- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 19 May 2023 11:35
- Hits: 2317
โครงการไฟฟ้าสีเขียว ปลุกชีพธุรกิจโซลาร์ไทย
โดย พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
Krungthai COMPASS
Key Highlights
• การรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านโครงการไฟฟ้าสีเขียวคาดเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากการขายไฟฟ้าในโครงการนี้ราว 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี (ราว 1.37 หมื่นล้านบาท/ปี)
• นอกจากนี้ โครงการไฟฟ้าสีเขียวจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเกี่ยวเนื่องราว 1.82 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวโดดเด่นที่สุด คือธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท
• โครงการไฟฟ้าสีเขียวจะช่วยให้ภาคเอกชนที่ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมไปยัง EU ประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอน 0.7% และ 0.6% ตามลำดับ (หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.4 ล้านบาท/ปี) สำหรับทุก 1 เมกะวัตต์ที่ซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในโครงการนี้ เพราะสามารถใช้ไฟฟ้าดังกล่าวในการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยัง EU ซึ่งช่วยลด Carbon footprint ของสินค้าเหล่านั้น จึงส่งผลให้ค่าธรรมเนียมคาร์บอนลดลงตาม
ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตดีในระยะยาว โดยคาดว่า ภายในปี 2569 สหภาพยุโรปจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนกับสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นำเข้าจากผู้ผลิตนอกสหภาพยุโรป เช่น เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์[1] อีกทั้ง ภาครัฐของไทยก็มีแผนที่จะเก็บภาษีคาร์บอนกับภาคเอกชนในอนาคต[2] ซึ่งจะกดดันให้ภาคเอกชนต้องปรับตัว และหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี [3]ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น[4]
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เพื่อรับรองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังานสะอาดของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในรอบแรก เบื้องต้นคาดว่าจะมีสัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี และรับซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวม 3,362 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 1) การรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 2,368 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.17 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 2) ส่วนที่เหลืออีก 994 เมกะวัตต์ จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ในราคารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.83 บาท/หน่วยไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2567-73 นอกจากนั้น โครงการนี้มีแนวโน้มจะทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นระยะเวลา 10-25 ปี พร้อมทั้ง ให้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ซึ่งสามารถใช้อ้างสิทธิ์การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กับผู้ประกอบการที่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ อีกด้วย[5]
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กล่าวมาในข้างต้นย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อีกทั้ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งจะวิเคราะห์ในบทความนี้
I. โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ช่วยหนุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ให้เติบโตมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ ?
การที่ภาครัฐได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจำนวน 3,362 เมกะวัตต์ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในระยะข้างหน้าราว 1.3 แสนล้านบาท และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าในโครงการนี้ราว 1.37 หมื่นล้านบาท/ปี
นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 1) โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ราว 7.48 หมื่นล้านบาท และ 2) โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานราว 5.3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น สามารถเพิ่มรายได้ทั้งหมดให้กับธุรกิจดังกล่าวราว 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้าในโครงการไฟฟ้าสีเขียวที่ 25 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1.37 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 38% ของมูลค่าตลาดโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในปี 2564 โดยแบ่งเป็น 1)รายได้จากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ประมาณ 2.21 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8.83 พันล้านบาท/ปี และ 2) รายได้จากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานราว 1.21 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4.84 พันล้านบาท/ปี เมื่อโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในโครงการดังกล่าวทั้งหมดสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตามปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด
เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาคืนทุนของโครงการรับไฟฟ้าสีเขียว พบว่า กลุ่มโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ( BESS) จะใช้เวลาคืนทุน 9.3 ปี และ 9.8 ปี ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอายุสัญญาการขายไฟในโครงการดังกล่าวที่ 25 ปี โดยโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งสองประเภทมีเงินลงทุนราว 32 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และ 53 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ตามลำดับ และจะมีรายได้จากจากการขายไฟแก่ภาครัฐประมาณ 3.7 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ และ 4.9 ล้านบาท/ปี/เมกะวัตต์ ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี คาดว่าโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งร่วมกับ BESS ในโครงการนี้มีอัตราผลตอบแทน (IRR) อยู่ราว 9.1% ต่อปี และ 7.4% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเคยลงทุน ซึ่งอยู่ประมาณ 10-15% ต่อปี [6]เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งสองประเภทในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวอยู่ที่ 2.17 บาท/หน่วยไฟฟ้า และ 2.83 บาท/หน่วยไฟฟ้า ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2559-66 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.97-5.66 บาท/หน่วยไฟฟ้า [7]
การขยายตัวของธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล่าสุดย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพราะผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีแนวโน้มใช้บริการของอุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะ 7 ปี ข้างหน้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว Krungthai COMPASS จึงจะวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่อุตสาหกรรมของไทยที่จะได้รับในหัวข้อถัดไป
II. อุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยได้รับประโยชน์จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวมากน้อยเพียงใด ?
