WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SET77เศรษฐกิจไทยยัง 'น่าเป็นห่วง'หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ เหลือร้อยละ 3

     ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ลงเหลือร้อยละ 3.0 จากภาคการส่งออกที่อ่อนแอลงกว่าคาด การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศฟื้นตัวช้า แม้มีสัญญาณบวกจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มเสี่ยงหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

    จากการแถลงของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีขยายตัวร้อยละ 3.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี อย่างไรก็ดี แม้สภาพัฒน์ฯ คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.0-4.0

    ทางด้านศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังอยู่ในอาการ “น่าเป็นห่วง” และยืนมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปแบบตัวยู (U-shape) พร้อมทั้งหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียงร้อยละ 3 (จากเดิมร้อยละ 3.5 คาดการณ์ ณ ธันวาคม 2557) จากความเสี่ยงภาคการส่งออกเป็นสำคัญ เศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนยังอ่อนแอ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยังอาเซียนแย่ลงด้วย นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร จึงเป็นความเสี่ยงที่อาจได้เห็นส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สาม หลังจากหดตัวที่ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.4 ในปี 2556-57 ตามลำดับ ซึ่งศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่ารายได้จากการส่งออกสกุลดอลลาร์ น่าจะหดตัวร้อยละ 1.7 ในปีนี้

   ส่วนการบริโภคและการลงทุนเอกชนในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวระดับต่ำ โดยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรลดลงกดดันกำลังซื้อภาคเกษตร หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง (79% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2557) อีกทั้งสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยถ่วงต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินเฟ้อน่าจะติดลบที่ร้อยละ 0.5 ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น จากกำลังซื้อทั้งในและนอกประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังคงเปราะบางด้วยเช่นกัน กอปรกับกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงมีอยู่ จะเห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนเมษายนหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 58.2 เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจเร่งลงทุนเพิ่มเติม

    สำหรับ เครื่องยนต์เศรษฐกิจอีกสองตัวที่เหลือที่ตั้งอยู่บนความคาดหวังของหลายฝ่ายนั้น กล่าวคือ การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐนั้น แม้ไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจกลับไปขยายตัวได้ใกล้เคียงในระดับศักยภาพ แต่สามารถช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ โดยในส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ ได้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมไปแล้ว 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเมษายน หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 33 ส่วนเม็ดเงินจากเมกะโปรเจคโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟรางคู่ หรือรถไฟฟ้า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการประกวดราคา ทำให้ยังไม่มีเม็ดเงินอัดฉีดจากส่วนนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก

    ด้านการท่องเที่ยวที่เสมือนเป็นพระเอกในปีนี้ ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งสุด จากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวช่วง 4 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 10.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.3 ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5.1 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.0 เติบโตจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก โดยทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะอยู่ที่ 28.7 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 15.7 จากปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 6.7

   กล่าวโดยสรุป จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่มีพัฒนาการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในวงกว้าง รวมถึงภาคการค้าต่างประเทศที่แย่กว่าคาด ส่งผลให้ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3 จากที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.5 เป็นการปรับลงเกือบทุกภาคส่วน ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และภาคการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ปรับประมาณการด้านการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่เร่งขึ้นในไตรมาสแรกของปี รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่การฟื้นตัวแข็งแกร่งเกินคาด ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง การฟื้นตัวของเชื่อมั่นภาคเอกชน ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆทั่วโลก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!