WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สำนักวิจัย ซีไอเอ็มบี ไทย : รายงานสรุปและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน 13/11/57

สหรัฐอเมริกา

     สต็อกสินค้าภาคค้าส่งของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนปรับเพิ่มขึ้น 0.3%  หลังจากที่ขยายตัว 0.6% ในเดือนสิงหาคม โดยสต็อกสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 0.8% ขณะที่สต็อกสินค้าไม่คงทนหดตัวลง 0.6%  สำหรับยอดค้าส่งขยายตัว 0.2% หลังจากที่หดตัวลง 0.8% ในเดือนสิงหาคม

ยุโรป: เยอรมนี

     รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton’s International Business Report (IBR) ซึ่งจัดทำการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจทั่วโลกรายไตรมาส รายงานผลสำรวจว่า ทัศนคติด้านบวกของธุรกิจประจำไตรมาสที่ 3 ในเยอรมนีลดลงอย่างมากจากร้อยละ 79 เหลือเพียงร้อยละ 36 โดยเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสที่ 2 ท่ามกลางความหวาดวิตกต่อผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในยูเครนที่มีต่อการค้าและอุปทานของพลังงาน โดยอัตราส่วนของบริษัทที่ระบุว่าอุปสงค์ที่ลดลงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของธุรกิจได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 6% กลายเป็นจำนวนเกือบ25% ของผู้ร่วมสำรวจ ส่วนความคาดหวังต่อการจ้างงานลดลงจนอยู่ในแดนลบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2553

อังกฤษ

     สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานว่า อัตราว่างงานของอังกฤษประจำไตรมาส 3 อยู่ที่ 6% ในเดือนกันยายน ลดลงจาก 6.3% ในไตรมาส 2 แต่สูงกว่าตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 5.9% โดยมีจำนวนคนว่างงานทั้งหมด 1.96 ล้านคนในไตรมาส 3 ลดลง 115,000 คนจาก

ไตรมาส 2

     สภาผู้ปล่อยกู้จำนองของอังกฤษ (The Council of Mortgage Lenders: CML) รายงานว่า ยอดการปล่อยเงินกู้จำนองของอังกฤษยังคงชะลอการขยายตัวลงในไตรมาส 3 โดยมีจำนวนทั้งหมด 188,000 รายการ เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาส 2 และเป็นการปรับตัวขึ้นที่น้อยที่สุดในไตรมาส 3 นับตั้งแต่ปี 2551 และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดปล่อยเงินกู้จำนองสำหรับผู้ซื้อบ้านปรับตัวลงในเดือนกันยายน แตะที่ 58,600 รายการ ลดลง 7% จากเดือนสิงหาคม

เอเชีย:ญี่ปุ่น

     นายริวโซ มิยาโอะ สมาชิกคณะกรรมการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)  กล่าวว่า มีโอกาสสูงที่เจ้าหน้าที่บีโอเจอาจจะเริ่มต้นอภิปรายกันในเรื่องการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ  2015 โดยถ้อยแถลงนี้ถือเป็นการบ่งชี้อย่างชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการเริ่มต้นอภิปรายประเด็นนี้ นายมิยาโอะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดในเรื่องที่ว่า เขาคิดว่าบีโอเจจะเริ่มต้นชะลอมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อใดและด้วยวิธีการใด อย่างไรก็ดีเขากล่าวว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เคยชะลอมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ในช่วงก่อนหน้านี้ ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีการที่บีโอเจอาจจะนำมาใช้ นายมิยาโอะไม่กังวลกับความเสี่ยงที่ว่า การที่บีโอเจขยายขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปจะทำให้บีโอเจประสบความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการยุติ QE และเขาไม่กังวลกับความเสี่ยงที่ว่าการขยายขนาดมาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ อย่างไรก็ดียังคงมีการคาดการณ์กันว่าบีโอเจอาจจะมีความจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินลงไปอีกในอนาคตถ้าหากอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นไม่พุ่งสูงขึ้น

จีน

      หยวนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในวันพุธที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้กำหนดค่ากลางลดลงอีกครั้ง หยวนในตลาดสปอตอยู่ที่ 6.1272 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเที่ยง ลดลง 0.03% จากระดับปิดวันอังคาร ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) กำหนดค่ากลางหยวนที่ 6.1428 ลดลง 0.02% จากระดับวันอังคาร เทรดเดอร์คาดว่าธนาคารกลางจีนจะกำหนดแนวทางให้หยวนอ่อนค่าในระยะใกล้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยหยวนที่อ่อนค่าจะช่วยสกัดกั้นเม็ดเงินเก็งกำไรที่จะเข้าประเทศ

