WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เจาะปัญหาฝ่าวิกฤตค่าครองชีพพุ่ง อีกบททดสอบรบ.'บิ๊กตู่'


มติชนออนไลน์ : -รัฐบาลพูดอย่าง ประชาชนพูดอีกอย่าง

       กลายเป็นประเด็นร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้งกับประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคแพงขึ้นจริงหรือไม่ หลังจากมีเสียงร้องเรียนจากทางภาคประชาชนจำนวนมากที่ออกมาบอก ขณะนี้ราคาสินค้าตามท้องตลาดได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารจานเดียวและอาหารสำเร็จรูป แต่กระนั้นทางฝั่งรัฐบาล นำโดยจอมทัพอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ หรือหม่อมอุ๋ย กลับกลายเป็นซ้ำรอยเดิมอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางวัชรี วิมุกตายน กลับวลีเด็ดกลายเป็นประเด็นร้อน ?ของแพง คิดกันไปเอง? 

       รองนายกฯได้ออกมาชี้แจงประชาชนถึงปัญหาราคาสินค้าแพงว่า อาหารจานเดียวราคาไม่ได้ลง วัตถุดิบตอนนี้มันลงนะ ราคาผักก็ลงแล้ว อีกทั้งในการประชุมเพื่อให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศกับคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภานั้น ทางรองนายกฯยังหยิบยกตัวอย่างเรื่องดัชนีผู้บริโภคเรื่องเงินเฟ้อนั้นดีขึ้น แต่คนก็ยังบอกกันว่าของแพง ก่อนที่จะโทษนักข่าวที่ไม่ลงข่าวตามที่ให้ข้อมูลไป

       อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สามารถต้านแรงเสียดทานต่อกระแสสังคมอีกต่อไป ทางรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงต้องออกมาสั่งการในการประชุมติดตามผลงานคณะรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยกำกับดูแลราคาและตรวจสอบราคาสินค้าตามตลาดต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชน พร้อมทั้งหาสาเหตุ ว่าทำไมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคถึงได้มีราคาแพงขึ้น

-ราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีปรับตัวสูงขึ้น

       ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่รัฐบาลในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 5 เดือนที่แล้วจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า สาเหตุที่ทำให้เริ่มมีการร้องเรียนขอปรับราคาสินค้าและการบริการต่างๆ เริ่มมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก จากราคาที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตกลงมาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทย อาทิ น้ำมันดีเซลและเบนซินถูกลงตามมา ทางนักวิเคราะห์ต่างๆ ออกมาคาดการณ์ว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่เติมน้ำมันดีเซลและเบนซินซึ่งมีจำนวนมากได้ถึงเดือนละ 1,000 บาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้มีการปรับโครงสร้างพลังงานเชื้่อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อภาคครัวเรือนและผู้ใช้รถยนต์อื่นๆ นั่นคือ การยกเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี ซึ่งเป็นก๊าซสำหรับใช้หุงต้มในภาคครัวเรือน และเป็นก๊าซสำหรับประชาชนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเติมรถยนต์ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ใช้เงินจำนวนมหาศาลจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าแทรกแซงราคาแอลพีจีให้ถูกลงอยู่นานจนโครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบือน 

ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิกการอุดหนุนราคาแอลพีจี จึงส่งผลให้ราคาขายปลีกแอลพีจีทั้งภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม มีราคาสูงขึ้นถึง 24.16 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากที่ก่อนหน้าไม่ถึง 20 บาทต่อกก. นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังได้ปรับราคาขายปลีกก๊าซยานพาหนะแก๊สธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นไปอีก กก.ละ 1 บาท ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจากราคา 11.50 บาทต่อ กก. เป็น 12.50 บาทต่อ กก.

