WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

‘นิด้า’ ชูนโยบายคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชี้ช่วงนี้ไม่ใช่จังหวะลดดอกเบี้ยนโยบายหวั่นติดกับดักสภาพคล่อง

     ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองสัญญาณเงินเฟ้อติดลบ หวั่นเศรษฐกิจไทยติดหล่ม ชี้สถานการณ์โดยรวมน่ากังวลหลังรายได้ส่งออก-ท่องเที่ยวชะลอตัว ระบุควรใช้เครื่องยนต์ด้านการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกรงติดกับดักสภาพคล่อง

     รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ MPA NIDA เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่สู้ดีนัก ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาติดลบต่อเนื่อง โดยเดือนกุมภาพันธ์เงินเฟ้อติดลบร้อยละ -0.52 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งเป็นตัวเลขสะท้อนเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 1.45 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการพิจารณาภาวะติดลบที่ต้องต่อเนื่องกัน 3-6 เดือน  

   ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณเชิงลบที่สะท้อนภาพแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะน่ากังวล โดยตัวเลขส่งออกในเดือน ม.ค.ชะลอตัวร้อยละ -7.95 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ชะลอตัวร้อยละ -2.34 ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการท่องเที่ยวของไทย มีนักท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากปีก่อนร้อยละ -6.66 ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากอาเซียน ซึ่งมีมาเลเซียเป็นสำคัญ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวจากจีน และรัสเซียที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศและความขัดแย้งทางการเมืองกับยูเครน ต่างก็ลดจำนวนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลง ทำให้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันค่อนข้างซบเซา เพราะรายได้หลักที่สำคัญของไทย ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศเองก็ไม่สู้ดีนัก ทั้งปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีหมวดยานยนต์ และดัชนีหมวดเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ซึ่งจัดเก็บได้ชะลอตัวลงในเดือนมกราคมร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งปริมาณการนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคก็หดตัวลงร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็หดตัวลงร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า กลไกการบริโภคภาคครัวเรือน ภาคการลงทุน และภาคการส่งออกของไทย อยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวล มีภาวะของการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

    ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เรียกได้ว่ากำลังเผชิญกับภาวะติดกับดักสภาพคล่อง เพราะกำลังซื้อหดหาย จากรายได้จากพืชผลทางการเกษตรลดต่ำลง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้สินในระบบมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของ GDP ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมภาระหนี้นอกระบบ ทำให้รายได้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนชะลอตัวลง

     “สถานการณ์เช่นนี้ การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจอาจใช้ไม่ได้ผล ด้วยเหตุของการติดกับดักสภาพคล่อง กนง. จึงควรคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 เช่นเดิม ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลัง ด้วยการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ นำร่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนในช่วงแรก ซึ่งช่องว่างสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้ในระดับหนึ่ง หรือใช้เงื่อนไขการลงทุนแบบ PPP ให้สัมปทานเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะก็สามารถดำเนินการได้ ด้วยเครื่องมือทางการคลังมีหลายตัว ไม่ใช่มีเพียงมาตรการทางด้านภาษีเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะดำเนินการจัดเก็บไม่ได้ตามเป้าแล้ว ยังส่งผลต่อบรรยากาศในเชิงลบด้วย อย่างไรก็ตาม อีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลสามารถเลือกใช้ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเป็นการแบ่งเบาภาระหนี้สาธารณะได้ คือ เครื่องมือตลาดทุน เช่น การระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีอยู่แล้วได้ เข้ากระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

---------------------------------------------------------------------

เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

โดย บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิภพ  ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 081-92988645 , 02-612-2081 ต่อ 124

Email : baokaban_naja@hotmail.co.th , pipop.k@mtmultimedia.com     

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!