- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 25 January 2023 20:44
- Hits: 2219
Textile Recycling เจาะเทรนด์แปลงขยะสู่เสื้อผ้ารักษ์โลก
โดย สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์
Krungthai COMPASS
Key Highlights
• Krungthai COMPASS มองว่า Textile Recycling หรือเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอจะเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการแฟชั่น โดยในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกคาดว่าจะสูงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.7%CAGR จากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนมูลค่าตลาด Textile Recycling ของไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท หรือราว 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทย
• การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิลจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อยืดจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จะช่วยให้ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 3% ต่อตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรของเสื้อยืดทั่วไป นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมากถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 45% ต่อปี
• อย่างไรก็ดี ความท้าทายหลักในตลาด Textile Recycling สำหรับผู้ประกอบการไทย คือ ปัญหาความไม่แน่นอนของอุปทานเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล Krungthai COMPASS จึงมองว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100%
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับที่ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง เมื่อเทียบจากการใช้วัตถุดิบและน้ำในขั้นตอนการผลิตที่มีปริมาณสูง ทำให้วงการแฟชั่นทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับเทรนด์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทเสื้อผ้าชั้นนำร่วมลงนามและสนับสนุนกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Fashion Industry Charter for Climate Action) โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ทำให้ในระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเสื้อผ้าต่างๆ เริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล (Textile Recycling) บทความนี้จึงจะนำทุกท่านไป ทำความรู้จักกับ Textile Recycling ให้มากขึ้น และตอบคำถามว่าเพราะเหตุใด Textile Recycling จะเข้ามาเป็นเทรนด์ใหม่ของวงการแฟชั่นในอนาคต
กระบวนการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงราว 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางทะเลรวมกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศที่มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียพึ่งพาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก กอปรกับการเติบโตของ Fast Fashion หรือเสื้อผ้าตามกระแสนิยมที่มีราคาถูกด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้สามารถผลิตในปริมาณที่มากและรวดเร็ว ซึ่งส่งให้มลพิษที่ปลดปล่อยจากการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้นตามไปด้วย โดยจากงานวิจัยของ Quantis (2018) พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่มาจากกระบวนการย้อมสีและตกแต่งสำเร็จ (36%) เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การเตรียมเส้นด้ายหรือการปั่น (28%) การผลิตเส้นใย (15%) และการเตรียมผ้าหรือการถักทอ (12%) (รูปที่ 1)
นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการใช้น้ำจำนวนมาก ตั้งแต่การใช้น้ำเพื่อการเกษตรไปจนถึงการใช้น้ำในการย้อมสีและตกแต่ง โดยจากรายงานของ UNESCO-IHE ชี้ว่า การผลิตเสื้อยืด 1 ตัวต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร เทียบเท่าปริมาณน้ำสำหรับบริโภคต่อคนได้เกือบ 3 ปี อีกทั้ง การใช้สารเคมีในการฟอกย้อมสียังก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำกว่า 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก ขณะที่การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการปลูกฝ้ายและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งในอนาคต ความต้องการเสื้อผ้าที่สูงขึ้นตามกำลังซื้อของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิตเสื้อผ้ามากขึ้น และยิ่งจะส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามไปด้วย (รูปที่ 2)
ทำความรู้จักกับ Textile Recycling
Textile Recycling คือ เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากขยะสิ่งทอ โดยวัสดุที่ใช้สำหรับการรีไซเคิลสิ่งทอสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ขยะสิ่งทอก่อนการบริโภค (Pre-consumer) ส่วนใหญ่เป็นเศษด้ายและเศษผ้าที่เหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
2. ขยะสิ่งทอหลังการบริโภค (Post-consumer) คือ สิ่งทอที่ถูกทิ้ง เสื่อมสภาพหรือผ่านการใช้งานแล้ว เช่น เสื้อผ้าเก่า และของใช้ในบ้านต่างๆ
