- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 01 June 2023 12:04
- Hits: 1371
ออสสิริส คาดการณ์ราคาทองเดือนมิถุนายน ปี 66 ดีลเพดานหนี้สหรัฐฯ ผ่านดอลลาร์ อาจเกิด Sell on Fact ทองลุ้นไปต่อ
ออสสิริส (Ausiris) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gold Investment เผยแนวโน้มราคาทองคำเดือนมิถุนายน 2566 คาดดีลเพดานหนี้สหรัฐฯ ผ่านดอลลาร์ อาจเกิด Sell on Fact ทองอาจลุ้นไปต่อ ต้องจับตา 5 ปัจจัยผลกระทบ
นายพีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์ นักวิจัยอาวุโส แผนก Ausiris Intelligence บริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวถึงสรุปสถานการณ์ราคาทองในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวทำจุดสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 2,080 usd/oz ขณะที่ราคาทองในประเทศ ราคาทองคำแท่ง 96.5% ขายออกสูงสุดถึงบาทละ 32,650 บาท ราคาทองรูปพรรณขายออกสูงสุดบาทละ 33,150 บาท อ้างอิงราคาจากสมาคมค้าทองคำ โดยได้รับแรงหนุนในช่วงต้นเดือนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หลังธนาการสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณการหยุดพักการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว กดดันดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ฉุดบอนด์ยีลด์ร่วง อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐฯ และเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวต่ำกว่าคาดการณ์หนุนความเป็นไปได้ที่เฟดอาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงเข้าสู่ช่วงกลาง-ปลายเดือนพฤษภาคม หลังนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลในการเจรจาการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ไม่สามารถตกลงกันได้
“สำหรับแนวโน้มราคาทองคำเดือนมิถุนายนนี้ ยังคงน่าจับตามอง โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำเดือนมิถุนายน ประเด็นสำคัญแรก ก่อนวันที่ 1 มิ.ย. ต้องจับตาการเจรจาปรับเพดานหนี้สหรัฐฯ หลังการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้รอบใหม่ระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะบรรลุการเจรจารขยายเพดานหนี้ครั้งสำคัญ ก่อนเส้นตายนี้ไปได้ ในแง่ผลกระทบทองคำในช่วงระหว่างการเจรจารอาจทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อและทองอาจปรับตัวร่วง ทั้งนี้หากการเจรจารครั้งนี้บรรลุไปด้วยดีระวังเกิด Sell on fact ดอลลาร์สหรัฐนั้นอาจโดนเทขายทำกำไรแทน เพราะปัจจุบันดอลลาร์ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเก็งกำไร อาจส่งผลให้ทองปรับตัวขึ้นแทนที่จะลงได้ ในตรงกันข้าม หากการเจรจาครั้งนี้ไม่สำเร็จสหรัฐฯ อาจจะเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ในครั้งประวัติศาสตร์ ผลที่ตามมาคือดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกขายอย่างรุนแรงเพราะผิดชำระหนี้ แน่นอนว่าพันธบัตรจะถูกลดเครดิตลงจากสถาบันจัดลำดับต่างๆ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอาจพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง” นายพีระพงศ์ กล่าว
และต่อมาคือ ประเด็นที่สอง ในวันที่ 2 มิ.ย. ต้องติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ว่าตัวเลขแรงงานยังแข็งแกร่งหรือไม่ ซึ่งจะเป็นมาตรวัดหนึ่งที่เฟดจะใช้ในการประเมินทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งออสสิริสมองว่า หากตัวเลขแรงงานออกมาดี อาจเพิ่มแนวโน้มโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป สำหรับดอกเบี้ยสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ที่ 5.00-5.25% ล่าสุดวันที่ 26 พ.ค. 2566 Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 57.4.% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ ในตรงกันข้าม หากเฟดมองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นอาจทำให้กลับมาเป็นปัจจัยบวกต่อทอง
