WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

9320 KT Compass

Krungthai Compass จับตา 5 เทรนด์ธุรกิจร้านอาหาร ในยุคหลังโควิด ฝ่ามรสุมการแข่งขันและต้นทุนที่พุ่งขึ้น

โดย ธนา ตุลยกิจวัตร

สุจิตรา อันโน

กณิศ อ่ำสกุล

Krungthai COMPASS

 

Key Highlights

          ● จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ผู้คนกลับมาดำเนินชีวิตเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 เติบโตขึ้นราว 17.2%YoY โดยมีมูลค่าประมาณ 5.7 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2566-2567 จะเติบโตต่อเนื่องราว 7.8%YoY และ 5.8%YoY โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.2 และ 6.5 แสนล้านบาท กลับมาอยู่ในระดับ 92-97% จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562)

          ● Krungthai COMPASS ประเมิน 5 เทรนด์ของธุรกิจร้านอาหารที่จะได้รับความนิยมในอนาคตได้แก่ 1) Dining Experience หรือการมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ 2) Health & Wellness Cuisine อาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ 3) Elderly Food อาหารเพื่อผู้สูงอายุ 4) Robotics in Restaurant หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร และ 5) Sustainable Food พฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบรักษ์โลก

          ● เพื่อรับมือกับภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการควร 1) พัฒนาคุณภาพด้านอาหารและมาตรฐานการบริการที่ดี 2) ติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของผู้บริโภค และ 3) ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

 

          ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และยังมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และแน่นอนว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในปี 2563-2564 มูลค่าตลาดร้านอาหารหดตัว 20.1%YoY และ 8.9%YoY ตามลำดับ 

          อย่างไรก็ดีสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง บรรยากาศในการดำเนินชีวิต และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทำให้ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างธุรกิจร้านอาหารส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน

          สัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารสะท้อนจากข้อมูลการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ที่ระบุว่า ในปี 2565 การใช้จ่ายบริการด้านร้านอาหารและโรงแรมที่มีสัดส่วน 13.8% ของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ได้เร่งตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ส่งผลให้ภาพรวมการใช้จ่ายด้านนี้ขยายตัว 86.1%และยังขยายตัวต่อเนื่องมายังครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่ขยายตัว 181.1% เข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้ว ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 เติบโตขึ้น 17.2%YoY คิดเป็นมูลค่าราว 5.7 แสนล้านบาท

 

9320 KT Compass01

 

          จากแนวโน้มของธุรกิจร้านอาหารที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่าสูง จึงดึงดูดผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่มุ่งสู่ธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง เพราะเข้าสู่ธุรกิจไม่ยากนัก อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายระดับ แต่การจะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการร้านอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด-19 จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า เทรนด์ร้านอาหารที่น่าจับตามองในยุคหลังโควิด-19 คืออะไร? และผู้ประกอบการร้านอาหารควรมีแนวทางในการรับมือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

          และก่อนที่จะไปดูว่าเทรนด์ร้านอาหารที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง เราจะพาผู้อ่านทุกท่านมาดูกันก่อนว่าตลาดร้านอาหารของไทยมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน และมีโอกาสจะขยายตัวต่อได้ไหม? ในระยะข้างหน้า ร้านอาหารใน Segment ไหน? ที่มีแนวโน้มเติบโตดี และอะไร? ที่เป็นปัจจัยกดดันกำไรของธุรกิจ

 

          โควิด-19 บรรเทาตลาดร้านอาหารมีโอกาสโตต่อเนื่อง
          Krungthai COMPASS ประเมินว่าตลาดร้านอาหารในประเทศไทยปี 2566-2567 จะเติบโตราว 7.8%YoY และ 5.8%YoY โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.2 และ 6.5 แสนล้านบาท โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น จากการที่ผู้คนเริ่มกลับมาใช้บริการร้านอาหารเป็นปกติมากขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566-2567 ที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 29.0 และ 35.5 ล้านคน ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าตลาดร้านอาหารในปี 2566 จะยังคิดเป็น 92% ของช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) เนื่องจากร้านอาหารบางกลุ่ม เช่น ภัตตาคาร สวนอาหาร ยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ขณะที่ในปี 2567 มูลค่าตลาดโดยรวมจะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 โดยเฉพาะกลุ่ม Street Food และร้านอาหารที่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