-ต้นทุนสูงราคาอาหารเลยสูงตาม

จากปัจจัยราคาปรับตัวสูงขึ้นของแอลพีจีและเอ็นจีวี จึงทำให้ประชาชนทั่วไป ผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป รวมทั้งผู้ประกอบการทั้งร้านค้าอาหาร และรถร่วมโดยสารแท็กซี่ต่างออกมาเรียกร้องขอขึ้นราคาสินค้าและการบริการเป็นแถว ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอาหารจานเดียว ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันโครงสร้างต้นทุนของอาหารจานเดียวตามท้องตลาดนั้น หากคิดราคาปกติที่ 30-35 บาทต่อจานนั้น ต้นทุนหลักๆ จะประกอบด้วย ข้าวคิดเป็นสัดส่วนละ 5 บาท เนื้อหมูเนื้อไก่ 15 บาท ผัก 7-8 บาท ทำให้ร้านค้ามีกำไรสุทธิเพียง 1-2 บาทต่อจาน ซึ่งนอกจากต้นทุนหลักแล้ว ทางผู้ประกอบการยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รวม เช่น ค่าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ค่าน้ำมันปาล์ม ค่าเช่าที่ร้าน ค่าน้ำค่าไฟ และบางผู้ประกอบการมีค่าจ้างพนักงานด้วย ดังนั้น จากการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ทางร้านอาหารจึงมองว่าทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น 

นอกจากราคาก๊าซแล้ว ขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มตามท้องตลาดยังปรับตัวสูงขึ้นถึง 45 บาทต่อขวด จากก่อนหน้าที่ 42 บาทต่อขวด เนื่องจากที่ผ่านมานั้นทางผลผลิตปาล์มนั้นขาดตลาด ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบกว่า 5 หมื่นตันเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ทำน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพียงพอต่อความต้องการตลาดและไม่ขาดตลาดจนเกิดวิกฤตอย่างเช่นในปี 2554 ที่ต้องจำกัดการซื้อของแต่ละครอบครัว

อย่างไรก็ตาม จากที่มีประชาชนมาร้องเรียนเป็นจำนวนมากถึงราคาอาหารตามห้างสรรพสินค้า ที่ว่ากันว่าบางห้างนั้น อาหารจานเดียวมีราคาพุ่งสูงถึง 50-80 บาทต่อจาน ทำให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นิ่งนอนใจไม่ได้และได้เชิญผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ 7 ราย ประกอบด้วย เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ท็อปส์ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ มาบุญครอง และแม็คโคร เพื่อขอความร่วมมือให้ทุกห้างจัดมุมอาหารเพื่อจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ 10 เมนูยอดนิยมพื้นฐาน อาทิ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัดกะเพรา ข้าวไข่เจียว ข้าวหมูแดง ข้าวราดแกง เป็นต้น ในราคา 30-35 บาท ยกเว้นห้างเซ็นทรัลและห้างเดอะมอลล์จะกำหนดราคา 40 บาท จัดทุกสาขาทั่วประเทศ เป็นเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์-มิถุนายนนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน หลังจากที่เคยประสบผลสำเร็จกับโครงการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่มาแล้ว

ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ คือกรมการค้าภายใน (คน.) ได้ออกตรวจตลาดทุกวันเพื่อตรวจสอบราคาต้นทุนการผลิตและราคาอาหารอยู่เรื่อยๆ และหากพบว่าร้านค้าใดขายเกินราคาตามความเป็นจริง จะส่งหนังสือให้ชี้แจงต้นทุนการผลิต โดยหากผิดจริงจะปรับเงินหรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต่อจากนี้ต้องมาติดตามว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยคุมราคาสินค้าบริโภคเพื่อประชาชนได้จริงหรือไม่

