WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เริ่มต้นปีมะแม โดนม็อบเกษตรรุม มาตรการรัฐบาล'ไม่ใจ' อัดเงินกระตุ้นศก.ไปไม่ถึงรากหญ้า

มติชนออนไลน์ :

- มึนอัดฉีดแต่เงินไม่ถึงรากหญ้า

    ผ่านมาแล้ว 4 เดือน ในการเข้ามาบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบขึ้นอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันในภาพรวมเศรษฐกิจนั้นถือว่าอยู่ใน "ภาวะทรงตัว" 

     ที่กล่าวว่าทรงตัว เนื่องจากในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จัดขึ้นประจำทุกเดือน ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ใช้เวลาหารือนานกว่า 7 ชั่วโมง ทีมขุนพลเศรษฐกิจต่างเห็นพ้องตรงกันว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้ ยังไม่ทำให้เงินตกไปถึงกลุ่มคนรากหญ้าได้อย่างเต็มที่

      ทั้งนี้ทาง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการประชุมร่วมว่า ทางกุนซือเศรษฐกิจแห่งยุคทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. ต่างแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจมีผลดีต่อผู้มีรายได้ระดับกลางและระดับสูง แต่ผู้มีรายได้ระดับต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จำนวนประมาณ 15 ล้านคน กลับไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น จึงถือว่าไม่บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า พร้อมใช้อำนาจที่มีอยู่ทุกรูปแบบ เพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ ช่วยดันรายได้เศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้น ช่วยกลุ่มเกษตรให้มีรายได้ดีขึ้น 

    จากการประชุมร่วม ครม.-คสช.ดังกล่าวเชื่อว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจจะสับสนเล็กน้อยและต้องกลับมาทบทวนมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ อีกครั้ง เนื่องจากตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศได้คลอดมาตรการต่างๆ มากมาย ด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก ทั้งการแก้ปัญหาราคาข้าวและยางตกต่ำ การชดเชยรายได้ให้กับชาวนาและชาวสวนยาง จนมาถึงปัญหาสินค้าขาดแคลนเช่น น้ำมันปาล์ม อย่างไรก็ตาม ทางหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและคณะที่ปรึกษายังลงความเห็นถึงปัญหารายได้เกษตรกรอยู่

- มาตรการชดเชยรายได้..ไม่โดน

     ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามายึดอำนาจบริหารประเทศในฐานะ คสช. เรียกได้ว่า เป็นขวัญใจชาวนาเลยทีเดียว เพราะสามารถเคลียร์การจ่ายเงินจำนำข้าวชาวนาที่ล่าช้า ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ถึง 8 แสนราย วงเงิน 90,000 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมาเป็นรัฐบาล ครม.ได้ออกแพคเกจเศรษฐกิจทั้งการกระตุ้นการเบิกจ่ายภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างท่อต่างๆ โดยหนึ่งในแพคเกจเศรษฐกิจแรกมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร คือมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรด้วยการจ่ายเงิน 1,000 บาทให้กับชาวนาที่มีไร่ไม่ถึง 15 ไร่ ที่ประเมินว่ามีมากกว่า 3.5 ล้านครัวเรือน วงเงินถึง 40,000 ล้านบาท เพื่อหวังให้กลุ่มเกษตรกรนำเงินไปใช้จับจ่ายซื้อของกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงิน 1,000 บาทนั้น ไม่สามารถชดเชยรายได้เกษตรกรได้ เนื่องจากราคาข้าวที่ตกลงจาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือ 7,000-8,000 บาทต่อตัน เพราะปริมาณข้าวในตลาดมีอยู่จำนวนมาก ทั้งข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่มีมากกว่า 17 ล้านตัน ประกอบกับผลผลิตข้าวล็อตใหม่ที่กำลังออกอีกหลายล้านตัน 

