WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ระดมสมองแก้ส่งออกทรุด นิด้าหั่นจีดีพีเหลือ 3.8% ลุ้น กนง.ลดดอกกระตุ้น ศก.

    บ้านเมือง : รัฐบาลนั่งไม่ติดตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ.ติดลบ 6.1% หนักสุดในรอบ 6 เดือน เรียกเอกชนหารือการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งออกติดลบอย่างหนัก ชี้ส่วนใหญ่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ระบุส่งออกร่วงเพราะเงินบาทแข็ง ขณะที่นิด้าหั่น GDP เหลือ 3.8% คาด กนง. ลด ดบ. กระตุ้น ศก.

    น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออก 17,230 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.14% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับจากเดือน ส.ค.57 ที่ลดลง 7.40% ด้วยมูลค่าประมาณ 18,943.3 ล้านเหรียญ

    ส่วนเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 558,292 ล้านบาท ลดลง 6.78% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16,840 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 1.47% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 552,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.81% ส่งผลให้มีดุลการค้าเกินดุล 390 ล้านเหรียญ หรือเกินดุล 6,217 ล้านบาท

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การหารือกับภาคเอกชนคุยกันเรื่องความมั่นคงต้องดูคู่กับเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่มั่นคงความมั่นคงก็ไม่มั่นคง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องคุยกับเอกชนทำความเข้าใจกับภาคเอกชนว่าควรทำอย่างไร โดยครั้งนี้ได้อธิบายกับนักธุรกิจให้เข้าใจรัฐบาลว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

   ส่วนในเรื่องของการส่งออกหารือกันในที่ประชุมถึงสาเหตุที่ทำให้การส่งออกติดลบว่าเป็นเพราะอะไรก็พูดจากัน ส่วนในเรื่องรายละเอียดจะต้องไปถามภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองเพราะเขามีรายละเอียดมากกว่า แต่ในภาพรวมเอกชนได้มั่นใจแนวทางเรื่องรัฐบาลวันนี้ไม่มีการพูดเรื่อง กฎอัยการศึกเลย ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามส่งเงินลงไปทุกอย่างอยู่แล้ว แต่เศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นนะไม่ใช่ไม่กระเตื้องเลย

   แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ประชุมหารือกันเรื่องปัญหาของการส่งออกเนื่องจากภาคการส่งออกใน 2 เดือนแรกของปีติดลบประมาณ 4.8% และในเดือน ก.พ.ส่งออกติดลบถึงประมาณ 6.1% ซึ่งนายบุณยสิทธิ์ กล่าวในที่ประชุมว่า การส่งออกเป็นปัญหาที่สำคัญโดยผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยเฉพาะแข็งค่ากว่าในภูมิภาค

   ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ.58 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศติดลบนั้น เป็นไปตามคาด ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกนั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับตัวแปรในการส่งออกที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลาทั้งราคาทอง ราคาน้ำมัน ราคาผลผลิตทางการเกษตร และค่าเงินบาทที่แข็งค่าแม้ว่าทาง กนง. จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ไม่ส่งผลต่อค่าเงินบาท

     ทั้งนี้ ยังมองอีกว่า การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และเป็นไปตามคาดการณ์ทำให้เม็ดเงิน ไม่สามารถลงไปสู่ระดับล่างเท่าที่ควร อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงขึ้น ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย จึงทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นิด้า ได้ปรับลดจีดีพี ปี 2558 ลงเป็นประมาณ 3.8% จากเดิมประมาณ 4% พร้อมกับมองว่า เศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

     นายยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2558 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ปีประมาณ 3.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดลดลงเช่นกัน และในครึ่งแรงของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบประมาณ 0.6%

    ทั้งนี้ ผลการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2558 แย่กว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.3% ส่วนในปี 2559 เศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประมาณ 4% ซึ่งจะขยายตัวได้ 3.6% ด้านการส่งออก ปี 58 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นขยายตัวประมาณ 2.8% และในปี 2559 คาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 4.6% จากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท

   อย่างไรก็ตาม จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เชื่อว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในครึ่งปีแรกของปี 2558 โดยเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือประมาณ 1.5%

'นิด้า'ชี้รัฐสับสนกระตุ้นเศรษฐกิจ

   ไทยโพสต์ : บางกะปิ * 'นิด้า' หั่นจีดีพีปี 2558 เหลือ 3.8% ระบุรัฐยังสับ สนในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐและการบริโภค

    นายยุทธนา เศรษฐปรา โมทย์  อาจารย์ประจำคณะพัฒนา การเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในการสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ "จับชีพจรเศรษฐกิจไทย 9 เดือนข้างหน้า : ฟื้น หรือ ฟุบ" ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 ไม่ฟุบเหมือนปีที่แล้ว แต่คงไม่แข็งแรง นัก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะทรงตัวจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสิน ค้าเกษตรหลายชนิด และครึ่งแรกของปีเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบ 0.6%

    ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2558 คาดว่าการขยายตัวจะแย่กว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.3% ส่วนปี 2559 อยู่ระดับต่ำกว่า 4% หรือขยายตัว 3.6% การส่งออกปี 2558 คาดว่าจะขยายตัว 2.8% และปี 2559 ขยายตัว 4.6% ส่วนดอกเบี้ยนโยบาย คาด ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดเหลือ 1.5% ต่อปี ส่วนปี 2559 มีแนวโน้มปรับขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2

   นายสันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวว่า หากภาครัฐมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีและมีทิศทางชัดเจน จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น แต่ขณะนี้รัฐบาลยังสับสนในมาตรการที่จะออกมา อาทิ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!