- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 10 August 2023 00:26
- Hits: 2348
Krungthai Compass ชี้ยางยานยนต์ไฟฟ้า โอกาสผู้ประกอบการไทย รับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า
โดย อภินันทร์ สู่ประเสริฐ
อังคณา สิทธิการ
Krungthai COMPASS
Key Highlights
● การผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นทางเลือกใหม่ของธุรกิจผลิตยางรถยนต์ไทย เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยางรถยนต์ไฟฟ้ามีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ปกติ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
● Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2573 มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 4,100 ล้านบาท
● การเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลกจะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 18% ดังนั้นภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน EV Ecosystem ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ขณะที่ผู้ประกอบการควรเร่งวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมไปถึงมาตรฐานความยั่งยืนด้วย
การตื่นตัวต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก คือ รถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าในปี 2575 มูลค่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะอยู่ที่ 1,716.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 255.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 23%CAGR
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มยางรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ในตลาดโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกยางรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนตลาดราว 7.1% ของการส่งออกยางรถยนต์ทั้งหมดของโลก รองจากจากจีน ที่มีสัดส่วน 20.7% อีกทั้ง ไทยยังมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบจากการเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก คำถามน่าสนใจที่ตามมา คือ การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะส่งผลดีต่อการส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยแค่ไหน แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้จำเป็นที่ผู้อ่านต้องทำความรู้จักกับคุณสมบัติที่โดดเด่นของยางรถยนต์ไฟฟ้าก่อน
ทำความรู้จัก ยางรถยนต์ไฟฟ้า
ยางรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Tires : EV Tires) มีคุณสมบัติแตกต่างจากยางรถยนต์ปกติ ดังนี้ 1.ช่วยลดเสียงรบกวนจากท้องถนน 2.รับน้ำหนักได้มากกว่ายางรถยนต์ปกติ เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า 3.สามารถยึดเกาะถนนได้ดีกว่า 4.ทนทานต่อแรงบิดสูง ดังนั้น กระบวนการผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความแตกต่างจากผลิตยางรถยนต์ทั่วไป เช่น มีการออกแบบดอกยางให้มีลักษณะขนาดเล็กกว่ายางรถยนต์ปกติ และมีการจัดวางระยะพิทช์ของยางต่างจากยางรถยนต์ปกติ รวมทั้งมีการเพิ่มโฟมหรือแผ่นรองรับเสียงในยางรถยนต์ให้หนาขึ้น นอกจากนี้ ในบางยี่ห้อจะมีการเพิ่มเทคโนโลยีพิเศษ เพื่อให้ยางรถยนต์ไฟฟ้ามีลักษณะพิเศษกว่ายี่ห้ออื่น เช่น บริษัทยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างบริดจสโตนที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อ ENLITEN ซึ่งเป็นการเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่บนพื้นถนนที่เปียกและลดการสึกของยางรถยนต์ เป็นต้น
ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานนานกว่ายางรถยนต์ปกติ โดยยางรถยนต์ปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี ขณะที่ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาแพงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปประมาณ 2-3 เท่า โดยอยู่ที่ราคาราว 50,000-70,000 บาท ต่อ 4 เส้น ขึ้นอยู่กับแบรนด์ที่ใช้
ทำไมผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทยควรต่อยอดไปสู่การผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า?
1. ยางรถยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม
ยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยางรถยนต์ไฟฟ้ามีแรงต้านการหมุนต่ำ ลดแรงเสียดทานหรือแรงต้านทาน ทำให้ใช้แรงเคลื่อนตัวการหมุนของล้อน้อยกว่ายางรถยนต์ทั่วไป จึงสามารถขับขี่ได้ไกลขึ้นโดยใช้พลังงานน้อยลง ดังจะเห็นได้จากบทความของ Erangetires ที่ชี้ว่า ยางรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ค่าสัมประสิทธ์ต้านทานการหมุนต่ำกว่ายางปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยลดมลภาวะทางเสียงได้อีกด้วย โดยจากการศึกษาของ Yokohama Test Center พบว่า มลภาวะทางเสียงของรถยนต์ส่วนใหญ่เกิดจากการขับเคลื่อนของล้อยางรถยนต์ถึง 50% ดังนั้นยางรถไฟฟ้าจึงเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ช่วยลดมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถยนต์ เนื่องจากมีส่วนผสมของโฟมซับเสียงและสารประกอบในการช่วยลดเสียงจากการเสียดสีของยางกับพื้นถนน
2. ยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐส่งเสริม
ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มยางรถยนต์ตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center - ATTRIC) โดยศูนย์นี้ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพยางล้อของไทย นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี รวมทั้งภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้การผลิต นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตเพื่อส่งออกจะได้ยกเว้นภาษีอากรการนำวัตถุดิบ เช่น สารเคมีที่ใช้ในการผลิต
3. เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป จึงมีอัตรากำไรที่ดีกว่า
ยางรถยนต์ไฟฟ้ามีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากมีจุดเด่นที่เหนือกว่ายางรถยนต์ทั่วไป ทั้งในด้านสมรรถนะการใช้งาน ความทนทาน จึงสามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป
Krungthai COMPASS คาดว่า สินค้าในกลุ่มยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 18% โดยแม้ต้นทุนขายทั้งหมดของยางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปประมาณ 2.1 เท่า แต่ราคาขายยางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2.6 เท่า โดยมีสมมติฐานต้นทุนด้านอื่นๆ คงที่ จะทำให้สินค้าในกลุ่มยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30% สูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 12%
มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยจะเติบโตได้แค่ไหน?
Krungthai COMPASS ประเมินว่าในปี 2573 มูลค่ายางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างน้อยจะอยู่ที่ราว 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 140,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 43%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 240 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 8,100 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย ที่คาดมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4,000 ล้านบาท และ 2) มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศคาดจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 41%CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าเท่ากับ 4,100 ล้านบาท โดยมีสมมติฐานการประเมิน ดังต่อไปนี้
1. มูลค่าส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของไทย
1.1 พิจารณาเฉพาะ 3 คู่ค้าหลักที่ไทยส่งออกยางรถยนต์ในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย โดยมูลค่าตลาดดังกล่าวมีสัดส่วนตลาดรวมกัน คิดเป็นกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกยางรถยนต์รวมของไทย
1.2 ประเมินความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 ของตลาดหลักตาม ข้อ 1.1 จะพิจารณาจาก
1.2.1 ความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม OEM ของแต่ละประเทศ พิจารณาจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 ของประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าในปี 2573 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะเท่ากับ 16.2 ล้านคัน จากในปี 2565 ที่เท่ากับ 9.9 แสนคัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 41.8%CAGR ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนปี 2573 จะเท่ากับ 21.4 ล้านคัน จากในปี 2565 ที่เท่ากับ 5.9 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 17.4%CAGR ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในออสเตรเลียจะอยู่ที่ 9.7 หมื่นคัน จากในปี 2565 ที่เท่ากับ 3.8 หมื่นคัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.1% CAGR โดยข้อมูลในข้อ 1.2.1 อ้างอิงจาก IEA และ Statista
1.2.2 ความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม REM (ยางรถยนต์ที่ใช้สับเปลี่ยนเมื่อยางเก่าหมดอายุการใช้งาน) ของแต่ละประเทศ พิจารณาจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละประเทศในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2559-2573 และกำหนดให้อายุการใช้งานยางรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 6 ปี ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Yellow Tire และอายุการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ราว 8-10 ปี ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก www.iseecars.com
1.3 สัดส่วนความต้องการนำเข้ายางรถยนต์ไฟฟ้า เทียบกับ ความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ของสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย อยู่ที่ 27% 2% และ 50% ตามลำดับ ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูลมูลค่าการนำเข้ายางรถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละประเทศ ซึ่งอ้างอิงมาจาก Australian Bureau of Statistics U.S. Census Bureau และ The Observatory of Economic Complexity ขณะที่ความต้องการใช้ยางรถยนต์ของแต่ละประเทศ อ้างอิงมาจาก Statistic
