- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 30 January 2024 16:05
- Hits: 7471
Krungthai compass เผยตัวเลขการส่งออกเดือน ธ.ค. ขยายตัวชะลอลงที่ 4.7% จับตาวิกฤตทะเลแดงกดดันการส่งออกปี 2567
โดย ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS
Key Highlights
● ส่งออกเดือน ธ.ค. ขยายตัว 4.7%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 4.9% จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่กลับมาหดตัว ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการนำเข้ากลับมาหดตัวที่ -3.1%YoY ทำให้ดุลการค้าเดือน ธ.ค. พลิกมาเกินดุลที่ระดับ 972.8 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้การส่งออกปี 2566 หดตัว 1.0% และดุลการค้าขาดดุลที่ 5,192.5 ล้านดอลลาร์ฯ
● ปัญหาการสู้รบในทะเลแดงที่ยืดเยื้อมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2567 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป ค่าระวางเรือสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางเอเชียไปยังยุโรป ณ วันที่ 25 ม.ค. 2567 ได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 300% จากเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2566 ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังยุโรป เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
มูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม 2566 ขยายตัว 4.7%
มูลค่าส่งออกเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 22,791.6 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 4.7%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 4.9% และต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 6.0% โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ต่อเนื่องตามภาวะการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าเกษตรกลับมาหดตัว สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้ขยายตัว 787.5% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 3.0%YoY ทั้งนี้การส่งออกปี 2566 ติดลบ 1.0%
ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่ขยายตัว
● การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 5.0%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.4%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+4.3%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+2.5%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+3.9%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+25.3%) และอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ (+6.8%) เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (-6.5%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-12.2%) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (-27.2%) เป็นต้น สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปี 2566 หดตัว -1.0%
● การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว -3.2%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 4.9%YoY ตามการส่งออกสินค้าเกษตรที่หดตัว -8.3%YoY ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (+27.4%) ยางพารา (+13.2%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+8.5%) ไก่แปรรูป (+0.9%) และเครื่องดื่ม (+6.2%) เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (-27.9%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-13.3%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-51.2%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (-40.8%) เป็นต้น สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรปี 2566 หดตัว -0.7%
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญ
● สหรัฐฯ : ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 0.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกปี 2566 ขยายตัว 2.8%)
● จีน : กลับมาขยายตัวที่ 2.0%YoY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบเครื่องคอมพิวเตอร์ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น (ส่งออกปี 2566 หดตัว -0.8%)
● ญี่ปุ่น : กลับมาหดตัวที่ -3.7%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกปี 2566 ขยายตัว 0.1%)
● EU27 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ -5.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกปี 2566 หดตัว -4.2%)
● ASEAN-5 : ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 18.0%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออกปี 2566 หดตัว -1.6%)
มูลค่าการนำเข้าเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 21,818.8 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาหดตัว -3.1%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 10.1%YoY จากการนำเข้าสินค้าที่พลิกกลับมาหดตัว ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-5.9%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-7.3%YoY) และสินค้าเชื้อเพลิง (-2.2%YoY) ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (+1.0%YoY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (+5.8%YoY) ขยายตัวได้ในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน การนำเข้าที่หดตัวส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ธ.ค. กลับมาเกินดุล 972.8 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับดุลการค้าปี 2566 ขาดดุล 5,192.5 ล้านดอลลาร์ฯ
Implication:
● ปัญหาการสู้รบในทะเลแดงที่ยืดเยื้อมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2567 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป การโจมตีเรือสินค้าที่ผ่านเส้นทางทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตีที่ยังไม่ยุตินั้น ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพราะบริษัทขนส่งหลายแห่งต้องเดินเรืออ้อมไปยังแหลมกู๊ดโฮป จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 25 ม.ค. 2567 ค่าระวางเรือสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางเอเชียไปยังยุโรปใต้ (Shanghai-Genoa) และเอเชียไปยังยุโรปเหนือ (Shanghai-Rotterdam) ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 300% จากปลายเดือน พ.ย. 2566 ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของผู้นำเข้าปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ยุโรปมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่มีต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่าการนำเข้าจากไทยหรือเอเชีย ถือเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยไปยุโรปที่อาจแย่ลงมากขึ้น ซึ่งการส่งออกไทยไปยุโรป เดือน ธ.ค. 2566 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน และปี 2566 หดตัว -4.2% โดยสินค้าสำคัญที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยุโรปในสัดส่วนที่สูง สำหรับผลกระทบต่อราคาสินค้าภายในประเทศไทย เบื้องต้นคาดว่าจะไม่รุนแรงหากค่าระวางเรือไม่เร่งสูงขึ้นต่อเนื่องและสถานการณ์คลี่คลายได้เร็วเพราะผู้ประกอบการอาจแบกรับภาระไว้ก่อน เนื่องจากค่าระวางเรือโดยเฉลี่ย (WCI) ล่าสุดอยู่ที่ 3,964 ดอลลาร์ฯ ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงปลายปี 2564 ที่เคยสูงแตะระดับ 9,000-10,000 ดอลลาร์ฯ ที่เป็นช่วงเกิดปัญหา global supply chain disruption
1738