WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นักเศรษฐศาสตร์ทำนายไทยเผชิญภาวะ 5 สูง 6 ต่ำ ห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำไทยทรุดต่อเนื่อง 

      นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (Mr.Amonthep Chawla, Head of Research Office, CIMB Thai Bank) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะเผชิญภาวะที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อันกดดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่มี การลงทุนภาครัฐเป็นความหวังหนึ่งเดียวที่เศรษฐกิจไทยมี โดยเมื่อภาครัฐลงทุนนำร่อง เอกชนจะลงทุนตาม เนื่องจากการลงทุนภาครัฐจะช่วยให้ต้นทุนการขนส่งลดลง อีกทั้งเอกชนจะได้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่ของการลงทุนของภาครัฐ 

        นายอมรเทพ ทำนายว่า ไทยจะเผชิญภาวะ 5 สูง 6 ต่ำ โดยมีตัวแปรทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง 5 ประการ อันกดดันการบริโภคและการลงทุน ได้แก่ (1) หนี้ครัวเรือนที่สูงอันกดดันการบริโภคที่มีสัดส่วนกว่า 50% ของ GDP อย่างต่อเนื่อง (2) ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะสูงจาก 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปี 2557 เป็น 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปี 2558 จากกระแสเงินไหลออก เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) อันกดดันให้ผู้ลงทุนเผชิญต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักร และขยายธุรกิจที่ลำบากขึ้น (3) ค่าครองชีพสูงอันเกิดหลังภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัว ผู้ผลิตสามารถผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคได้ (4) ต้นทุนทางการเงินสูง อันเกิดจากดอกเบี้ยไทยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจเผชิญความลำบากมากขึ้นในการขยายกิจการ และ(5) การแข่งขันจากต่างชาติสูงตามการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ธุรกิจข้ามชาติจะเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจไทยมากขึ้น ขณะที่ไทยเองกลับออกไปแข่งกับต่างประเทศได้ไม่มากเท่าที่ควร 
        ขณะเดียวกัน ไทยจะเผชิญความเสี่ยงจากภาวะ 6 ต่ำ ที่กดดันบรรยากาศการลงทุน และศักยภาพเศรษฐกิจไทยอันได้แก่ (1) การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ซึ่งมองว่า GDP Growth ปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 4.5% จากการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเติบโตสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มาจากฐานที่ต่ำในปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้เพียง 1.5% ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าระดับศักยภาพ (2) ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยมองว่าภาวะราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง อันจะกดดันรายได้ภาคเกษตร การบริโภคของคนในต่างจังหวัด และการส่งออกของไทย (3) อัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ผู้ผลิตจะผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคได้ แต่ด้วยตะกร้าสินค้าใน CPI ยังมีอีกหลายส่วนที่ราคาไม่เพิ่มมาก จึงมองว่าเงินเฟ้อยังเร่งตัวได้ไม่แรง และยังอยู่ในระดับต่ำ (4) อัตราดอกเบี้ยต่ำซึ่งจะกดดันบรรยากาศการออมของประชาชน และอาจจูงใจคนให้ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อันอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ ทั้งนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.50% ในปลายปี 2558 ทั้งนี้ แม้ว่าจะปรับขึ้นได้ 0.5% แต่อาจน้อยกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่อาจสูงขึ้นได้ถึง 1.0% อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าไทย (5) อัตราว่างงานต่ำ ซึ่งสะท้อนภาวะการขาดแคลนแรงงานอันอาจกดดันให้ บริษัทต่างประเทศเตรียมย้ายฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นไปต่างประเทศได้ และ(6)ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ซึ่งสะท้อนภาพว่าแรงงานไทยยังขาดทักษะและอาจไม่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ปรับปรุงเทคโนโลยี เพื่อให้สินค้าไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และกลับมาอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตลาดโลก (Global Supply Chain) ได้ หลังจากที่ต่างประเทศหันไปหาตลาดอื่นที่สามารถผลิตสินค้าได้มีประสิทธิภาพกว่าไทย 
        นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2558 อาจเผชิญปัญหาการขาดดุล 4 ด้านหรือแฝด 4 คือการขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวแรง การขาดดุลบัญชีทุนจากกระแสเงินทุนไหลออกเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ และการขาดดุลแรงงานจากจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง 
      นายอมรเทพ กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะมีความท้าทาย 5 สูง 6 ต่ำ ดังกล่าว แต่ด้วยฐานเศรษฐกิจที่ต่ำในปี 2557 เศรษฐกิจไทยก็สามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หากเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะการชะลอตัว เช่น ยูโรโซนเกิดภาวะเงินฝืด หรือเศรษฐกิจหดตัว หรือจีนเกิดการชะลอตัวลงแรงกว่าคาด ความหวังด้านการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกก็อาจไม่เป็นดังคาด ซึ่งหากการส่งออกปีหน้าไม่เติบโตเหมือนดั่งเข่น 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้เพียง 2.5% จากที่คาดว่าจะอยู่ 4.5% ก็เป็นได้ แม้ไม่เกิดวิกฤติ แต่ก็นับว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่องไปอีกปี 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!