WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

 

 

MTI 720x100

 

4522 KT Compass

Soft Power อาหารไทย ฟันเฟืองใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

โดย อภินันทร์ สู่ประเสริฐ

อังคณา สิทธิการ

Krungthai COMPASS

 

Key Highlights

          • อาหารไทยจะเป็น Soft Power ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ และไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก นอกจากนี้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

          • หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง คาดว่าในช่วงปี 2567-2573 จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมให้กับสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรส และกลุ่มอาหารพร้อมปรุงได้ราว 75,800 ล้านบาท (ราว 5.4% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด) ส่วนภาคการท่องเที่ยว จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมได้ราว 206,000 ล้านบาท (ราว 17.2% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) 

          • Krungthai COMPASS แนะนำ ภาครัฐควรเป็นแกนหลักในการโปรโมทอาหารไทยผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานวัตถุดิบ รสชาติ ไปจนถึงการต่อยอดอาหารไทยไปสู่อาหารที่สอดรับกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Foods) รวมทั้งการร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ตั้งแต่ผู้ประกอบการผลิตอาหาร และผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

 

          ในช่วงที่ผ่านมา “Soft Power” เป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและบริการ โดยศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้มีการให้คำนิยาม Soft Power ว่าคืออิทธิพลที่ไม่ได้มาจากการบังคับหรือใช้ความรุนแรง แต่โน้มน้าวผู้อื่นให้คล้อยตามด้วยเครื่องมือที่ไม่ใช่อาวุธ ในช่วงที่ผ่านมา Soft Power ถูกใช้เป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสินค้าและบริการที่นิยมนำมาใช้เป็น Soft Power ได้แก่ อาหาร ความบันเทิง ละคร ศิลปะ ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ที่มีการนำวัฒนธรรมด้านดนตรี (K-Pop) รวมทั้ง ละครและภาพยนตร์ (K-Drama) มาใช้ในการสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าของประเทศ หรือญี่ปุ่นที่นำเสนอ Cool Japan ซึ่งป็นนโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยใช้จุดเด่นของสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งกรณีล่าสุดที่นักร้องเกาหลีสัญชาติไทย อย่าง ลิซ่า แบล็กพิงค์ที่ได้ โพสต์รูปการรับประทานอาหารลงอินสตาแกรมส่วนตัว ส่งผลให้ในช่วงนั้นอาหารไทยถูกพูดถึงจนเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์

          ส่วนรัฐบาลไทยก็มีความพยายามผลักดัน Soft Power ในรูปแบบของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ และการผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม จาก 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2565 เป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี 2570 หรือ 15% ของ GDP ผ่านการผลักดันโครงการ 5F คือ 1) อาหาร (Food) 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4) มวยไทย (Fighting) และ 5) การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลและประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) 

          โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบสินค้าเกษตร สร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก ทำให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงไปในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทุกภาคส่วนฝากความหวังไว้ว่าจะเป็น Growth Engine หลักที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้อาหารไทยยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอาหารไทยต่อมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 18.3% สูงเป็นอันดับที่ 2 จากทั้งหมด 15 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (รูปที่ 1) คำถามน่าสนใจที่ตามมาคือ หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่องจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เท่าไร?

 

4522 KT Compass p01

 

          ทำไมอาหารถึงจะเป็น Soft Power สำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย?

          1. อาหารไทยเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ 

          อาหารไทยเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากบทความเรื่อง The 50 Best Soup และ The Best Traditional Dishes In The World In 2022 ของ TasteAtlas พบว่า ข้าวซอย ติดอันดับ 1 ของซุปที่ดีที่สุดในโลก และ แกง พะแนงติดอาหารที่ดีสุดในโลก ขณะที่นิตยสาร Reader’s Digest 2022 ให้ผัดไท ติดอันดับ 6 จาก 50 อันดับ อาหารต่างชาติที่เป็นที่นิยมของชาวสหรัฐ นอกจากนี้ บทความเรื่อง The 10 Most Popular International Cuisines In The UK ที่ชี้ว่า อาหารไทยติดอันดับ 3 ของอาหารที่เป็นที่นิยมของประชากรในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะแกงเขียวหวาน เช่นเดียวกับบทความของ CNN Travel (2022) เรื่อง The World’s 50 Best Foods ที่ระบุว่า แกงมัสมั่นเป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ บทความเรื่อง Most Popular Ethnic Foods From Around The World ของ Discovery Lifestyle (2021) ยังชี้ว่า อาหารไทยเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในโลกเพราะมีการผสมผสานรสชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เผ็ด หวาน เค็ม เป็นต้น และล่าสุดในปี 2023 ร้านอาหารไทยคว้าอันดับ 1 จากการประกาศรางวัล Asia’s 50 Best Restaurants ซึ่งการตัดสินรางวัลมาจากการโหวตของ นักวิจารณ์ เชฟ ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร อีกทั้งจากข้อมูลล่าสุดของ Michelin Guide พบว่า เมนูของร้านอาหารไทยที่ได้อันดับ 1 อย่างร้านอาหาร Le Du มีราคาถูกกว่าร้านอาหารอย่าง Sezanne จากญี่ปุ่นซึ่งคว้าอันดับที่ 2 เกือบครึ่ง สะท้อนถึงราคาที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ อาหารไทยเองก็เป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เป็นตัวชูโรงหลักและเป็น Soft Power ที่สำคัญในการสร้างจุดขายให้กับประเทศผ่านโครงการไทยสู่ครัวโลก เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำตลาดส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารจากประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และการยกระดับคุณภาพร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มีมาตรฐานผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ Thai SELECT 

