WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จับชีพจร ศก. ลุ้นไตรมาส 3 ฟื้นจริงหรือ?

มติชนออนไลน์ : วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

 Bank1    ความหวังเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 ตามที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้เคยประกาศไว้ ดูเหมือนจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะขณะนี้กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละตัวอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง มีปัจจัยลบเข้ามารุมเร้าอย่างต่อเนื่อง

   เริ่มจากการส่งออกยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากการแถลงตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด พบว่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2558 ติดลบ 5.01% เทียบเดือนพฤษภาคมปีก่อน เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ 5 เดือนแรกไทยติดลบ 4.20% กระทรวงพาณิชย์คาดว่าตลอดทั้งปีส่งออกจะโตได้ 1.2%

   การเบิกจ่ายของทางภาครัฐและการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

   ส่วนการท่องเที่ยวเคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไทยนี้ ยังลุ้นว่าจะได้รับผลกระทบจากจากกรณีโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) ปัญหาด้านการบินของไทยที่ถูกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอเคโอ ปักธงแดง จึงยังเป็นห่วงว่าจะทำให้เป้าหมายรายได้ท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาทในปีนี้ เป็นไปอย่างที่หวังหรือไม่

   ปัจจัยลบสำคัญอีกเรื่องที่น่าจะรุนแรงในช่วงไตรมาส 3 คือ ปัญหาภัยแล้งกำลังขยายวงกว้าง และส่งผลกระทบทั้งการปลูกพืชและกระทบต่อน้ำบริโภค โดย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน คาดการณ์ว่าภัยแล้งขณะนี้จะทำให้พื้นที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหาย 8.5 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 3.4 ล้านไร่

    คงต้องมารอลุ้นกันว่าความหวังจะได้เห็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 3% ตามเป้าหมายของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จะทำได้หรือไม่ เพราะขณะนี้หน่วยงานรัฐที่เป็น 3 กุนซือด้านเศรษฐกิจ เดินหน้าประกาศหั่นเป้าหมายจีดีพีลงทุกสำนัก

     เริ่มจากเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม สำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศปรับลดเป้าหมายจีดีพีในปี 2558 เหลือ 3-4% หรือเฉลี่ย 3.5% ลดลงจากการประเมินครั้งล่าสุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ส่วนในด้านการส่งออก สศช.ปรับลดเป้าหมายลงมาจาก 3.5% เหลือ 0.2%

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดเป้าจีพีดี จากเดิมคาดว่าจะโต 3.8% เหลือ 3% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะการส่งออกมีแนวโน้มต่ำลง ส่วนการส่งออกจากเดิมคาดว่าจะโต 0.8% เป็นติดลบ 1.5% เป็นผลเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทั้งสหรัฐ จีน และเอเชีย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ทำให้ไทยได้รับผลดีจากการส่งออกน้อยลงเรื่อยๆ จนการส่งออกกลายเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจโดยรวมลง

    ส่วนกระทรวงการคลังกำหนดปรับตัวเลขจีดีพีใหม่ในเดือนกรกฎาคม โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แย้มแล้วว่า สศค.เตรียมลดเป้าหมายจีดีพีลงจากเป้าหมายเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายนว่าจีดีพีจะโต 3.7% น่าจะเหลือในระดับกว่า 3% แม้ภาคการส่งออกเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนจีดีพี จะขยายตัวติดลบในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา และในประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง แต่การใช้จ่ายภาครัฐผ่านการลงทุนของรัฐบาลถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมถึงภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีมาก จะเป็นตัวหนุนให้จีดีพียังขยายตัวได้ในระดับดังกล่าว ส่วนการส่งออกล่าสุด สศค.เคยคาดว่าจะขยายตัว 0.2% นั้น สศค.ยังไม่กล้าประเมินช่วงนี้ว่าจะอยู่ที่เท่าไหร่ ให้รอลุ้นตัวเลขในเดือนกรกฎาคม

     สำหรับ มุมมองของนักวิชาการในเรื่องเศรษฐกิจ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีความวิตกกับปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น 6 เดือนหลังปีนี้ โดยเฉพาะในเรื่องการส่งออกยังไม่ดีขึ้นและติดลบต่อเนื่องมานานหลายเดือน มีแนวโน้มทั้งปีส่งออกของไทยจะติดลบ 1-2% หรือดีสุดตัวเลขส่งออกปีนี้เท่ากับปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 0%

     นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบในเรื่องภัยแล้งทำให้ผลผลิตเสียหาย รวมถึงต้องเลื่อนการปลูกข้าวออกไป คาดว่าการเลื่อนปลูกข้าวทำให้เม็ดเงินจะนำมาใช้จ่ายในเรื่องปลูกข้าววงเงินประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท ต้องชะลอเข้าสู่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงนี้ประมาณ 0.1%

   ส่วน นายบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมของไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากนี้จะเริ่มฟื้นตัวเป็นรูปตัววีแบบกว้าง คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ไม่เกิน 3% โดยมีแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น รัฐเริ่มขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงช่วยเรื่องต้นทุนทำให้ประชาชนมีเงินเหลือ อย่างไรก็ตามในช่วงนี้การทำธุรกิจของเอกชนต้องประคองตัว เนื่องจากมีปัจจัยกระทบกำลังซื้อหลายเรื่อง

   คาดว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หากไม่มีปัจจัยลบเกินความคาดหมายเข้ามากระทบ

    ด้าน นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย บอกว่า ตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นจากภาครัฐเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้น แต่ขณะนี้อารมณ์คนยังไม่รับรู้เท่าที่ควร คาดว่าจะเห็นโบรกเกอร์ปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานน่าจะดีขึ้น

   คาดว่าในครึ่งปีหลังจะได้เห็นดัชนีที่ 1,650 จุด บนระดับราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 16-17 เท่า กำไรบริษัทจดทะเบียนโต 11-12%

   ส่วน นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ถ้าไม่มีปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคท่องเที่ยวช่วงไตรมาส 3 จนถึงสิ้นปี 2558 รายได้จากภาคการท่องเที่ยวปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน และเป็นคาดการณ์ใหม่ จากเดิม สทท.คาดว่าอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 29.51 ล้านคน เติบโต 19.09% เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 28.8 ล้านคน ปัจจัยสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปีนี้ที่คาดว่าจะทะลุ 7.45 ล้านคน ถือเป็นปีแรกที่นักท่องเที่ยวจีนเกิน 7 ล้านคน

   ทั้งนี้ แม้ตอนแรกภาคท่องเที่ยวจะเป็นห่วงเรื่องเมอร์ส แต่เชื่อว่าภาครัฐจะรับมือเรื่องนี้ได้ ส่วนปัญหาการบินของไทย ที่เดิมทีกังวลว่ากลุ่มประเทศยุโรปจะมีมาตรการเช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลี ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวจองการเดินทางล่วงหน้าก็ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด โดยในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศประมาณ 1.44 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน สทท.ยังมั่นใจว่าปีนี้ภาคการท่องเที่ยวจะไปได้สวย

   สำหรับ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ในครึ่งปีหลังภาวะเศรษฐกิจไทยคงเป็นสถานการณ์หนัก เพราะมีแต่ความเสี่ยงที่จะหดตัวกว่าที่คาด โดยเฉพาะการลดลงของภาคส่งออก เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าของสหรัฐ และผลเกี่ยวเนื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนลดการนำเข้าสินค้าวัสดุดิบและสินค้าขั้นกลางจากประเทศอื่น ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจประเทศอาเซียนโตช้าลงกว่าที่คาด ประกอบกับการส่งผ่านของนโยบายการเงินต้องใช้เวลา ทำให้การส่งออกไทยหดตัวลงกว่าที่คาดและส่งผลต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาไอเคโอให้ใบแดง น่าจะต้องใช้เวลาแก้ไขยาวนาน

    การลดดอกเบี้ยยังส่งผลน้อยในช่วงแรก เนื่องจากการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา แต่นโยบายการเงินคงถึงขีดจำกัดในการดึงเศรษฐกิจ เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายได้ลดลงและค่าเงินได้อ่อนตัวลงมากแล้ว

   ดังนั้น ทางแก้ รัฐบาลคงต้องพึ่งนโยบายการคลัง ทั้งที่เป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่รากหญ้าในขนาดที่เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไปแต่ตรงกับผู้ที่ประสบปัญหา และการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนและการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากจะส่งผลโดยตรงทำให้เกิดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนดีขึ้นสำหรับกลุ่มคนรากหญ้า ยังช่วยในเรื่องความเชื่อมั่นอีกด้วย

    มุมมองทั้งจากนักวิชาการและภาคเอกชนต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 3 เป็นเช่นนี้

    ส่วนของจริงจะเป็นเช่นไร อีก 3 เดือนผ่านไปแล้วจะรู้กัน... 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!