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึง หลังจากปริมาณฝนที่ตกลงในช่วงฤดูฝน ปี 2557 มีน้อยกว่าที่คาด ทำให้กรมชลประทานต้องประกาศงดส่งน้ำทำนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำกลอง ส่งผลกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังถึง 7.77 ล้านไร่ คิดเป็นเกษตรกรทั้งสิ้นประมาณ 260,000 ครัวเรือน และหันมาออกมาตรการจ้างเกษตรกรขุดลอกคลอง และซ่อมบำรุงคลองชลประทาน ประตูระบายน้ำต่างๆ ของกรมชลประทานตลอดช่วงระยะเวลาฤดูแล้ง 6 เดือนด้วยแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน แต่ปัจจุบัน จากยอดการสมัคร พบว่ามีคนมาสมัครงานทั้งสิ้น 32,262 คน โดยในจำนวนนั้นมีเกษตรกรมาสมัครงานขุดลอกคลอง 12,933 คน จากเป้าหมายทั้งโครงการที่ตั้งไว้ 1.7 แสนครัวเรือน ซึ่งยังดูห่างเป้าหมายมาก

นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทยให้ความเห็นว่า ค่าแรง 300 บาทต่อวันไม่ดึงดูดใจชาวนาพอและเชื่อว่าชาวนาส่วนใหญ่จะหันไปปลูกข้าวนาปรังต่อ แม้กรมชลประทานได้ประกาศงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมชลประทานยังพบว่า มีชาวนาลักลอบปลูกข้าวนาปรังอยู่ถึง 4 ล้านไร่ 

- มาตรการดันราคายางกระสุนด้าน

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ยังถือว่าไม่มีอะไรคืบหน้า แม้รัฐบาลได้แต่งตั้งนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อมาดูแลปัญหาราคายางแล้ว รวมถึงการออกมาตรการระยะสั้นด้วยการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้กับชาวสวนยาง 1,000 บาทต่อไร่ จำนวน 8.5 แสนราย วงเงิน 8,500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันการจ่ายเงินยังเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะจากข้อมูลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ล่าสุด ในเดือนมกราคม 2558 พบว่าเพิ่งจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกร 5.08 แสนครัวเรือน จำนวนเงิน 4,944.45 ล้านบาท หรือคิดเป็นจ่ายชาวสวนยางเพียง 50% ทั้งๆ ที่ตั้งเป้าหมายจะจ่ายให้ครบทุกรายให้ทันต้นเดือนมกราคมนี้ 

แต่ที่สำคัญคือ มาตรการทั้งหมดยังไม่ทำให้ราคายางในตลาดไปถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตามที่ชาวสวนยางร้องขอ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้งัดมาตรการดึงราคายางทั้งหมด 16 มาตรการ ใช้งบประมาณรวมทั้งการให้สินเชื่อถึง 7.85 หมื่นล้านบาทแล้ว อาทิ การให้สินเชื่อสหกรณ์การเกษตร อุตสาหกรรมต่างๆ รวบรวมซื้อยางจากเกษตรกร การตั้งกองทุนมูลภัณฑ์กันชนหรือบัฟเฟอร์ฟันด์เพื่อซื้อยางมาเก็บและขายออกตอนราคาดีเพื่อชี้นำราคาตลาด 

แต่ที่ผ่านมาช่วยดันราคายางจาก 42.50 บาทต่อ กก. ขึ้นมาเป็น 60 บาทต่อ กก. อีกทั้งเป็นราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ซึ่งถือเป็นยางประเภทเกรดดีผ่านการแปรรูปมาแล้ว โดยจะมีเพียงพ่อค้ายางรายใหญ่เท่านั้นที่สามารถผลิตได้ ประโยชน์จึงตกแก่พ่อค้ายางรายใหญ่ ขณะที่เกษตรกรรายย่อยที่ผลิตได้เพียงน้ำยางและยางแผ่นดิบยังขายยางได้ในราคาระหว่าง 40-50 บาทต่อ กก.เท่านั้น นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันทั่วโลกลดลงยังส่งผลทำให้ราคายางลดลงตามมาด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลยาวไปถึงช่วงเดือนมีนาคม ทำให้รัฐบาลต้องเร่งรัดมาตรการต่างๆ มากขึ้น เพราะยางที่อุตสาหกรรมใช้ผลิตจะเป็นส่วนผสมยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ที่มาจากปิโตรเลียม หากราคาน้ำมันถูกลง อุตสาหกรรมจะใช้ยางสังเคราะห์เป็นส่วนผสมมากกว่ายางธรรมชาติ ความต้องการใช้ยางธรรมชาติก็จะยิ่งลดลงอีก 

