WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1สงออกตดลบ

หลายปัจจัยรุมเร้า คาดส่งออกติดลบ 5.5% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

        ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ลงเหลือหดตัวร้อยละ 5.5 จากประมาณการเดิมที่หดตัวร้อยละ 1.7 หดตัวแรงสุดในรอบ 6 ปี สาเหตุหลักจากเศรษฐกิจคู่ค้าเติบโตต่ำกว่าคาด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่วนบาทอ่อนช่วยได้เล็กน้อย

      ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคม โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลล่าร์สหรัฐหดตัวร้อยละ 3.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 7.9 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 4.7 เมื่อพิจารณาในเชิงราคาและปริมาณแล้วพบว่าการส่งออกในเชิงปริมาณหดตัวร้อยละ 2.9 สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ของตลาดส่งออกที่ลดลง ส่วนราคาสินค้าส่งออกหดตัวร้อยละ 1.8 ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง และจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายการส่งออกจากขยายตัวร้อยละ 1.2 เป็นหดตัวร้อยละ 3.0 นอกจากไทยที่เผชิญภาวะการส่งออกหดตัวแล้ว ประเทศผู้ส่งออกทั่วโลกต่างประสบปัญหาส่งออกหดตัวเช่นเดียวกัน อาทิ ประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างอินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ การส่งออกครึ่งปีแรกหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ไต้หวันหดตัวร้อยละ 7.8 และอินเดียหดตัวสูงถึงร้อยละ 15.3

    ในมุมของสินค้าส่งออก สินค้าที่หดตัวสามารถแบ่งกลุ่มตามสาเหตุได้ดังนี้ 1) การหดตัวจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง (สัดส่วนร้อยละ 24.9 ของการส่งออกทั้งหมด) ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า(-2.7%) คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ(-2.2%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-10.3%) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(-7.3%) และเฟอร์นิเจอร์(-10.9%) 2) การหดตัวที่มาจากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (สัดส่วน 16.4)  ได้แก่  น้ำมันสำเร็จรูป(-20.6%) เม็ดพลาสติก(-14.1%) เคมีภัณฑ์(-21.1%) ยางพารา(-21.7%) และเหล็กและเหล็กกล้า(-30.9%) 3) การหดตัวจากปัจจัยภายใน ประเทศ (สัดส่วน 5.4) ได้แก่ ข้าว(-8.9%) จากภาวะภัยแล้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป(-12.7%) จากปัญหาด้านแรงงาน และกุ้งที่ยังไม่ฟื้นจากโรคตายด่วน(-17.2%) ในขณะที่โทรทัศน์ขยายตัวร้อยละ 6.4 แต่มีแนวโน้มส่งออกลดลงจากการย้ายฐานการผลิต

       ในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา ตลาดส่งออกหลักส่วนใหญ่หดตัว ไม่ว่าจะเป็น ตลาดยุโรปและญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างช้าๆและค่าเงินมีทิศทางอ่อนค่า ตลาดจีนประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดอาเซียน 5 ฮ่องกงและไต้หวัน ที่การส่งออกชะลอตามเศรษฐกิจจีนเนื่องจากสัดส่วนการส่งออกไปจีนสูง ซึ่งตลาดดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 54  ของการส่งออกรวม อยู่ในภาวะหดตัวร้อยละ 7.9 ส่วนตลาดที่เติบโตได้ดี ได้แก่ สหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 3.7 จากเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะฟื้นตัว CLMVขยายตัวร้อยละ 8.5 และออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 11.1 เติบโตจากการส่งออกรถยนต์เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตออกไปจากออสเตรเลีย

         ฉายภาพต่อเนื่องไปยัง 5 เดือนที่เหลือของปี สภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยจะยังคงเติบโตได้อย่างช้าๆ ความเสี่ยงหลักคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจเติบโตต่ำกว่าคาด ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปหลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทำสถิติต่ำสุดต่อเนื่อง มีเพียงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงส่งผลดีต่อรายรับในรูปเงินบาทของผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูงและมีสัดส่วนการส่งออกต่อยอดขายสูง เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตร ส่วนสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตดีในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ เครื่องประดับ ไก่สดแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม และเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการจากต่างชาติและไทยยังคงได้เปรียบทางการแข่งขัน  ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงรุมเร้า ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆเข้ามาช่วยให้ภาคการส่งออกดีขึ้น ส่งผลให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกลง จากเดิมหดตัวร้อยละ 1.7 เป็นหดตัวร้อยละ 5.5 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!