1.4 ประเมินมูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในแต่ละตลาด จากมูลค่านำเข้ายางรถยนต์ไฟฟ้ารวมของแต่ละประเทศที่คำนวณตามข้อ 1.1-1.3 โดยคาดว่าส่วนแบ่งตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะอยู่ที่ 18.4% 17.8% และ 11.0% ตามลำดับ ซึ่งอ้างอิงจากส่วนแบ่งตลาดส่งออกยางรถยนต์ของไทยในตลาดสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย ปี 2565 โดยอ้างอิงจาก Trademap
1.5 คาดว่าในปี 2566-2573 ราคาส่งออกเฉลี่ยยางรถยนต์ไฟฟ้าไปสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลียจะอยู่ที่ 516 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเส้น 499 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเส้น และ 551 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเส้น ซึ่งอ้างอิงราคายางรถยนต์ไฟฟ้าจาก Electric Autonomy Canada และคาดการณ์ราคาในปี 2567-2573 โดยพิจารณาราคาที่ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศตั้งแต่ปี 2565-2573 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก IMF
2. มูลค่ายางรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
2.1 ความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม OEM ของไทย พิจารณาจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2573 ของไทย โดยคาดว่าในปี 2573 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 8.6 แสนคัน จากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 6.3 หมื่นคัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 41%CAGR
2.2 ความต้องการใช้ยางรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม REM (ยางรถยนต์ที่ใช้สับเปลี่ยน เมื่อยางเก่าหมดอายุการใช้งาน) พิจารณาจากปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2559-2573 และกำหนดให้อายุการใช้งานยางรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 6 ปี ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Yellow Tire และอายุการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ราว 8-10 ปี ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก www.iseecars.com
การเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลกจะสร้างโอกาสต่อผู้ประกอบการธุรกิจยางรถยนต์ของไทย และธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ดังนี้
1. ธุรกิจผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า มีโอกาสในการขยายตลาดยางรถยนต์ใน Segment ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป โดยตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้า ยังมี Sub-segment ที่หลากหลาย เช่น ตลาดยางรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ตลาดยางรถบรรทุก ตลาดยางรถโดยสาร รวมทั้งตลาดยางรถจักรยานยนต์
2. ธุรกิจยางแท่ง จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ยางรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้ทนต่อน้ำหนักและแรงบิดที่มากกว่ารถยนต์ทั่วไป ส่งผลให้ต้องใช้ปริมาณยางแท่งมากกว่าเดิม จึงเป็นโอกาสในการ Supply ยางแท่งให้กับผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศสำหรับผลิตเพื่อการส่งออก โดยปัจจุบันมีบริษัทที่เตรียมพร้อมในการผลิตยางแท่งเพื่อรองรับสำหรับอุตสาหกรรมยางรถไฟฟ้าแล้ว เช่น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้เพิ่มงบลงทุนขยายกำลังการผลิตยางแท่งเป็นกว่า 6,600 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1.1 ล้านตันต่อปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการส่งออกยางแท่งไปยังตลาดที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกอย่าง จีน สหรัฐฯ อินเดีย หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมอาจเข้าไปลงทุนเพื่อผลิตยางต้นน้ำในกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราในอินเดียแล้ว
Implication:
Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ไฟฟ้า ดังต่อไปนี้
ผู้ประกอบการยางรถยนต์ไฟฟ้า
● ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ในระยะแรกเราประเมินว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการยางรถยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี แต่ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสเข้ามาทำตลาดนี้ได้มากขึ้น หากให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น บริษัท IRC ผู้ประกอบการยางรถยนต์สัญชาติไทยที่เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งชิ้นส่วนยางประกอบในยานยนต์และยางรถจักรยานยนต์รองรับการเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ผู้ประกอบการยางแปรรูปขั้นต้นอย่างยางแท่ง
● ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิต ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของโลก ซึ่งครอบคลุมไปถึงมาตรฐานความยั่งยืนด้วย อาทิ มาตรฐาน Fair Rubber, FSC, GOLS, Eco Factory, Green Industry, eco-INSTITUT, QUL
ภาครัฐ
● ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการเร่งสนับสนุน EV Ecosystem ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะนโยบายให้เงินทุนสนับสนุน ดังเช่นที่รัฐบาลแคนาดาให้เงินสนับสนุนราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อยู่ในรูปของเงินลงทุนและสิทธิพิเศษทางภาษี) แก่บริษัทมิชลินในการเข้ามาลงทุนขยายโรงงานผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงยางรถยนต์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน
A8248