 

9320 KT Compass02

 

          ร้านอาหารแบบไหนจะฟื้นตัวได้ก่อน

          หากแบ่งประเภทร้านอาหารออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1) ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) [1]2) ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) [2]และ 3) ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) [3]ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาด้านมูลค่าแล้วพบว่า ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 (ปี 2562) ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีมูลค่ามีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคิดเป็น 45% มีมูลค่าประมาณ 3.0 แสนล้านบาท ตามมาด้วยร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ หรือ Full Service มีส่วนแบ่งตลาด 28% มีมูลค่าประมาณ 1.9 แสนล้านบาท และสุดท้ายคือ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) ที่มีส่วนแบ่งตลาด 27% และมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท 

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ร้านอาหาร Full Service มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุด โดยในปี 2565 มูลค่าตลาดร้านอาหารกลุ่ม Full Service ฟื้นตัวได้เพียง 71% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

 

9320 KT Compass03

 

          เนื่องจากปัจจุบันผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้บริการสั่งอาหารทาง Delivery รวมถึงเป็นกลุ่มที่มีราคาอาหารที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ขณะที่กำลังซื้อโดยรวมที่ยังค่อนข้างเปราะบาง ขณะที่ร้านอาหารประเภท Limited Service มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีที่สุด โดยในปี 2565 ฟื้นตัวได้ถึง 94% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่กลับคึกคัก ตามมาด้วยร้านอาหารข้างทาง หรือ Street Food ซึ่งในปี 2565 ฟื้นตัวขึ้นมาเคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้วถึง 90% โดยได้รับอานิสงส์จากการที่วิถีชีวิตของผู้บริโภคกลับมาเป็นปกติมากขึ้น 

          ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2566 ร้านอาหารประเภท Street Food และ Limited Service จะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 และยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์สำคัญจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยกลับเข้าสู่ระดับปกติ อย่างไรก็ดี ร้านประเภท Full Service อาจต้องใช้ระยะเวลาถึงปี 2567 จึงจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 จากกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ

 

          ต้นทุนพุ่งกดดันกำไรท่ามกลางมรสุมการแข่งขัน

          ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนหลักปรับตัวสูงขึ้นพร้อมๆ กัน ในช่วง 1-2 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะยืนสูงในระยะข้างหน้า ทั้งจากค่าวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม สะท้อนจากดัชนีราคาอาหารสดและพลังงานที่เร่งตัวขึ้น 13.4%YoY ในปี 2565 โดยดัชนีราคาอาหารสดเพิ่มขึ้นจาก 100.7 ในปี 2564 เป็น 107.6 คิดเป็น 6.8%YoY ขณะที่ดัชนีราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเป็น 123.2 จากที่ในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 99.0 เพิ่มขึ้น 24.5%YoY และแม้ในปี 2566 ดัชนีราคาอาหารสดและพลังงานจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะยืนสูงต่อไปในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า และแม้ว่าต้นทุนบางส่วนจะสามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้บ้างโดยการขึ้นราคาอาหาร แต่ยังคงทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากกำลังซื้อที่เปราะบาง ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย กอปรกับผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นจากจำนวนร้านอาหารที่มีอยู่จำนวนมาก และยังอาจถูกซ้ำเติมจากแนวโน้มค่าแรงที่อาจเพิ่มขึ้นจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน และนโยบายภาครัฐ

 

9320 KT Compass04

 

          ปัญหาด้านการแข่งขันก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญมาตลอด เนื่องจากการเข้าและออกธุรกิจนี้ทำได้ไม่ยากนัก ส่งผลให้ธุรกิจนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งหากพิจารณาจากค่า HHI Index [4]ที่เป็นดัชนีที่ใช้วัดการกระจุกตัวของธุรกิจ จะพบว่า ธุรกิจร้านอาหารมีค่าดัชนี HHI เพียง 120 [5]เท่านั้น สะท้อนว่า ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูงมาก สอดคล้องกับข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai ที่ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ร้านอาหารในไทยมีจำนวนกว่า 6.8 แสนร้านค้า เติบโตกว่า 13.6%YoY และนั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ยังมีผู้ประกอบการหลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ นอกจากประเด็นด้านภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดย Krungthai COMPASS ได้ประเมิน 5 เทรนด์ของธุรกิจร้านอาหารไว้ในส่วนถัดไป

