- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 01 June 2024 16:24
- Hits: 8214
KKP เผย ‘ESG’ เรื่องเร่งด่วนของธุรกิจอสังหาฯ มากกว่าที่คิด – ไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘คนดี’ แต่เป็นวิถีที่พาธุรกิจให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันปัญหาเรื่อง ‘โลกร้อน’ ได้เปลี่ยนผ่านมาเป็น ‘โลกเดือด’ เป็นที่เรียบร้อย แม้แต่กรุงเทพมหานครซึ่งแต่ไหนแต่ไรคุ้นเคยกับอุณหภูมิสูงอยู่เป็นปกติยังพบว่าจากเดิมที่ปี 2014 อุณหภูมิสูงสุดของกรุงเทพเคยอยู่ที่ 37 องศา แต่ในปี 2024 นี้ อุณหภูมิสูงสุดได้ทะลุเกิน 40 องศาไปแล้ว ควบคู่ไปกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่นกรณีการตกหลุมอากาศที่รุนแรงของเครื่องบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ครั้งล่าสุด อันเป็นผลพวงจากอากาศที่ร้อนขึ้น
ในจังหวะนี้ เห็นได้ชัดว่า ESG ได้ก้าวกระโดดจากเพียงแนวคิดของการทำความดีเพื่ออนาคต มาสู่ความมั่นคงในปัจจุบันต่อทั้งธุรกิจและผู้บริโภค เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศสามารถเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงที่จับต้องได้และใกล้ตัวมากขึ้น และด้วยเหตุนี้ หากผู้เล่นคนไหนไม่สามารถชูเรื่อง ESG ได้อย่างโดดเด่น อาจกลายเป็นธุรกิจนอกสายตาของนักลงทุนไปโดยปริยาย
การเริ่มต้นผนวก ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกกระบวนการในธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจรีรอ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จึงได้จัดงานสัมนา ‘KKP Shaping Tomorrow เราปรับ-โลกเปลี่ยน’ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ ESG และคำแนะนำในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักของลูกค้าธนาคาร โดยได้รวบรวมผู้คร่ำหวอดในวงการมานานร่วมสนทนา พร้อมชี้ให้เห็นมุมมองและแนวทางการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจ
แวดวงอสังหาริมทรัพย์กับ ESG
หากมองจากมุมของธุรกิจสินเชื่อของธนาคาร ที่วันนี้หันมาสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้อธิบายให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดคือภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง และการก่อสร้าง ดังนั้น ในเมื่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการและใช้วัสดุก่อสร้างโดยตรง และอาคารบ้านเรือนก็จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงมีส่วนสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจก ผู้ประกอบการในไทยจึงต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงทางธุรกิจก่อนที่จะสาย นี่คือสาเหตุที่บ้านหรืออาคารยุคใหม่เน้นเรื่องของการ ‘เลือกวัสดุ’ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน มีการติดตั้งพลังงานทางเลือก และการออกแบบให้อยู่สบายได้กับธรรมชาติ เพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้า
“จากตัวอย่างที่เราลองคำนวนออกมา บ้านทาวน์เฮาส์ขนาด 2-4 ล้านบาทจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 26 ตันต่อหลัง ถ้าเราปลูกต้นไม้หนาแน่นในที่ดินหนึ่งไร่ จะดูดซับคาร์บอนได้ปีละประมาณ 1.2 ตันเท่านั้นเอง จะเห็นได้ว่าบ้านพื้นที่ประมาณเพียง 20 ตารางวา แต่ใช้เวลาเป็นสิบปี ต้นไม้หนึ่งไร่นั้นก็ยังดูดซับคาร์บอนที่เกิดขึ้นได้ไม่หมด อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จึงต้องกลับมาพิจารณาเรื่องนี้ เพราะการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำนั้น สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 10% โดยไม่เพิ่มต้นทุนในการก่อสร้าง แค่เราเลือกของให้ถูกต้อง ก็สร้างผลกระทบได้สูงอย่างยิ่ง”
นอกจากการเลือกวัสดุ นายสุรัตน์ยังเน้นถึงอีกเรื่องสำคัญว่าโครงการต้องคำนวนให้ชัดเจนว่าค่า Emission คิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่แค่ว่าหยิบจับวัสดุรักษ์โลกมาแล้วจะกลายเป็น Green Project ทันที ถ้าคำนวนไม่ได้ก็บริหารจัดการไม่ได้และไม่มีประโยชน์ การใช้เครื่องมือหรือโซลูชันในการติดตามและวัดผลของอาคารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นได้ในอนาคตอันใกล้
ความต่างที่ชัดเจน
นายเจมส์ ดูอัน ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท คอรัล โฮลดิ้ง จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำของประเทศไทยได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์เพื่อให้เห็นภาพถึงความเปลี่ยนแปลงที่วัสดุและการออกแบบสามารถสร้างความต่างได้ชัดเจน
“ถ้าดูจาก EUI (Energy Use Intensity หรือ อัตราการใช้พลังงานของกิจกรรม) การใช้พลังงานในอาคารของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 280 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี ส่วนสิงคโปร์ประมาณ 225 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี แต่ตึกออฟฟิศของคอรัลที่สุขุมวิท 39 มี EUI อยู่ที่ 68 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตรต่อปี อันนี้ยังไม่มีโซลาร์เซลล์ ถ้าเราใช้แนวคิดเรื่อง EUI ต่ำ ก็จะตอบโจทย์ในเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน และลูกค้าก็จะสามารถประหยัดพลังงานได้ด้วย
เรื่องความร้อน มีสองส่วนใหญ่ คืออาคาร กับเครื่องจักร (Mechanics) ที่อยู่ในอาคาร กรอบอาคารเราสามารถกันความร้อนเข้ามาได้ประมาณ 70% ส่วนอีก 30% เป็นเรื่องของ Internal Heat Gains ซึ่งเป็นความร้อนที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในอาคารและคนในบ้าน ที่ต้องประหยัดพลังงาน โดยปกติแล้ว พื้นที่ 1 ตารางเมตรจะใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 1,000 BTU แต่อาคารที่เราออกแบบจะใช้ขนาดไม่เกิน 250 BTU เพราะว่าความร้อนไม่เข้ามาตั้งแต่ต้น”
‘สีเขียว’ แพงกว่า จริงหรือไม่?