 

4522 KT Compass p02

 

          2. ไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก 

          ไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับ 15 ของโลก เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบสินค้าเกษตรภายในประเทศ โดยในปี 2565 มูลค่าส่งออกอาหารของไทยอยู่ที่ 36,480 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) เฉพาะมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรส รวมถึงกลุ่มอาหารพร้อมปรุง อยู่ที่ 4,589 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 161,100 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของการส่งออกอาหารไทยทั้งหมด โดยตั้งแต่ปี 2554-2565 มูลค่าส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5.8% ต่อปี (รูปที่ 3)

 

4522 KT Compass p03

 

          3. สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

          อาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เห็นได้จากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 21.2% ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 405,000 ล้านบาท จากในปี 2557 ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 20.9% ของค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือมีมูลค่าประมาณ 356,603 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านที่พักและเพื่อซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง (รูปที่ 4)

 

4522 KT Compass p04

 

          อาหารไทยจะเป็น Soft Power ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกและการท่องเที่ยวไทยได้แค่ไหน?

          Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง จะสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมในช่วงปี 2567 ถึงปี 2573 ให้กับสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารไทย ทั้งกลุ่มวัตถุดิบ เช่น เครื่องปรุงรสและกลุ่มอาหารพร้อมปรุงได้ราว 75,800 ล้านบาท (คิดเป็นราว 5.4% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด) ส่วนภาคการท่องเที่ยว จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสะสมได้ราว 206,000 ล้านบาท (คิดเป็นราว 17.2% ของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) โดยในการประเมินมีสมมติฐานดังต่อไปนี้

          1) มูลค่าเพิ่มสะสมต่อการส่งออกอาหารไทย

          กรณีที่ 1 Business as usual 

          คาดว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 จะอยู่ที่ 8.3%CAGR ซึ่งเป็นการประเมินโดยหาสัดส่วนอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยกับอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2554-2565 จากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกรวมของไทยที่อ้างอิงข้อมูลจาก IMF เพื่อประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 (รูปที่ 5 บน) 

          กรณีที่ 2 ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง

          คาดว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 จะอยู่ที่ 9.5%CAGR ซึ่งประเมินโดยหาความได้เปรียบที่เพิ่มขึ้นในการส่งออกอาหารเกาหลีของเกาหลีใต้ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของเกาหลีใต้ในช่วงก่อนและหลังผลักดันอาหารให้เป็น Soft Power หลังจากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับข้อมูล 1) อัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมของไทย ในช่วงปี 2554-2565 และปี 2567-2573 และ 2) อัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกอาหารไทยในช่วงปี 2554-2565 เพื่อประมาณการอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567-2573 (รูปที่ 5 ล่าง) ทั้งนี้อัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมของไทย ในช่วงปี 2567-2573 ประมาณการโดยเทียบสัดส่วนกับอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกรวมของไทย ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก IMF 

          หลังจากนั้นนำมูลค่าการส่งออกอาหารของไทย ในปี 2566-2573 กรณีที่ 2 หักลบกับกรณี 1 จะได้มูลค่าเพิ่มสะสมให้กับมูลค่าส่งออกราว 75,800 ล้านบาท (รูปที่ 7)

 

4522 KT Compass p05

 

          2) มูลค่าเพิ่มสะสมต่อภาคการท่องเที่ยว

          กรณีที่ 1 Business as usual 

          คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 จะเพิ่มขึ้น 5.6%CAGR ซึ่งประเมินโดยหาสัดส่วนอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2554-2562 กับอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2554-2562 ของไทย จากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567-2573 ที่อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 (รูปที่ 6 บน)

          กรณีที่ 2 ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยให้เป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง

          คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 จะเพิ่มขึ้น 7.6%CAGR ซึ่งประเมินโดยเปรียบเทียบสัดส่วนของอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเกาหลีใต้ในช่วงก่อนและหลังผลักดันอาหารให้เป็น Soft Power จากนั้นใช้สัดส่วนที่คำนวณได้ ประกอบกับข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในช่วงปี 2554-2562 เพื่อประมาณการอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย ในปี 2567-2573 (รูปที่ 6 ล่าง)