 

          5 เทรนด์ร้านอาหารในยุคหลังโควิด-19

          1. Dining Experience 

          ร้านอาหารที่สามารถมอบประสบการณ์แปลกใหม่ น่าจดจำ แต่เข้าถึงง่ายนั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 ได้เร็วกว่า โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ได้รับ Michelin Guide ที่ถูกค้นหามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลจาก Google Trend ชี้ว่าผู้บริโภคมีการค้นหาร้านอาหารที่ได้รับ Michelin Bib Gourmand เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ร้านเจ๊โอว และร้านเฮียให้ที่มีดัชนีการค้นหาเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในปี 2565 ที่ราว 10-20 หน่วย ขึ้นมาอยู่ที่ 60-70 หน่วยในปัจจุบัน ร้านก๊วยจั๊บมิสเตอร์โจที่มีดัชนีค้นหาเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากประมาณ 15 หน่วย มาอยู่ที่ 30 หน่วยในช่วงเวลาเดียวกัน ตลอดจนร้านบ้านผัดไทย ร้านรุ่งเรืองก๊วยเตี๋ยวหมู รวมถึงร้านชื่อดังอย่างเจ๊ไฝก็มียอดค้นหาในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

 

9320 KT Compass05

 

          ในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ Krungthai COMPASS มองว่ากลุ่มร้านอาหารดังกล่าวจะยิ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเราคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะฟื้นตัวจาก 11.1 ล้านคน มาอยู่ที่ 35.5-40 ล้านคนในปี 2567-2568 จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มร้านอาหารโดยเฉพาะร้านที่ได้รับ Michelin Guide ที่มักเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยว และมักมีการเขียนรีวิวกันใน Social Media ต่างๆ เช่น ร้านก๊วยเตี๋ยวหมูรุ่งเรืองมีการรีวิวถึง 357 ครั้งใน TripAdvisor และ 5,613 ครั้งใน Google Maps หรือ หรือเจ๊โอวก็ถูกรีวิวถึง[6]119 ครั้ง และ 5,457 ครั้ง[7]

          แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะได้ Michelin Guide ล่ะ? คงเป็นคำถามที่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเกิดความสงสัย โดยหลักแล้วรางวัล Michelin Guide จะถูกตัดสินโดย ลูกค้าธรรมดาๆ ทั่วไปที่รับหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบให้กับ Michelin ซึ่งจะทำการประเมินร้านอาหารผ่าน 5 มิติ ด้วยกัน คือ 1) คุณภาพของวัตถุดิบ 2) ความชำนาญและเทคนิคการประกอบอาหาร 3) อัตลักษณ์ของเชฟ 4) ความคุ้มค่า และ 5) ความเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งถ้ามีองค์ประกอบครบถ้วนร้านอาหารทั่วไปก็สามารถถูกบรรจุอยู่ใน Michelin Guide ได้เช่นเดียวกัน

 

          2. Health & Wellness Cuisine

          เมื่อผู้คนต่างดูแลสุขภาพกันมากขึ้น อาหารที่ดีต้องส่งเสริมสุขภาพ โดย ผลสำรวจผู้บริโภคอเมริกันกว่า 1,000 คน ได้ให้นิยามของ “Healthy Food” ว่าจะต้องเป็นอาหารที่ “สดใหม่-มาจากธรรมชาติ-น้ำตาลน้อย-ใช้แหล่งโปรตีนคุณภาพดี” โดยผลสำรวจ Food & Health Survey 2023 (ปี 2566) ของ IFIC ชี้ว่าองค์ประกอบหลักของอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Food ที่ชาวอเมริกันนึกถึงได้แก่ อาหารที่มีความสดใหม่ (คิดเป็น 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด) รองลงมาคือ น้ำตาลต่ำ (37%) ใช้แหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ (33%) และเป็นอาหารที่มาจากธรรมชาติ (30%) ตามมาด้วยองค์ประกอบอื่นๆ เช่น โซเดี่ยมต่ำ มีสารอาหารครบถ้วน และมีองค์ประกอบของผักและผลไม้ก็ถูกเลือกโดยผู้ตอบแบบสอบถามเท่ากับที่ 28%[8]