กระบวนการผลิต Textile Recycling จะเริ่มจากการนำวัสดุของแข็งที่ติดมากับเสื้อผ้าออก เช่น กระดุมและซิป แล้วนำขยะสิ่งทอมาตัดหรือฉีกออกเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจะทำการคัดแยกเฉดสีเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ โดยการนำเอาตัวทำละลายที่เหมาะสมกับเส้นใยแต่ละชนิดมาทำละลายเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม แล้วอัดขึ้นรูปเพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยรีไซเคิลสำหรับผลิตเสื้อผ้าใหม่หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดี เสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลได้ 100% เนื่องจากส่วนประกอบและเส้นใยของเสื้อผ้ามีความหลากหลาย ซึ่งเส้นใยแต่ละชนิดมีความสามารถในการรีไซเคิลต่างกัน อีกทั้งกระบวนการรีไซเคิลสิ่งทอจะส่งผลให้ความยาวของเส้นใยสั้นลง จึงต้องทำการผสมกับเส้นใยบริสุทธิ์ในสัดส่วนราว 30-50% เพื่อให้เส้นใยมีคุณภาพมากขึ้น
โดยทั่วไป เสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลยังคงมีราคาแพงกว่าเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยบริสุทธิ์ เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการคัดแยกส่วนประกอบและสีของเสื้อผ้า เพื่อให้ได้วัตถุดิบตั้งต้นที่สม่ำเสมอสำหรับการรีไซเคิล ทำให้การประหยัดต้นทุนต่อหน่วย (Economies of Scale) ทำได้ค่อนข้างยาก กอปรกับต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อรีไซเคิลสิ่งทอยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นทุนในการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใย รีไซเคิลจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ สนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้า รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลในราคาที่สูงขึ้น ทำให้ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการเสื้อผ้าทั้งในต่างประเทศและผู้ประกอบการไทยออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งบางบริษัทมีเป้าหมายการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้ารีไซเคิล 100% ในช่วง 3-8 ปีข้างหน้า เช่น Zara และ H&M เป็นต้น (ตารางที่ 1)
ทำไมตลาด Textile Recycling จึงมีความน่าสนใจ
Textile Recycling เป็นแนวทางที่สอดรับกับ BCG Model ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคในแง่ของการรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ผลิตทั้งในด้านการลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาวัตถุดิบ รวมถึงเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ซึ่งจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ตอบโจทย์กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม
การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าทั่วไป ทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดิน รวมทั้งลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและสารเคมีในการฟอกย้อมสี ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยของ Shameek Vats, Marja Rissanen (2016) ที่ชี้ว่า การใช้ขยะสิ่งทอทุกๆ 1 กิโลกรัมสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ราว 3.6 kgCO2e รวมทั้งช่วยประหยัดน้ำ 6,000 ลิตร ปุ๋ยเคมี 0.3 กิโลกรัม และยาฆ่าแมลง 0.2 กิโลกรัม นอกจากนี้ ที่ดินสำหรับปลูกฝ้ายยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอื่นๆ สอดคล้องกับงานวิจัยของ Toshiro Semba, Yuji Sakai (2020) ชี้ว่า การรีไซเคิลเสื้อผ้าที่ใช้แล้วทุกๆ 1 กิโลกรัมสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ราว 3.2-6.7 kgCO2e (ตารางที่ 2)
ซึ่งในปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคสนใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเติบโตของ Textile Recycling สะท้อนจากผลสำรวจของ McKinsey & Company (2022) ชี้ว่า 54% ของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ Eurobarometer (2020) ชี้ว่า 77% ของผู้บริโภคชาวสหภาพยุโรปส่งเสริมการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล ขณะที่ผลสำรวจของ PR Newswire (2019) ชี้ว่า 83% ของผู้บริโภคชาวจีนจะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล เป็นต้น (รูปที่ 4) นอกจากนี้ ผลสำรวจของ The European Apparel and Textile Confederation (2022) ชี้ว่า เกือบครึ่งของผู้บริหารแบรนด์เสื้อผ้าค้าปลีกในยุโรป คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ามากกว่า 30% ที่ผลิตมาจากเส้นใยรีไซเคิลภายในปี 2568 ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดของ Textile Recycling มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต
2. ลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบเสื้อผ้าที่มีความผันผวน
การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรอย่างฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเสื้อผ้าทั่วโลก เนื่องจากการเพาะปลูกฝ้ายจำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมาก ทำให้ราคาฝ้ายมีความผันผวนและยังอยู่ในระดับสูง (รูปที่ 5) สะท้อนจากประมาณการของ World Bank ที่คาดว่า ราคาฝ้ายเฉลี่ยของโลกในช่วงปี 2566-2578 จะอยู่ที่ราว 2.2-2.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2564 ซึ่งอยู่ที่ 1.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ไทยจำเป็นต้องนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯ อินเดีย และจีนมากถึง 99% ของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมดเพื่อนำมาผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากไทยผลิตฝ้ายได้เพียงปีละประมาณ 1,200 ตันเท่านั้น
