WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มรสุมค่าเงิน กระหน่ำใส่'ส่งออก'ไทย

 


   มติชนออนไลน์ : เศรษฐกิจภาพรวมของไทยยังไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นอย่างที่คาดหวังหรือไม่ ด้วยมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ผันแปร 

   ภาคการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทย เป็นความหวังสำคัญที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2558 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย แต่เมื่อมองไปข้างหน้า ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเองก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวดีนัก

   จากการดำเนินนโยบายอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ค่าเงินอียูและเยนอ่อนค่าลงราว 10% เมื่อเทียบกับเงินบาท ผนวกกับราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียลดลง 8% ค่าเงินสกุลอื่นก็อ่อนลงเช่นกัน

    ผู้ส่งออกของไทยจึงต้องลดราคาสินค้าเพื่อให้แข่งขันกับเขาได้

     ส่วนรายได้ที่ยังส่งออกปริมาณเท่าเดิม เมื่อแปลงค่าเงินต่างประเทศมาเป็นบาท จะพบว่ามูลค่าที่ได้รับลดน้อยลงไป

     เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชน ตบเท้าเข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีการนำเสนอข้อมูลผลกระทบของภาคส่งออกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน โดยเฉพาะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา จึงอยากให้ ธปท.ดูแลเรื่องอัตราค่าเงินบาทให้มีความเหมาะสม และอยู่ในระดับที่ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันได้ พร้อมเสนอให้สนับสนุนให้ใช้เงินของประเทศคู่ค้าแทนการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 

      ที่ผ่านมาภาคเอกชนยอมรับว่า ธปท.ดูแลค่าเงินบาทเหมาะสมแล้ว แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีปัญหาทำให้ค่าเงินของเขาอ่อนลงเมื่อเทียบค่าเงินบาท จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร 

     ทางผู้แทน ธปท.ยินดีรับฟังและจะนำข้อมูลของภาคเอกชนมาพิจารณา เพื่อดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อส่งออก โดยจะเข้าดูแลเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมีความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไป แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 

      ค่าบาทขณะนี้มีความผันผวนเพียง 3% จากช่วงหลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 5-6% แต่ถึงอย่างไรผู้ส่งออกก็ต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น

      ข้อมูลจาก ธปท.ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทและสกุลเงินภูมิภาค เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เทียบกับสิ้นปี 2557 พบว่ามีทั้งที่อ่อนค่าลงและแข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.9% เช่นเดียวกับค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าขึ้นในระดับเดียวกัน 

      ส่วนค่าเงินด่องของเวียดนาม แข็งค่าขึ้น 0.3% ดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่าลง 2.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินจ๊าดของพม่า อ่อนค่าลง 2.3% และค่าเงินรูปีของอินเดีย อ่อนค่าลง 1.8%

     หากค่าเงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ แข็งค่าหรืออ่อนค่าลงในระดับเดียวกัน ความสามารถในการแข่งขันของไทยจะไม่ลดลงมากนัก 

       แต่จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า หากส่งออกไปยังตลาดเดียวกัน สินค้าของไทยจะราคาแพงกว่าสินค้าของสิงคโปร์ พม่า และอินเดีย เพราะสกุลเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนค่าลง รวมทั้งสินค้าจากเวียดนามที่ราคาจะถูกกว่าไทย แม้เงินด่องแข็งค่าขึ้น แต่ก็แข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่าค่าบาท 

     อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การนำเข้า การที่ค่าบาทแข็งขึ้น ย่อมทำให้ไทยได้รับประโยชน์เช่นกัน เพราะราคาสินค้านำเข้าจะถูกลง

      ดังนั้น การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจึงต้องดูในระดับที่สมดุล และรับได้ทั้งผู่ส่งออกและนำเข้า

      สำหรับ ธปท. ใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ โดย ธปท.จะไม่กำหนดระดับอัตราแลกเปลี่ยน ณ ค่าใดค่าหนึ่ง และจะดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจากเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไร

        ที่สำคัญคือ การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่ขัดกับนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

       ค่าเงินบาทที่แกว่งตัวขึ้นลงตลอดเวลา เนื่องจากบางขณะอุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกัน ทำให้ ธปท.มีนโยบายให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดภายใต้เงื่อนไข คือดูแลความผันผวน ของค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เศรษฐกิจรับได้ รักษาความสามารถในการแข่งขันโดยพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาทเป็นหลัก ประกอบด้วยสกุลเงินของคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญในตลาดที่สาม ไม่ใช่เฉพาะดอลลาร์สหรัฐ 

      รวมทั้งต้องไม่ฝืนแนวโน้มที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพราะจะนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลมากขึ้น

       ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ระบุว่า การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการส่งออกปีนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไม่แข็งแรง การฟื้นตัวของภาคส่งออกปีนี้จึงเป็นไปได้ยาก ผู้ส่งออกต้องมีการแข่งขันสูงในตลาดโลก 

       อัตราแลกเปลี่ยนของเราหากแพงกว่าประเทศคู่แข่งก็จะเป็นการบั่นทอนอำนาจในการแข่งขันของเรา ดังนั้น จึงควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ให้ใกล้เคียงในระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านหรือคู่แข่ง

       สำหรับ ค่าเงินบาทปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ในระดับ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้แข็งเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะจากการประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ของยุโรป ธนาคารคาดว่าค่าบาทจะแข็งค่ามากกว่านี้ อัตราแลกเปลี่ยนในระดับนี้ไม่น่าเป็นห่วง 

      แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนของเรากับประเทศคู่แข่ง โดยค่าเงินบาทปัจจุบัน เปรียบเทียบกับช่วงปลายปี 2557 แข็งค่าขึ้นราว 3-5% ประเทศคู่แข่งในการส่งออก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ จะส่งผลกับการแข่งขันของเราในตลาดโลก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรที่เราส่งออกจำนวนมาก มีการแข่งขันด้านราคากันสูง

      ในแง่การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจจะมีผลต่อค่าเงินบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการเงินเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาผิดปกติ ทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์ เงินทุนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น 

      อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีอยู่ โดยต้องติดตามใกล้ชิดในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้าที่ธนาคารยุโรป (อีซีบี) จะเริ่มใช้มาตรการคิวอี ว่าจะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในภูมิภาคมากน้อยเพียงใด และ ธปท.จะมีมาตรการดูแลอย่างไร 

      การเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนเคลื่อนย้าย อาจจะเป็นการเตรียมกระสุนไว้ แต่ก็ต้องดูความจำเป็นเพราะเงินทุนไม่ได้ไหลถาโถมเข้ามามากเหมือนช่วงการทำคิวอีของสหรัฐ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

        ปีนี้ ภาคการส่งออกยังมีโจทย์ยากที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะหลากหลายปัจจัยที่มากระทบ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก และภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าและคู่แข่ง 

      แต่ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน 

      ภาครัฐต้องดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม

      เอกชนต้องปรับตัวรองรับความสี่ยง เพื่อร่วมกันผลักดันให้สามารถส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย 

      เพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!