 

9320 KT Compass06

 

          นอกจากสุขภาพโดยรวมแล้ว IFIC พบว่าชาวอเมริกันเกือบ 75% เชื่อว่าอาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นจะส่งผลต่ออารมณ์และสุขภาพจิต[9] เราจึงเชื่อว่า “อาหารที่สามารถช่วยส่งเสริมภาวะทางอารมณ์” จะมีโอกาสได้รับความนิยมมากขึ้นได้ โดยผลการสำรวจของ IFIC มีความสอดคล้องกับข้อมูลของ APA [10]ที่ได้ยกตัวอย่างว่า 95% ของฮอร์โมนเซโรโทนิน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ”ฮอร์โมนแห่งความสุข” ถูกผลิตจากแบคทีเรียในลำไส้ หมายความว่าถ้าผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ดีต่อลำไส้ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของตนเองด้วย

          เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจจะส่งผลให้การเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบ การเลือกส่วนผสมต่างๆ ในการประกอบอาหาร ตลอดจนวิธีการประกอบอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น 1) เมื่อผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “Healthy Food” ในองค์ประกอบของความสดใหม่และมาจากธรรมชาติ “ร้านอาหาร Farm to Table” ที่รับวัตถุดิบทั้งเนื้อสัตว์และผักผลไม้จากเกษตรกรโดยตรงก็ดูสอดรับกับเทรนด์ดังกล่าว หรือ 2) เมื่อผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตอาหาร ผู้ประกอบการอาจพิจารณาเพิ่มเมนูที่มีองค์ประกอบของ Prebiotics และ Probiotics ซึ่งในปัจจุบันเริ่มเห็นได้มากขึ้นในสินค้าจำพวก โยเกิร์ต กิมจิ ชาหมัก ชีส ไปจนถึง ขนมปัง Sourdough เป็นต้น

 

          3. Elderly Food

          ร้านอาหารเพื่อดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมีโอกาสกลายเป็น Segment ดาวรุ่งในระยะถัดไป จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย สังคมผู้สูงอายุนับเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดย ณ ก.ค. 2565 ไทยมีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และ 65 ปีขึ้นไปที่ 13 ล้านคน และ 8.8 ล้านคน คิดเป็น 19.6% และ 13.3% ของประชากรไทยทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวชี้ว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์อย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้[11]

          ผลสำรวจชี้ว่า ผู้สูงอายุถึง 95% มีความพร้อมที่จะใช้จ่ายสำหรับอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ ขณะที่ 76%ยินดีที่จะรับประทานมื้ออาหารพิเศษนอกบ้าน โดย ข้อมูลดังกล่าวของ IPSOS ก็สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “AWUSO Society 4.0 แก่แต่วัย หัวใจยังเก๋” ที่ชี้ว่าผู้สูงอายุในไทยกว่า 53% จะรับประทานอาหารนอกบ้านสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง อีก 33% จะมีความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ครั้ง โดยกว่า 3 ใน 4 ของการทานอาหารนอกบ้านของผู้สูงอายุจะเป็นการทานร่วมกับครอบครัว ดังนั้นจึงเป็นข้อสังเกตว่าเรื่องรสชาติของอาหารก็ยังคงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารยังต้องให้ความสำคัญอยู่เช่นเดิม

 

9320 KT Compass07

 

          ภายใต้เทรนด์ดังกล่าวผู้ประกอบการจึงควรมีการผสมผสานเมนูสำหรับผู้สูงอายุที่เน้นเรื่องสุขภาพ และนำเสนอไปพร้อมกับเมนูปกติ ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นร้านอาหารไทยที่จับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น ร้าน Soft Food ที่มีการใช้เครื่องปรุงต่างๆ ทั้ง น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรมแบบ Low Sodium รวมถึงมีการแบ่งความของนุ่มของเนื้อสัมผัสอาหารออกเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่เคี้ยวได้ง่ายไปจนถึงสามารถกลื่นได้โดยไม่ต้องเคี้ยวเพื่อให้เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละราย

          ในอนาคตไม่แน่ว่าเราอาจไม่ต้องแปลกใจที่เวลาเลือกเมนูในร้านอาหารแล้วจะเจอหน้าเมนูสำหรับผู้สูงอายุ (Elderly Menu) อยู่ก่อนหรือหลังเมนูสำหรับเด็ก หรือสำหรับคุณสุภาพสตรี (Kids/Ladies Menu) ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปแล้วในปัจจุบัน

 

          4. Robotics in Restaurant

          ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง คือ 2 แรงผลักดันสำคัญให้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร ปัจจุบัน เราน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหารกันมากขึ้นตามร้านอาหารชื่อดังต่างๆ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดขึ้นมาจาก 1) ปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่ภาคบริการของไทยกำลังเผชิญ12 ประกอบกับ 2) ต้นทุนแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากตัวเลขค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของธุรกิจร้านอาหาร13 ที่สูงขึ้นจากวันละ 365 บาท ในปี 2561 มาอยู่ที่วันละ 385 บาทในปี 2565 และวันละ 390 บาทในครึ่งแรกของปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ปีละ 1.3% (2561-2565) ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาให้ความสนใจในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแบ่งเบาภาระของพนักงานเสิร์ฟอาหาร และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและบริหารจัดการ

 

9320 KT Compass08

 

          Krungthai COMPASS ประเมินว่าแม้การลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะมีต้นทุนอยู่บ้างแต่ในระยะยาวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าและอาจมีระยะเวลานานทุนไม่นานนักที่ 1.75-2.64 ปี14โดยเราตั้งสมมติฐานให้หุ่นยนต์ 1 ตัวสามารถทดแทนแรงงานได้ 1 คน และให้แรงงานมีอัตราค่าจ้างที่ 390 บาทต่อวัน ก่อนปรับตัวสูงขึ้นปีละ 1.3% ตามค่าเฉลี่ย 5 ปีหลังสุด ซึ่งระยะเวลาคืนทุนดังกล่าวค่อนข้างใกล้เคียงกับการคำนวณของบริษัท ไอดิโอ เทค จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า จุดคุ้มทุนโดยเฉลี่ยของหุ่นยนต์จะอยู่ที่ 1.5-2 ปี ซึ่งมาเร็วกว่าอายุของหุ่นยนต์ที่หากมีการซ่อมบำรุงที่ดีอาจใช้ได้นานถึงหลัก 10 ปี อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่าจุดคุ้มทุนของการใช้หุ่นยนต์ในธุรกิจร้านอาหารยังขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร อาทิ 1) อัตราการทดแทนระหว่างจำนวนพนักงานต่อหุ่นยนต์ โดยหากเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์หรือร้านที่เปิดนานกว่า 8 ชม. ที่ต้องใช้พนักงงานหลายกะก็อาจคุ้มทุนได้เร็วกว่าเนื่องจากหุ่นยนต์ 1 ตัวสามารถทดแทนพนักงานมากกว่า 1 คน รวมถึง 2) ต้นทุนการจ้างพนักงานในปัจจุบันของแต่ละร้านอาหารก็จะส่งผลต่อระยะเวลาคืนทุนด้วยเช่นกัน

 

          5. Sustainable Food 

          70% ของผู้บริโภค Gen. ใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนทางอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาจากขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ทำให้เทรนด์พฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบรักษ์โลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากผลการสำรวจของ International Food Information Council (IFIC) ที่พบว่า 73% และ 71% ของผู้บริโภคอเมริกันกลุ่ม Gen Z และ Millennials คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในการเลือกรับประทานอาหาร และให้ความสำคัญกับปัญหา Food Waste15 สำหรับข้อมูลของไทยซึ่งเผยแพร่โดยกรมควบคุมมลพิษชี้ว่าไทยมีการสร้างขยะเฉลี่ยถึงปีละ 27-28 ล้านตัน และกว่า 64% ของทั้งหมดคือ Food Waste ส่งผลให้ในแต่ละปี คนไทย 1 คนจะสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี16 โดย Food Waste บางส่วนที่เป็นอาหารส่วนเกินที่เกิดจากการที่ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร รวมถึงครัวเรือน ยังขาดความรู้และการจัดการอย่างจริงจัง