3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต
เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจะทำให้การรีไซเคิลสิ่งทอมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก ได้แก่ การรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical recycling) เป็นการรีไซเคิลด้วยการตัดและการบด ซึ่งใช้พลังงานต่ำและประหยัดต้นทุน แต่เส้นใยรีไซเคิลจะมีคุณภาพต่ำ ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ผ้าสำหรับทำความสะอาด วัสดุบุรอง เป็นต้น และการรีไซเคิลเชิงเคมี (Chemical recycling) เป็นการรีไซเคิลที่ใช้กระบวนการทางเคมีด้วยตัวทำละลาย ซึ่งกระบวนการต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงกว่าการรีไซเคิลเชิงกล แต่เส้นใยรีไซเคิลจะมีคุณภาพใกล้เคียงกับเส้นใยบริสุทธิ์ (ตารางที่ 3)
นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากจะเป็นปัจจัยเร่งต่อการเติบโตของธุรกิจ Textile Recycling และจะทำให้ต้นทุนในการรีไซเคิลสิ่งทอมีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลจาก Dealroom พบว่า มูลค่าเงินลงทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ในกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวกับ Textile Recycling เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 มีเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มีมูลค่าเพียง 569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 287%YoY (รูปที่ 6) ซึ่งจะช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีเทคโนโลยีในการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลที่หลากหลายมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีบริษัทที่นำเทคโนโลยีรีไซเคิลเสื้อผ้ามาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น บริษัท Circ ซึ่งเป็นบริษัท Startup สัญชาติสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจ Textile Recycling ระดมทุนราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.05 พันล้านบาท) สำหรับเทคโนโลยีการรีไซเคิลเส้นใยผสม (Textile-blend recycling) ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยใหม่ที่มีคุณภาพสูงตามสัดส่วนที่ต้องการ
มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกจะใหญ่แค่ไหน
ในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.6 แสนล้านบาท) จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.7%CAGR (รูปที่ 7) ตามรายงานของ Future Market Insights (2022) ความกังวลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กอปรกับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอจะเป็นปัจจัยเร่งให้มูลค่าตลาด Textile Recycling เติบโตมากขึ้น โดยในปี 2565 ตลาดรีไซเคิลเสื้อผ้าในยุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดราว 26% และ 24% ตามลำดับ ส่วนตลาดรีไซเคิลเสื้อผ้าในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเติบโตเร็วที่สุดในช่วงปี 2565-2575 โดยเฉพาะตลาดรีไซเคิลเสื้อผ้าในอินเดียและจีน มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยถึง 15.2%CAGR และ 13.6%CAGR ตามลำดับ เนื่องจากบริษัท Startup ในอินเดียมีการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลเสื้อผ้ามากขึ้น ขณะที่จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดหาสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้เอื้อต่อการนำสิ่งทอกลับมาผลิตใหม่ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ
สำหรับประเทศไทย Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling จะอยู่ที่ราว 1.3 พันล้านบาท หรือราว 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทย ซึ่งจะอยู่ที่ราว 258.2 พันล้านบาท โดยมีวิธีประเมิน ดังนี้
1) ประเมินมูลค่าตลาด Textile Recycling ของไทยในปี 2575 โดยใช้มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกในปี 2575 ซึ่งอยู่ที่ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสัดส่วนมูลค่าตลาด Textile Recycling ของเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอ้างอิงจาก Grand View Research (2022) ที่ระบุว่ามูลค่าตลาด Textile Recycling ของเอเชียแปซิฟิก คิดเป็นสัดส่วน 21.5% ของมูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลก หรืออยู่ที่ราว 3,440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำหนดให้มูลค่าตลาด Textile Recycling ของแต่ละประเทศในเอเชียเป็นสัดส่วนเดียวกับความต้องการบริโภคเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืนของแต่ละประเทศในเอเชีย (Sustainable Apparel Share) แล้วจึงประเมินมูลค่าตลาด Textile Recycling ของเอเชียแปซิฟิกในปี 2575 ด้วยสัดส่วนความต้องการบริโภคเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืนของไทยต่อความต้องการบริโภคเสื้อผ้าที่มีความยั่งยืนของเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ 1.05% โดยอ้างอิงจาก Statista Global Consumer Survey (2021) จะทำให้ได้มูลค่าตลาด Textile Recycling ของไทยอยู่ที่ราว 36 ล้านเหรียญสรัฐฯ หรือเท่ากับ 1.3 พันล้านบาท (กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 35 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ)
2) ประเมินมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทยในปี 2575 อยู่ที่ราว 258.2 พันล้านบาท โดยใช้ประมาณการของปริมาณการจำหน่ายเสื้อผ้าและราคาเสื้อผ้าเฉลี่ยของไทย ซึ่งอ้างอิงจาก Statista
หากผู้ประกอบการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยหันมาใช้ Textile Recycling มากขึ้นจะส่งผลอย่างไร
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิลจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อยืดจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จะช่วยให้ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 3%/ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรของเสื้อยืดทั่วไป โดยราคาขายจริงเฉลี่ยในตลาดของเสื้อยืดทั่วไปอยู่ที่ 400 บาท/ตัว ส่วนต้นทุนของการผลิตเสื้อยืดทั่วไปจะอยู่ที่ราว 45% ของราคาขาย หรือ 180 บาท/ตัว ซึ่งต้นทุนของวัตถุดิบเส้นใยคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวมหรือ 36 บาท/ตัว และต้นทุนอื่นๆ อยู่ที่ 144 บาท/ตัว ทำให้กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 220 บาท/ตัว หรือ 55%/ตัว ขณะที่เสื้อยืดที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลมีราคาขายอยู่ที่ราว 450 บาท/ตัว แต่ต้นทุนวัตถุดิบเส้นใยรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้น 30% จากเสื้อยืดทั่วไปเป็น 46.8 บาท/ตัว และเมื่อต้นทุนอื่นๆ คงที่อยู่ที่ 144 บาท/ตัว ทำให้ผู้ผลิตมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 259.2 บาท/ตัว หรือ 58%/ตัว ซึ่งมากกว่ากำไรของการผลิตเสื้อยืดทั่วไปที่ 3%/ตัว (ตารางที่ 4)
นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิล 100% ยังช่วยลดปริมาณของการใช้น้ำมากถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 45% ต่อปี เนื่องจากการใช้เส้นใยรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอจะช่วยลดการปลูกฝ้าย และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตเส้นใยบริสุทธิ์ใหม่อีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทผลิตผ้าฝ้ายทอจากฝ้ายรีไซเคิล 100% โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 100,000 กิโลกรัมต่อปี จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ46 พันลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือราว 600,000-700,000 บาทต่อปี รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่าจำนวน 50,000 ต้น (รูปที่ 8)
Implication:
Krungthai COMPASS มองว่า แม้การผลิตเสื้อผ้า Textile Recycling จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อเทียบกับการผลิตเสื้อผ้าทั่วไปที่ใช้เส้นใยบริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคและความท้าทายที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องพิจารณา ดังนี้
ผู้ประกอบการไทย
• ความซ้บซ้อนของเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ในระยะนำร่อง (Pilot Scale) แต่มีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ และลงทุนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถเลือกเทคโนโลยีการรีไซเคิลที่เหมาะสมกับเส้นใยแต่ละชนิด ตลอดจนควรศึกษากฎระเบียบและการรับรองมาตรฐานของสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Thailand Textile Tag, Smart Fabric, ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และฉลากลดโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมในการส่งออกเสื้อผ้ารีไซเคิลที่อาจมีเงื่อนไขทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า
• ปัญหาความไม่แน่นอนของอุปทานเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล ปัจจุบันยังขาดกระบวนการรวบรวมและคัดแยกสิ่งทอที่เป็นระบบ กอปรกับเสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลได้ 100% ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุในการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% รวมทั้งรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่า ด้วยการรับบริจาคหรือรับซื้อเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้ามาผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท UNIQLO จัดทำโครงการ RE.UNIQLO เพื่อรวบรวมเสื้อผ้าที่ใช้แล้วจากลูกค้า โดยให้คูปองส่วนลดเงินสดตั้งแต่ 200-1,000 เยน (ประมาณ 50-250 บาท) ซึ่งเสื้อผ้าจะถูกนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรหลายรายในการนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วที่อยู่ในสภาพดีไปส่งมอบให้กับผู้ลี้ภัย ผู้ประสบภัยธรรมชาติ รวมถึงผู้ขาดแคลนทั่วโลก เป็นต้น
ภาครัฐ
• ขาดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ารีไซเคิลยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการใช้เสื้อผ้ารีไซเคิลในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น มาตรการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในการขายผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล มาตรการลดหย่อนภาษีประจำปีสำหรับลูกค้าที่นำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาบริจาคให้แก่ผู้ประกอบการ มาตรการสนับสนุน เงินลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เป็นต้น