ก่อนที่จะวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่แต่ละธุรกิจในอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะได้รับ จะมาอธิบายเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย 3 กลุ่ม[8] ได้แก่
1) กลุ่มขั้นต้นน้ำ เป็นกลุ่มธุรกิจแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้น เช่น ผู้ผลิตซิลิกอนเกรดเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน ออสเตรเลีย และบราซิล
2) กลุ่มขั้นกลางน้ำ เป็นธุรกิจผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) และอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น Solar Inverter (เครื่องแปลงไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ให้เข้ากับระบบสายส่งไฟฟ้า) โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มักนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจากจีน และออสเตรเลีย เช่น ซิลิกอนเกรดเซลล์แสงอาทิตย์ และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ยังไม่ประกอบ มาผลิตต่อ เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นหลัก
3) กลุ่มขั้นปลายน้ำ เป็นธุรกิจรับจ้างติดตั้งแผงและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าจากจีน เช่น แผงเซลล์แสงอาทิตย์ และ Solar Inverter มาให้บริการติดตั้ง โดยลูกค้าหลักของกลุ่มนี้ คือ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงงานอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีจำนวน 63 ราย8 โดยส่วนมากกระจุกตัวในธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมีสัดส่วนถึง 54% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งกลุ่มนี้ ส่วนที่เหลือ
อีก 46% พบว่ามีผู้ประกอบการจากหลากหลายธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อ และผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของ Supply Chain ของอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจที่จะเติบโตโดดเด่นจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าเขียวในระยะข้างหน้า มี 4 กลุ่ม ได้แก่
• กลุ่มรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ มีทิศทางเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม ตามความต้องการใช้บริการติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กลุ่มนี้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้จำนวน 9.2 หมื่นล้านบาท จะทยอยรับรู้ในช่วงปี 2566-73 [9]และ อีก 5.3 พันล้านบาท จะรับรู้ หลังจากนั้นอีก 15 ปี ตามอายุการใช้งานของ Solar inverter โดยรายได้ทั้งหมดนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1)รายได้จากขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ราว 6.7 หมื่นล้านบาท[10] 2)รายได้จากขาย Solar inverter ราว 1.1 หมื่นล้านบาท10 และ 3)รายได้จากค่าบริการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท10 ซึ่งรายได้ทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 113% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจนี้ในปี 2565
• กลุ่มผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อาจได้รับอานิสงส์จากการขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์สูงสุด 5.5 หมื่นล้านบาท11 แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการดังกล่าวส่งออกไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการในการกลุ่มนี้หันมาการขายสินค้าในประเทศมากขึ้น จะมีรายได้เพิ่มเติมจากการขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับผู้ให้บริการติดตั้งและก่อสร้างแก่โรงไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้ในช่วงปี 2566-739 โดยรายได้ทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 10% ของรายได้รวมของธุรกิจนี้ในปี 2565
• กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น Solar inverter คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเติมจากการขาย Solar inverter ให้กับผู้ให้บริการติดตั้งและก่อสร้างแก่โรงไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวราว 8.7 พันล้านบาท[11] โดยรายได้จำนวน 4.35 พันล้านบาท จะทยอยรับรู้ในช่วงปี 2566-739 และ อีก 4.35 พันล้านบาท จะรับรู้ หลังจากนั้นอีก 15 ปี ตามอายุการใช้งานโดยรายได้ทั้งหมดเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 11% ของรายได้รวมของธุรกิจนี้ในปี 2565
• กลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ลิเธียม คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการขายแบตเตอรี่ลิเธียมให้กับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวราว 2.2 หมื่นล้านบาท[12] แม้ว่าปัจจุบันกำลังการผลิตเกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ลิเธียมของไทยผลิตสินค้า เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างไรก็ดี อาจมีโอกาสเติบโตดีจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในอนาคต เพราะเริ่มเห็นผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีแผนที่จะผลิตแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ป้อนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น บจก. นูออโว พลัส ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.ได้จัดตั้ง บจก. เอ็นวี โกชั่น ร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และ BESS ชั้นนำของจีน เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้าและประกอบชุดแบตเตอรี่สำหรับ BESS และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยคาดว่าเดินสายผลิตสายผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์/ชั่วโมง/ปี และจะขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์/ชั่วโมง/ปี ภายในปี 2568[13] จึงคาดว่าได้รับอานิสงส์การลงทุน BESS ของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว โดยงบลงทุนดังกล่าวจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ในช่วงปี 2566-73 และ อีก 1.1 หมื่นล้านบาท จะรับรู้ หลังจากนั้นอีก 15 ปี ตามอายุการใช้งานของ BESS ซึ่งรายได้ทั้งหมดโดยเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น 57% ของรายได้ทั้งหมดของธุรกิจนี้ในปี 2565
โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว นอกเหนือจากจะช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังช่วยให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาว หลังคาดว่า ภายในปี 2569 สหภาพยุโรปจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอน เนื่องจากโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถลด Carbon footprint (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรของสินค้า) ให้ผู้ประกอบการไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์ต่อการลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าเหล่านั้นในระยะข้างหน้า โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะวิเคราะห์ในหัวข้อถัดไป
III. โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวช่วยภาคเอกชนของไทยมากน้อยเพียงใด?
ก่อนที่จะวิเคราะห์ผลประโยชน์จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในแง่ของการประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) จะมาอธิบายเกี่ยวกับมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าคาร์บอนของ EU(CBAM) ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้น มีดังนี้
มาตรการ CBAM คือ กลไกภาษีนำเข้าคาร์บอนของ EU ซึ่งบังคับให้ผู้ส่งออกนอก EU ต้องรายงานข้อมูล และจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CBAM Certification) ก่อนที่จะนำสินค้ามาขายใน EU โดยตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ผู้ส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ไฟฟ้า และอะลูมิเนียม ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะขายใน EU โดยในระยะแรกยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน ก่อนที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 ซึ่งจะเชื่อมโยงกับราคา EU Emission Trading System (EU ETS) [14]โดย Boston Consulting Group (BCG) คาดว่าค่าธรรมเนียมคาร์บอนจะอยู่ประมาณ EUR 75 /tCO2 (2,800 บาท/tCO2 ) ในปี 2569[15]
เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรกของมาตรการ CBAM ไปยัง EU ของไทย ในปี 2565 พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งมีมูลค่าและปริมาณการส่งออกรวมอยู่ราว 4.9 พันล้านบาท และ 45,000 ตัน ตามลำดับ และอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ซึ่งมีมูลค่าและปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท และ 18,530 ตัน ตามลำดับ [16]
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผู้ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมไปยัง EU ของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตราการ CBAM ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอนทั้งหมดประมาณ 194 ล้านบาท/ปี และ 244 ล้านบาท/ปี ตามลำดับ หาก EU จัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนกับผู้ส่งออกดังกล่าว ตามการคาดการณ์ของ BCG ในปี 2569 ซึ่งการประเมินในครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าปริมาณ Carbon footprint ของเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม เท่ากับปี 2565 ซึ่งอยู่ประมาณ 69,850 tCO2 และ 87,810 tCO2 ตามลำดับ[17]
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ทุก 1 เมกะวัตต์ที่ผู้ประกอบการที่ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมไปยัง EU ซื้อไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว จะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนราว 0.7% และ 0.6% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดของแต่ละสินค้า ตามลำดับ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.4 ล้านบาท/ปี เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถใช้ไฟฟ้าจากโครงการนี้ เพื่อผลิตสินค้าที่ส่งออกไป EU ซึ่งจะช่วยลด Carbon footprint[18] ของสินค้าเหล่านั้น จึงมีประโยชน์ต่อการลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาว โดยประเมินในครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สามารถลด Carbon footprint ราว 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี[19]
โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล่าสุดของภาครัฐที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มจะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนให้กับผู้ประกอบการที่ส่งออกไปยัง EU ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะแรก และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มาตรการ CBAM จะขยายการครอบคลุมเพิ่มเติม เช่น ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมัน และโพลีเมอร์ เป็นต้น16 จึงส่งผลให้ผู้ส่งออกดังกล่าวมีความสามารถในการแข่งขันในตลาด EU มากขึ้นในระยะยาว
การที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานอาทิตย์ผ่านโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์สูงถึง 3.42 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า 25 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1.37 หมื่นล้านบาท อีกทั้ง ช่วยหนุนให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโตอย่างกระโดด เช่นเดียวกัน โดยธุรกิจที่เติบโตโดดเด่นจะเป็นธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กลุ่มนี้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้น โครงการนี้ยังช่วยให้ภาคเอกชนที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (EU) สามารถลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนในระยะยาว หลัง EU จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนภายในปี 2569 เพราะผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยัง EU ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของสินค้าเหล่านั้น อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในโครงการนี้มีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา
[1] บทความเรื่อง “ทำความรู้จัก CBAM”, ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ก.ค.2565)