 

9320 KT Compass09

 

          ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจร้านอาหารในไทยบางส่วนได้มีการปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Sustainable Foods อาทิ S&P ที่มีการร่วมมือกับมูลนิธิเอสโอเอสเพื่อรับอาหารที่ใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุแล้วแต่ยังสามารถได้อีก 2-3 วัน ไปส่งต่อให้กับชุมชน หรือ Haoma ซึ่งเป็นร้านอาหารในไทยที่ได้รับรางวัล Michelin Green Star เนื่องจากมีความโดดเด่นเรื่องแนวทางการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน โดยทางร้านมีการออกแบบระบบกะเก็บน้ำฝนตลอดปีกว่า 200,000 ลิตร เพื่อใช้ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และยังนำมากรองด้วยระบบ Nordaq17 เพื่อทำเป็นน้ำดื่มสะอาดมาเสิร์ฟให้กับลูกค้าอีกด้วย

          นอกจากการปรับตัวของร้านอาหารแล้ว ปัจจุบันเรายังเห็นการเข้ามาของแพลตฟอร์มอย่าง Yindii และ Oho! ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถ “สั่งอาหารที่ผู้ประกอบการต้องการเคลียร์ในแต่ละวัน” ซึ่งเป็นการกอบกู้อาหารก่อนจะกลายเป็น Food Waste โดยการนำร้านอาหารเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มถือเป็นภาวะ Win-Win Situation ของเนื่องจากผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้และลด Food Waste ไปพร้อมๆ กัน

 

          ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร?

          1) เร่งพัฒนาคุณภาพด้านอาหาร และมาตรฐานการบริการที่ดี เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นในตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังสามารถเข้าออกจากตลาดได้ง่าย ทำให้มีร้านเกิดใหม่และร้านอาหารที่ต้องปิดตัวหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา โดยข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai ระบุว่ามากกว่า 50% ของร้านอาหารจะปิดตัวลงภายในปีแรกของการดำเนินธุรกิจ และกว่า 65% จะปิดตัวลงภายใน 3 ปี ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหารและบริการในทุกมิติ เช่น คุณภาพของวัตถุดิบ ทักษะในการปรุงอาหาร การให้บริการของพนักงาน รูปแบบในการนำเสนอ การควบคุมภาพให้มีความเสมอต้นเสมอปลาย รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การตั้งราคาที่สามารถแข่งขันได้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป ซึ่งมีผลต่อการตอบรับทั้งจากลูกค้าและสำนักรีวิวต่างๆ และส่งผลต่อยอดขายของธุรกิจในระยะยาว

 

9320 KT Compass10

 

          2) ติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของผู้บริโภค เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านการรับประทานอาหารมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ประกอบการควรอัพเดทเทรนด์ต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันเสมอ เช่น เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อผู้สูงอายุ รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารในช่องทางต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำมาออกแบบเมนูอาหารและการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

 

9320 KT Compass11

 

          3) ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จากปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจร้านอาหาร และต้นทุนค่าแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการมากขึ้น เช่น การนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการเสิร์ฟอาหารเพื่อลดภาระของพนักงานลง หรือร้านอาหารกลุ่มที่มีเมนูมาตรฐาน เช่น ร้านอาหารประเภท Fast Food อาจมีการใช้เครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติ (Self-Ordering Kiosk) เข้ามาใช้เพื่อลดปัญหาความแออัดในการยืนรอคิวสั่งอาหารหน้าเคาท์เตอร์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจนำระบบ Software ต่างๆเพื่อเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เช่น ระบบ POS (Point-of-Sale) ที่สามารถช่วยในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้ลดปริมาณขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ลงได้

 

Summary

          สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง บรรยากาศในการดำเนินชีวิต และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับอานิสงส์โดยตรง ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2565 เติบโตขึ้นราว 17.2% โดยมีมูลค่าประมาณ 5.7 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2566-2567 จะเติบโตต่อเนื่องราว 7.8% และ 5.8% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 6.2 และ 6.5 แสนล้านบาท กลับมาอยู่ในระดับ 92-97% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการร้านอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเริ่มเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ขึ้น