จากมาตรการดังกล่าวที่ดูจะเริ่มไม่ได้ผล ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในฐานะรองหัวหน้า คสช. เรียกผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อให้เอกชนช่วยรัฐบาลซื้อยางชี้นำราคาตลาด 80 บาทต่อ กก. โดยภายใน 1 เดือนราคายางจะต้องไปอยู่ที่ 80 บาทต่อ กก.เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นให้ได้!! 

- นำเข้าน้ำมันปาล์มหวั่นกระทบราคาผลผลิต 

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลต้องเผชิญปัญหาใหม่คือ น้ำมันปาล์มขาดแคลน โดยนางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มออกมาปริมาณน้อย ทางการจึงต้องใช้สต๊อกน้ำมันปาล์มมาผลิตแทน ซึ่งปัจจุบันเหลือสต๊อกน้ำมันปาล์มอยู่เพียง 1.13 แสนตัน ซึ่งต่ำกว่าระดับวิกฤตที่กำหนดไว้ที่ 1.35 แสนตัน หากปล่อยไว้อีก 1 เดือน อาจจะทำให้น้ำมันปาล์มขาดตลาดเหมือนการแย่งซื้อน้ำมันปาล์มในปี 2554 ได้ รัฐบาลจึงต้องเร่งนำเข้าน้ำมันปาล์มจำนวน 5 หมื่นตัน ใช้งบประมาณ 1.5 พันล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของการนำเข้าน้ำมันปาล์มคือ อาจจะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศไทยตกลงได้ เนื่องจากมีผลผลิตเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งนำเข้าตรงกับช่วงเวลาที่ผลผลิตน้ำมันปาล์มจะออกสู่ตลาดเช่นกัน

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์ม 16 จังหวัดภาคใต้ ระบุว่า ราคาปาล์มทะลายในปัจจุบัน ที่ 5.50 บาทต่อ กก.ซึ่งยังมีกำไร แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าน้ำมันปาล์ม 5 หมื่นตัน ราคาจะตกลงทันที 

จากความกังวลดังกล่าวทำให้รัฐบาลประกาศประกันราคาตลาดด้วยการรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อ กก. ดังนั้น จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มขาดแคลนต้องจับตาดูว่า จะทำให้เกษตรกรพอใจหรือไม่ และรัฐบาลจะบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์มได้ดีเพียงใด เพื่อป้องกันการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่อาจส่งผลกับราคาสินค้าในประเทศได้

จากปัญหาพืชผลสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิด จึงบ่งบอกได้ว่า แม้ทางรัฐบาลจะพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อชดเชยราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำ หากราคาพืชผลยังไม่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงิน 1,000 บาท ทั้งชาวนาและชาวสวนยาง การจ้างชาวนาขุดลอกคลอง จะไม่สามารถทำให้เงินถึงมือเกษตรกรได้ เพราะการทำงานของรัฐบาลยังล่าช้า และมาตรการต่างๆ ยังมีค่าตอบแทนที่ไม่ดึงดูดใจมากพอ

คงต้องจับตาดูว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ทางรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะกิจใหม่ๆ เพื่อเกษตรกรหรือไม่ เพราะหากราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีขึ้น ความมั่นคงของรัฐบาลอาจสั่นคลอนก็เป็นได้

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!