เกาหลีใต้

     วอนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 14 เดือนในวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาตามการอ่อนค่าของเยนเนื่องจากมีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองของญี่ปุ่น และแนวโน้มการเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของญี่ปุ่น โดย ณ เวลา 9.15 น.ตามเวลาไทย วอนอยู่ที่ 1,100.0 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยพุ่งทะลุระดับดังกล่าวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2013 สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะจะเลื่อนการขึ้นภาษี VAT ออกไป 1 ปีครึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง และจะจัดการเลือกตั้งแบบกะทันหันเพื่อเพิ่มคะแนนนิยมทางการเมืองของเขา

ไทย

     ธนาคารโลก (World bank) คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2558 จะมีการฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ที่ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเป็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยประเทศที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เช่น ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และจะเป็นตัวหน่วงไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเร่งขยายตัวได้  สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ประเมินอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 3.5-4% โดยยังเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่ 5-6% โดยปัจจัยหนุนในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีหน้ามาจากการฟื้นตัวของการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาครัฐต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ในการลงทุนนั้นจะมีสัดส่วน 5% ของ GDP แต่ยังถือว่าสามารถช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น

   สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) รายงานว่า ยอดหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2557 มีจำนวน 5,650,141.24 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.46 ของ GDP โดยแบ่งเป็น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 3,924,374.96 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,095,014.47 ล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 615,381.85 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 15,369.96 ล้านบาท

  -  บาท/ดอลลาร์ วันพุธ ( 12 พ.ย.)  ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับบาทในช่วงเช้าวันนี้ ขณะที่เมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเซียส่วนใหญ่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าในวันนี้ ทั้งนี้แนวโน้มดอลลาร์สหรัฐฯยังจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีหน้า

  -  เยน/ดอลลาร์ วันพุธ (12 พ.ย.) เงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้หลังจากเยนอ่อนค่ามากในช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งมองว่าเงินเยนอ่อนค่าเร็วเกินไปในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มีแรงซื้อเยนกลับเข้ามา อย่างไรก็ดีเยนยังเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯจากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน และมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอีกหากรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งที่สอง

  -  ยูโร/ดอลลาร์ วันพุธ (12 พ.ย.)  เงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ตามแนวโน้มความเสี่ยงเศรษฐกิจยูโรโซนที่อาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจอิสระของรัฐบาลเยอรมนีได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และเรียกร้องให้อีซีบีหลีกเลี่ยงการเพิ่มขนาดงบดุลครั้งใหญ่ จนกว่าสัญญาณภาวะเงินฝืดที่ชัดเจนกว่านี้จะปรากฏออกมา ซึ่งในรายงานประจำปีคณะที่ปรึกษาชุดนี้ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงสู่ระดับ 1.2% จากระดับ 1.9% ที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากวิกฤติในต่างประเทศ และสถานการณ์ที่ไม่ดีในยุโรป และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.0% ในปีหน้า 

  -  ตลาดสหรัฐฯ วันพุธ (12 พ.ย.)  ดัชนีดาวโจนส์และ S&P 500 ลดลงเล็กน้อยในวันพุธหลังปิดตลาดที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ 5 วันติดต่อกัน โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคลดลง ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 0.02% สู่ 17,612.2,  ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 0.07% สู่ 2,038.25 และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 0.31% สู่ 4,675.14  

  -  ตลาดหุ้นเอเชีย วันพุธ (12 พ.ย.)   ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.43% ในวันนี้ โดยมีปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะชะลอการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป ขณะเดียวกันเงินเยนที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯก็ส่งผลบวกต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่น สำหรับดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวันนี้ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 1% นำโดยหุ้นกลุ่มโบรกเกอร์ ทั้งนี้ดัชนีฯฟื้นตัวขึ้นจากการลดลงในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนยังคงปรับสถานะรอการเปิดตัวโครงการเชื่อมโยงระบบซื้อขายหุ้นระหว่างตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ สำหรับดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.55% โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มการเงินของจีนหลังจากธนาคารกลางฮ่องกงได้ยกเลิกข้อจำกัดการแปลงเงินหยวนต่อวันสำหรับพลเรือนในฮ่องกงก่อนการเปิดตัวโครงการเชื่อมโยงระบบซื้อขายหุ้นระหว่างตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้   

  -  ตลาดหุ้นไทย วันพุธ (12 พ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวแคบๆในช่วงเช้าก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงบ่ายนำโดยหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ โดยปิดตลาดวันนี้ SET INDEX ลดลง 9.17 จุด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!