          Krungthai COMPASS ประเมินว่า 5 เทรนด์ของธุรกิจร้านอาหารที่จะได้รับความนิยมในอนาคตได้แก่ 1) Dining Experience หรือร้านอาหารที่สามารถมอบประสบการณ์แปลกใหม่ น่าจดจำ แต่เข้าถึงง่าย มีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงโควิด-19 ได้เร็วกว่า โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่ได้รับ Michelin Guide ที่ถูกค้นหามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 2) Health & Wellness Cuisine เมื่อผู้บริโภคต่างดูแลสุขภาพกันมากขึ้น และอาหารที่ดีต้องส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต 3) Elderly Food ร้านอาหารเพื่อดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมีโอกาสกลายเป็น Segment ดาวรุ่งในระยะถัดไป จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย 4) Robotics in Restaurant ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จะผลักดันให้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร และ 5) Sustainable Food ผู้บริโภค Gen. ใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนทางอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาจากขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบรักษ์โลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

          เพื่อรับมือกับภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะถัดไป…..….. ผู้ประกอบการควร 1) เร่งพัฒนาคุณภาพด้านอาหาร และมาตรฐานการบริการที่ดี เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในทุกมิติ เช่น คุณภาพของวัตถุดิบ ทักษะในการปรุงอาหาร การให้บริการของพนักงาน รูปแบบในการนำเสนอการควบคุมภาพให้มีความเสมอต้นเสมอปลาย รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ 2) ติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของผู้บริโภค เพื่ออัพเดทเทรนด์ต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันเสมอและสามารถออกแบบเมนูอาหารและการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และ 3) ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการเสิร์ฟอาหารหรือการนำระบบ POS (Point-of-Sale) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เป็นต้น

 

 

[1] ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) คือ ร้านอาหารที่มีพนักงานคอยให้บริการทุกขั้นตอน เช่น ภัตตาคาร สวนอาหาร ร้าน Fine Dinning 

[2] ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) คือ ร้านอาหารที่ลูกค้าจะต้องให้บริการตัวเองบางส่วน เช่น ร้าน Fast Food 

[3] ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) คือ ร้านอาหาร ที่จำหน่ายในรถเข็น ซุ้มขายอาหาร รถบรรทุกอาหาร หรือร้านเล็กๆ ซึ่งมีราคาไม่แพงและคนในท้องถิ่นนิยมรับประทาน

[4] HHI Index คือ ดัชนีที่ใช้วัดการกระจุกตัวอุตสาหกรรม โดยค่าตัวเลขยิ่งสูงหมายถึงยิ่งมีการกระจุกตัวของรายได้สูงการแข่งขันต่ำ ทั้งนี้มีค่าสูงสุดอยู่ที่ 10,000 

[5] ดัชนีค่า HHI ของธุรกิจร้านอาหาร คำนวณจากผลรวมของส่วนแบ่งตลาดยกกำลังสอง ของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหรรมร้านอาหารจากระบบ Enlite ณ ส.ค. 2566

[6] ข้อมูล Google Trend เฉลี่ยราย 3 เดือน (3mma) โดยใช้ Key Word ในการค้นหาว่า “Kuay Jup Mr. Jo”, “Jeh O Chula”,“Raan Jay Fai”, “Here Hai Restaurant”, “Rung Rueang Pork Noodle (Left Shop)” และ “Baan Phadthai”

[7] ยอดรีวิว ณ วันที่ 28 ส.ค. 2566

[8] ผลสำรวจ Food & Health Survey 2023 คำถาม “Definition of Healthy Food“ ซึ่งกำหนดให้ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถเลือกตอบได้สูงสุด 5 ข้อ จึงทำให้ผลรวมของแต่ละองค์ประกอบนั้นสามารถเกิน 100% ได้

[9] ผลสำรวจ Food & Health Survey 2023 คำถาม “To what degree do you believe that the food and beverages you consume has an impact on your overall mental/emotional well-being?

[10] APA ย่อมาจาก American Psychological Association โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงาน That gut feeling

[11] อ้างอิงจาก United Nations World Population Ageing ที่ให้เกณฑ์ของสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Aged Society) ว่าเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป

 

 

A9320

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!