-ขึ้นราคาค่าโดยสาร..ยิ่งซ้ำเติม 

ขณะที่ฟากการขนส่งสาธารณะก็พบว่ามีปัญหา แม้ราคาน้ำมันจะลดลงจะส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์เติมน้ำมันในราคาที่ถูกลง แต่ในฝั่งของประชาชนที่นั่งรถโดยสารหรือรถขนส่งเดินทางกลับต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางผู้ประกอบการรถร่วมโดยสารและรถแท็กซี่ต่างเรียกร้องให้ขึ้นราคาค่าโดยสาร โดยนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ชี้แจงถึงสาเหตุที่ขอขึ้นราคาค่าโดยสารว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี 2 ครั้งหลังรวมขยับขึ้นมาอีก 1.50 บาท ซึ่งส่งผลกระทบให้รายจ่ายผู้ขับขี่แท็กซี่เพิ่มขึ้นวันละ 100 บาท ทำให้ต้องวิ่งแบบขาดทุนมาตลอด ประจวบเหมาะกับที่ราคาค่าโดยสารไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว พร้อมปรับขึ้นค่ามิเตอร์จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 13 เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และขอให้ประสานกระทรวงพลังงานให้ระงับการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีในครั้งต่อไป พร้อมขู่ว่าหากรัฐบาลไม่อนุมัติเชื่อว่าปัญหาเดิมๆ จะต้องกลับมาอีก เช่น การปฏิเสธผู้โดยสาร (แม้ปัจจุบันปรับมิเตอร์ขึ้นแล้วก็ยังพบการปฏิเสธผู้โดยสารอยู่ดี) การให้บริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สภาพรถที่ให้บริการเก่า 

ขณะที่นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วมบริการ ขสมก.) ยังเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการปรับค่าโดยสารประจำทางขึ้นอีก 3 บาท โดยรถธรรมดาขึ้นจาก 8 บาท เป็น 11 บาท และรถโดยสารปรับอากาศปรับราคาเริ่มต้นจาก 11-12 บาท เป็น 14-15 บาท มิฉะนั้นจะเห็นผู้ประกอบการรถร่วมประมาณ 2,500 คัน ทยอยหยุดวิ่งให้บริการ แม้ว่ากระทรวงคมนาคมมีมติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาทแล้ว แต่ดูเหมือนยังไม่โดนใจผู้ประกอบการ

-ขึ้นเงินเดือนขรก.-รสก.กลบรายจ่าย

ดังนั้น จากปัญหาทั้งค่าอาหาร สินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าเดินทางที่มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเช่นกัน จึงอาจส่งผลให้ค่าครองชีพกับประชาชนที่มีรายได้ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับปานกลาง ซึ่งทางรัฐบาลได้มีมาตรการเพิ่มเงินเดือนหรือเพิ่มค่าครองชีพให้กับข้าราชและรัฐวิสาหกิจทั่วไป ทั้งกับพนักงานชั่วคราวให้พนักงานราชการที่ได้รับการจ้างวุฒิการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีค่าตอบแทนไม่ถึง 13,285 บาท ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มอีกเดือนละ 2,000 บาท การปรับเพดานบัญชีค่าตอบแทนขั้นสูง กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ ร้อยละ 4 นอกจากนี้ยังปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจจำนวน 35 แห่ง ด้วยการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดของรัฐวิสาหกิจ ขั้นที่ 1 เป็นอัตรา 9,040 บาท จากเดิม 5,780 บาท เพื่อหวังว่าจะเป็นการนำร่องให้ภาคเอกชนขยับรายได้ให้พนักงานเอกชนตามรัฐบาล แต่จนถึงขณะนี้ภาคเอกชนยังเงียบ ที่สำคัญลูกค้าจ้างแรงงานรายวันที่เป็นกลไกหลักกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังไม่มีใครคิดที่จะปรับค่าแรงรายวันให้เพิ่มขึ้น

แต่ค่าครองชีพ ทั้งกินทั้งใช้จ่ายรายวันขยับไปรอท่าอยู่ก่อนแล้ว!!

ก็หวังแต่เอาใจช่วยรัฐบาลที่มาพร้อมความคาดหวังของประชาชน ทั้งการทำให้บ้านเมืองสงบจริงๆ และแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจให้ประชาชนได้

มิฉะนั้นแล้ว ประชาชนที่เป็นฐานเสียงคอยเชียร์อยู่ อาจจะเปลี่ยนข้างก็เป็นได้

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!