และประเด็นที่ 3 พลาดไม่ได้คือในช่วงวันที่ 13 มิ.ย. ยังคงต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เนื่องจากล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยังคงตัวในระดับสูงในเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 4.9% ซึ่งยังห่างจากของเป้าของเฟดอยู่ที่ 2% ทำให้มองแนวโน้มว่าเฟดยังขึ้นดอกเบี้ยต่อในครึ่งปีที่เหลืออาจแตะ 5.25%-5.50% ต้องมาติดตามกันต่อในส่วนของตัวเลขเดือนพฤษภาคม ว่าเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หากปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจกดดันให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟด มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อ นับเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ
กราฟแสดง ความเคลื่อนไหวอัตราเงินเฟ้อสหรัฐตั้งแต่ปี 2022 ถึงปัจจุบัน ล่าสุดอยู่ที่ 4.9%ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021
และอีกประเด็นสำคัญคือเรื่องดอกเบี้ยเฟด ประเด็นที่ 4 ในวันที่ 15 มิ.ย. นี้จับตาการประชุมเฟดคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 0.25% และอาจส่งสัญญาณยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากนั้น ผลคืออาจทำให้ราคาทองถูกกดดันช่วงก่อนการประชุมและอาจปรับตัวขึ้นหากเฟดส่งสัญญาณยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเริ่มส่งผลกระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย เนื่องจากต้นทุนจำนองเพิ่มขึ้น อีกทั้งภาคสถาบันการเงินอาจเสี่ยงล้มเพิ่มเติม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่คงตัวอยู่ในระดับสูง
กราฟแสดง ความเคลื่อนไหวอัตราดอกเบี้ยสหรัฐตั้งแต่ปี 2022 ถึงปัจจุบัน
ต่อด้วยประเด็นที่ 5 วันที่ 29 มิ.ย. จับตาประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ว่าการขยายตัวจากการบริโภคและการลงทุนในสหรัฐฯเพิ่มหรือไม่ หากมีการขยายตัวเพิ่มค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวแข็งค่าและกดดันราคาทอง
นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ประเด็นสงครามระหว่างรัฐเซียและยูเครนยังคงร้อนระอุ ล่าสุดส่งผลให้นาโตวิตก อาจถูกโจมตีเหมือนกับที่ยูเครนที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ล่าสุดนาโต ทำ ‘War Game’ ซ้อมรบครั้งใหญ่ในเอสโตเนีย มีแผนจะซ้อมรบถึง 18 ครั้ง ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย. เพื่อเป็นการข่มขวัญรัสเซียที่กำลังทำสงครามในยูเครนและไม่มีทีท่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้ ปัจจัยดังกล่าวยังเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะหนุนราคาทองต่อไปหากสงครามยังไม่สิ้นสุด นายพีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
สถิติที่น่าสนใจสำหรับราคาทองในตลาดโลกเดือนมิถุนายน 10 ปีย้อนหลัง
1. ราคาทองมีความผันผวนสูง ส่วนต่างระหว่างราคาสูงสุดกับราคาต่ำสุดของเดือนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 111 ดอลลาร์ต่อออนซ์
2. ราคาทองทองคำส่วนใหญ่จะปิดลบมากกว่าปิดบวกอยู่ที่ 60%
กราฟแสดง ราคาไฮ High และ Low ต่ำสุดสำหรับราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงเดือนมิถุนายนแต่ละปีตั้งแต่ปี 2013-2022
แนวโน้มราคาทองคำในมุมทางเทคนิค
แนวโน้มราคาทองคำคาดอยู่ในช่วงพักตัวบริเวณแนวรับสำคัญบริเวณ 1,950-1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดแนวรับดังกล่าว คาดว่าจะมีแรงเทขายออกมามากและอาจปรับตัวลงไปที่แนวรับ 1,907-1,876 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากหลุดกรอบเทรนด์ไลน์คู่ขนานขาขึ้นใน TF1DAY ทั้งนี้หากราคาทองคำสามารถกลับตัวบริเวณแนวรับดังกล่าว เราอาจเห็นราคาทองกลับมาทดสอบแนวต้านบริเวณ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือมากกว่านั้นอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเบรคเหนือแนวต้าน 1,986 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขาขึ้นจะกลับมาได้เปรียบอีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนแนะนำย่อซื้อหากยังไม่หลุดกรอบเทรนด์ไลน์ขาขึ้น
แนวรับ/แนวต้าน เดือนมิถุนายน 2566
แนวรับ S1:1935 /S2:1907 /S3:1876
A6001