ในขณะที่ตัวแทนจากเอสซีจี นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้คลายข้อสงสัยว่า “ผู้ประกอบการ แน่นอนต้องคิดถึงต้นทุน แต่บ่อยครั้งเรามองแต่ต้นทุนเริ่มต้น (Initial Cost) ไม่ได้มองถึงวงจรท้ายสุด (Last Cycle) พูดง่ายๆ ก็คือต้นทุนตอนสร้างกับต้นทุนตอนอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วตอนอยู่สามารถคืนทุนได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นอาคารที่เราใช้เอง ดังนั้นอย่าไปมองการก่อสร้างเป็นต้นทุนทั้งหมด แต่มองเป็นการลงทุนน่าจะคุ้มกว่า คือทุกครั้งที่ลงทุน มั่นใจว่าจะสามารถประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟที่คุ้มค่ากับการลงทุนได้แน่นอน
ต้นทุนตอนสร้างมาจากการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งในช่วงหลังเทคโนโลยีการผลิตวัสดุรักษ์โลกบางตัวก็พัฒนาขึ้น ทำให้ราคามีความสมเหตุสมผล อย่างปูนซีเมนต์ประเภทคาร์บอนต่ำตอนนี้ราคาเท่าปูนซีเมนต์มาตรฐานทั่วไปแล้ว ดังนั้นวัสดุที่ทำเพื่อโลกนั้นจึงไม่ได้แพงเสมอไป
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือการวางแผน ถ้าไม่มีแผนงานเรื่องความยั่งยืนเป็นจุดเริ่มต้น แต่เป็นการค่อยๆปรับ หากต้องแก้หน้างาน ก็จะมีต้นทุนเยอะขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าเราใช้เแนวคิดเรื่องอาคารสีเขียวตั้งแต่ต้นแทนที่จะมาอัดวัสดุรักษ์โลกใส่เข้าไปทีหลัง ต้นทุนอาจเพิ่มเพียงนิดหน่อยหรืออาจไม่เพิ่มด้วยซ้ำ และยังตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้ามากขึ้น”
นายวชิระชัยยังได้ย้ำถึงความเร่งด่วนไว้ว่า “ถึงประเทศไทยจะปักธงไว้ปี 2065 แต่มันไม่ใช่เรื่องของปีนั้นอย่างเดียว ตอนนี้เราอาจยังไม่เห็นเทรนด์ชัดเจน แต่มันเป็นคลื่นใต้น้ำ โผล่ขึ้นมาแล้วผลกระทบใหญ่เลย”
‘ปรับตัว’ คือคำตอบเดียว
สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดต่อคนที่ยังไม่รีบปรับตัว นายสุรัตน์ได้ให้ข้อมูลว่า “ทางสหภาพยุโรป (EU) ได้เริ่มตั้งกำแพงภาษีของสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ในสหราชอาณาจักรก็ประกาศเรื่องภาษีคาร์บอนแล้ว ในด้านการลงทุน กองทุน Blackrock ซึ่งมีขนาดใหญ่มากๆ ของโลกก็ออกนโยบายชัดเจนว่า ESG เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถ้าเราไม่ทำเรื่อง ESG นักลงทุนก็อาจจะไม่มาลงทุน แม้ดูจะเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้เน้นการส่งออกสินค้า แต่อุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เยอะมากแล้ว จึงหนีไม่พ้นที่มาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถูกใช้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน
นี่คือสาเหตุที่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายใหญ่หลายรายได้ย้ายมาสู่ตลาดคาร์บอนต่ำอย่างชัดเจน โดยมีการตั้งเป้าหมายทั้งเรื่องปริมาณก๊าซเรือนกระจก เครื่องชาร์จรถอีวี พลังงานแสงอาทิตย์ วัสดุที่ยั่งยืน และการจัดการของเสีย คำถามที่เราควรถามคือ เราจะมีที่ยืนหรือถ้าเราไม่ทำเรื่องนี้?”
51048