          กำหนดให้ในปี 2566 ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อวันยังต่ำกว่าระดับปกติก่อนเกิด COVID-19 ในปี 2562 อยู่ที่ราว 1,144 บาทต่อคนต่อวัน หรือคิดเป็น 90% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 แล้วนำค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อวันในแต่ละกรณี ตั้งแต่ปี 2567-2573 คูณจำนวนวันที่พัก และคูณจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด เพื่อให้ได้มูลค่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม โดยจำนวนวันที่พักกำหนดให้อยู่ที่ 4.3 วัน (ค่าเฉลี่ยปี 2554-2562) ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 อยู่ที่ 36.6 ล้านคน และทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนปี 2030 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 65 ล้านคน หรือเติบโต 10%CAGR และนำมูลค่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมปี 2567-2573 ของกรณีที่ 2 หักลบกันกับกรณี 1 จะได้ส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่มสะสม ต่อภาคการท่องเที่ยวราว 206,000 ล้านบาท (รูปที่ 7)

 

4522 KT Compass p06

 

4522 KT Compass p07

 

          Krungthai COMPASS มองว่า ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

          ธุรกิจผลิตเครื่องปรุงรส โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ชูจุดขายวัตถุดิบของไทย เช่น น้ำพริก เครื่องแกง เครื่องต้มยำ ควบคู่กับการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ เช่น เครื่องปรุงรสที่ไม่ผสมผงชูรส เครื่องปรุงรสเติมวิตามิน และเครื่องปรุงรสลดโซเดียม หรือแม้กระทั่งเครื่องปรุงรสออร์แกนิก ที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านสุขภาพและเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          ธุรกิจผลิตอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ซึ่งเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการสะดวกและรวดเร็วในการรับประทาน อาทิ ข้าวหอมมะลิและกับข้าวพร้อมทานชนิดต่างๆ เช่น ผัดไทย ผัดกะเพรา หรือผัดแกงเขียวหวานพร้อมทาน 

          ธุรกิจร้านอาหารและร้านค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะร้านที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ลิซ่า แบล็กพิงค์ สมาชิกวงเกิร์ล กรุ๊ปชื่อดังที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับลูกชิ้นยืนกิน ส่งผลให้ยอดขายลูกชิ้นยืนกินในจังหวัดบุรีรัมย์เพิ่มอย่างมาก โดยจากข้อมูลของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ ประเมินว่า ยอดขายลูกชิ้นยืนกินในงานเทศกาลลูกชิ้นยืนของบุรีรัมย์มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท

          ธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่มีเมนูอาหารไทยแบบดั้งเดิม เช่น ต้มยำกุ้ง มัสมั่น ข้าวซอย เป็นต้น หรือมีการขายผ่านแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ 

          ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Foods Tourism หรือ Gastronomy Tourism) ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มนี้ที่มีแนวโน้มเติบโตเนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมอาหาร หรือเติมเต็มประสบการณ์และสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวอันหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารแต่ละท้องถิ่น

 

Implication:

          Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารไทย ดังต่อไปนี้

          ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเป็นแกนหลักในการโปรโมทอาหารไทยผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติ เพื่อโปรโมทสินค้าอาหารไทย อีกทั้งการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Food Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health and Wellness Tourism) โดยภาครัฐอาจเป็นตัวกลางในสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและธุรกิจท่องเที่ยว ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลดีทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเติบโตต่อเนื่อง ช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานและเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

          ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานวัตถุดิบ รสชาติ ไปจนถึงการต่อยอดอาหารไทย เช่น การพัฒนาสูตรอาหารโดยผสานวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างจุดขายให้กับอาหาร หรือพัฒนาไปสู่อาหารที่สอดรับกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคต Future Foods) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต สำหรับตัวอย่างของผู้ประกอบการที่เข้ามาทำตลาดนี้แล้ว ได้แก่ บริษัทเอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ที่ผลิตซอสแกงเขียวหวาน ซอสต้มยำ ซอสต้มข่า สำหรับผู้บริโภคที่รับประทานมังสวิรัติ หรือผู้บริโภคที่แพ้กลูเตน หรือ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเชฟช้อย จำกัด ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสผัดไทยที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ

          การร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ตั้งแต่ผู้ประกอบการผลิตอาหาร และผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจเครื่องปรุงรส ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่นในเกาหลีใต้ที่ผู้ประกอบการอาหารร่วมมือกับอุตสาหกรรมบันเทิง ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร โดยจะเห็นได้จากภาพยนตร์ เรื่อง Parasite ที่มีฉากตัวเอกของเรื่องรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์หนึ่ง ส่งผลให้มีผู้บริโภคบางส่วนอยากรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อนั้น ทำให้ในปีที่ภาพยนตร์ออกฉายนั้นยอดขายบะหมี่ยี่ห้อดังกล่าวมียอดขายทั่วโลกประมาณ 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 24%YoY

 

 

A4522

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!