภาพสินเชื่อแม้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของ ธปท. จะทยอยสิ้นสุดลงในระยะข้างหน้า

 

Implication:

          การปรับอัตราเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์เข้ากองทุน FIDF กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปีในคราวเดียวตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2566 จากที่นำส่งที่อัตรา 0.23% ในช่วงปี 2563-2565 จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในกลุ่ม M-Rate ประมาณ 0.4-0.6% ในคราวเดียว โดยผลกระทบของภาระต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นจะกระจุกตัวสูงในกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่มีสัญญาเงินกู้ยืมผูกกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนรายลูกค้ารวมกันถึง 91% 

          แม้ ธปท. จะต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในระบบเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องไปกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ แต่ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แฝงมากับความสามารถในการชำระหนี้ที่ยังเปราะบาง ต้นทุนทางการเงินของผู้กู้จะสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ ฉะนั้น ผู้ที่มีภาระผ่อนจ่ายจากการกู้เงินจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่การวางแผนการใช้จ่าย ลดหนี้สิน และบริหารการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม สำหรับธนาคารพาณิชย์เอง ก็จะให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ และลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อให้สามารถกลับมาพลิกฟื้นและเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งให้ความสนับสนุนเงินทุนแก่ภาคธุรกิจในการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับบริบทโลกใหม่และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 
A12622

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100ais 720x100BANPU 720x100TU720x100sme 720x100

QIC 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!