[2] บทความเรื่อง “ไทยจ่อเก็บภาษีคาร์บอนปี’66 ธุรกิจพลังงานแชมป์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก”, นสพ.ประชาชาติธุรกิจ (8 เม.ย.2566)
[3] บทความเรื่อง “การประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน”, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)(อบก.) (ก.ค. 2562)
[4] คำนวณโดย Krungthai COMPASS โดยใช้ข้อมูลจาก https://www.irradiance.co.th/th/home (2563)
[5] การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ก.ย. 2565), เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็น เรื่อง(ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT)), สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (ก.พ.2566) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS
[6] อ้างอิงจากคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารของบมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (ม.ค. 2563) บทความเรื่อง “GUNKUL โบรกฯ อัพกำไรปี 63 หลังมีกำไรขายโรงไฟฟ้า, ลุ้นโครงการใหม่ในปี 64”, นสพ.ทันหุ้น (ม.ค. 2564) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS
[7] รายงานประจำปี 2565 ของบมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น, บทความเรื่อง “กรุงศรี" ปล่อยกู้ SUPER กว่า 1,000 ล้านบาท ขยายโรงไฟฟ้า”, นสพ.ฐานเศรษฐกิจ (15 มี.ค. 2566) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS
[8] รายงานสถานภาพการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย ปี 2561, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (2561), กระทรวงพาณิชย์ (2566), Trade Map (2566) และรวมรวบโดย Krungthai COMPASS
[9] วิเคราะห์โดย Krungthai COMPASS ภายใต้สมมุติฐานว่า โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี จึงทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแผงเซลล์อาทิตย์สามารถรับรายได้ ก่อนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์
[10] คำนวณโดย Krungthai COMPASS ภายใต้สมมุติฐาน ดังนี้ 1) ธุรกิจรับจ้างและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทำหน้าที่ซื้อแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนอยู่ประมาณ 20 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และ Solar inverter ที่มีต้นทุนอยู่ประมาณ อยู่ที่ 1.6 ล้านบาท /เมกะวัตต์ มาติดตั้ง รวมทั้งให้บริการงานก่อสร้างแก่ผู้ว่าจ้าง 2) จะมีเปลี่ยน Solar inverter 1 ครั้ง ตามอายุการใช้งานที่ 15 ปี ขณะที่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้าที่ 25 ปี (ที่มา: Energy For Dummies (2564)), บทความ เรื่อง “การจำลองแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี”,ชัยฤทธิ์ จ.(ม.ค.2563)),GROWATT(ก.ย.2565) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS)
[11] คำนวณโดย Krungthai COMPASS ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และผู้ผลิต/จัดจำหน่ายอุปกรณ์เชื่อมต่อขายในราคาต่ำกว่าราคาขายของผู้รับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ 18% ให้กับผู้ประกอบการดังกล่าว เพื่อนำไปให้บริการติดตั้งต่อ ซึ่งประมาณการ ตามค่าเฉลี่ยของสัดส่วนต้นทุนขายของธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ (82%)
[12] คำนวณโดย Krungthai COMPASS ภายใต้สมมุติฐาน ดังนี้ 1) แบตเตอรี่ลิเธียมสามารถกักเก็บไฟฟ้าได้ 2 ชั่วโมง/วัน โดยสาเหตุที่เลือกใช้แบตเตอรี่ลิเธียมที่สามารถกักเก็บไฟฟ้าได้ 2 ชั่วโมงมาจากโครงรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวต้องจ่ายไฟฟ้า 60% ของปริมาณไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในช่วงเวลาที่มีความเข้มแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า 2) ต้นทุนแบตเตอรี่ลิเธียมของโรงไฟฟ้าในโครงการนี้ อ้างอิงจากต้นทุนแบตเตอรี่ลิเธียมของจีนในปี 2565 ซึ่งอยู่ราว 127 ดอลลาร์สหรัฐฯ/กิโลวัตต์ /ชั่วโมง (ที่มา: BloombergNEF (ธ.ค.2565)) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) (ก.ย.2565))
[13] บมจ.ปตท. (15 ธ.ค. 2565)
[14] บทความเรื่อง “ทำความรู้จัก CBAM”, ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ก.ค.2565) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS
[15] บทความเรื่อง “The EU’s Carbon Border Tax Will Redefine Global Value Chains”, Boston Consulting Group (BCG) (ต.ค. 2564)
[16] บทความเรื่อง “ทำความรู้จัก CBAM”, ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ค.2565), กระทรวงพาณิชย์ (2566) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS
[17] คำนวณโดย Krungthai COMPASS ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า Emission Factor ของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 1.55 tC02/ตัน และ 4.36 tC02/ตัน ตามลำดับ (ที่มา: บทความเรื่อง “ค่า Emission Factor แบ่งตามประเภทกลุ่มอุตสาหกรรม”,องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) (ก.ค.2565) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS)
[18] Carbon footprint ของสินค้า คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรของสินค้า (ที่มา:อบก.)
[19] บทความเรื่อง “การประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน”,องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)(อบก.) (ก.ค. 2562)
A5789