WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานพิเศษ : แบงก์ลุ้นเมกะโปรเจ็กรัฐ ดันสินเชื่อปีแพะ โตมากกว่า 10%

    ขึ้นปีพุทธศักราชใหม่  2558 บนความหวังของคนไทยทุกคนที่หวังว่าการลงทุน และมาตรการต่างๆจากภาครัฐจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยโงหัวขึ้น และประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากได้บ้าง หลังจากที่ปีที่ผ่านมาต้องรัดเข็มขัด งดใช้จ่ายกันถ้วนหน้า ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ก็เป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินต่างๆต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จนส่งผลให้แบงก์พาณิชย์ต้องปรับประมาณการเติบโตสินเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า จาก เติบโต 10-15% กลางปีก็ปรับเหลือ 8-10% และลดลงมาจนกระทั่งเหลือเติบโตเพียง 5% เท่านั้น

     เส้นทางการดำเนินแผนงานของธนาคารพาณิชย์หลังจากครึ่งปีหลัง 2557 ที่ผ่านมาซบเซาส่งผลให้บรรดานายแบงก์เริ่มโฟกัสแผนงานไปตั้งความหวังที่ปี 2558 แทน เพื่อหวังว่าจะเร่งขยายสินเชื่อในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางหรือขนาดย่อม หรือ SME รวมไปถึงความหวังที่จะแย่งชิงเค้กส่วนสำคัญจากการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ ที่ส่วนใหญ่มีเมกะโปรเจ็ก ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในส่วนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

     หลากหลายความหวังที่บรรดานายแบงก์ตั้งเป้าไว้นั้น ส่งผลให้สินเชื่อทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ในปีแพะ จะคล่องตัวและสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพ โดยเฉลี่ยทั้งปีสินเชื่อธนาคารพาณิชย์น่าจะเติบโตได้มากกว่า 10% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการปล่อยสินเชื่อให้กับบรรดาผู้ประกอบการ SME รายใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลที่น่าจะเริ่มกลับมาขยับมามีบทบาทสำคัญ ทั้งในส่วนของสินเชื่อบัตรกดเงินสด และบัตรเครดิต เป็นต้น

      นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 58 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 10.9% จากปีนี้ที่ขยายตัว 5.8% โดยสินเชี่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อเงินสด ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการขยายตัว ส่วนเงินฝากขยายตัวต่ำกว่าสินเชื่อเล็กน้อยที่ระดับ 9.3% แต่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่อยู่ที่ 4.4% โดยมองว่าธนาคารพาณิชย์จะดำเนินกลยุทธ์ด้วยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่น่าดึงดูดความสนใจ และมีความยืดหยุ่นในการถอนเงินได้มากขึ้น

   ขณะเดียวกัน หลังจากนี้ไปธนาคารไทยจะเริ่มเข้าสู่รูปแบบธุรกิจ ธนาคารไร้สาขา โดยสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่ ผ่านช่องทางออนไลน์ของแต่ละธนาคาร โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขา เพื่อสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ

   ศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ปรับลดประมาณการ การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในปี 2558 ลงเหลือ 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% เนื่องจาก แนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดการณ์ไว้มาก ทั้งการบริโภคที่ยังประสบปัญหา การลงทุนที่ยังรอการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่เป็นตัวขับเคลื่อน

    ส่วนเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐฯจะยังไม่เข้าสู่ระบบเต็มที่ในปี 2558 โดยประเมินเม็ดเงินก่อสร้างจะเข้าสู่ระบบจริงในปี 2559-2560 ตามโครงการเร่งด่วนและแผนพัฒนารถไฟ นอกจากนี้  เศรษฐกิจโลกยังมีการฟื้นตัวเปราะบาง ยุโรปยังน่าเป็นห่วง ขณะที่ญี่ปุ่นยังต้องจับตาการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หรือ คิวอี ทำให้การส่งออกของไทยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 3.5% เท่านั้น

    “ปัจจัยเสี่ยงในปี 58 นอกจากเรื่องจากเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่ล่าช้ากว่าคาดแล้ว ยังมีในเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก แม้จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่ใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด แต่ยังกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักหลายตัว และรายได้เกษตรตกต่ำต่อเนื่องด้วย” นายเบญจรงค์ กล่าว  

    อย่างไรก็ตาม บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆเร่งระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับกับการปล่อยสินเชื่อที่จะเร่งขึ้นในปีนี้ เห็นได้จากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้ฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 10.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.24 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่ออยู่ที่ 9.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.39 หมื่นล้านบาท

   แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานายแบงก์ก็ยังมองว่า ในปี 2558 ยังคงมีความเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองหลายด้าน โดยเฉพาะความชัดเจน ในการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งหากภาครัฐมีความชัดเจนมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลให้ภาคเอกชนเดินหน้าลงทุนได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น ขณะที่อีกด้านที่สำคัญคือ เรื่องของเศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะฝั่งยุโรป และสหรัฐ ที่เศรษฐกิจมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

    โดยเฉพาะสหรัฐที่จะต้องจับตามองคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากสหรัฐปรับขึ้น นั่นเท่ากับว่าประเทศอื่นๆก็มีแนวโน้มที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเช่นเดียวกัน และเมื่อใดที่ธนาคารกลางตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลให้แบงก์พาณิชย์เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามเช่นเดียวกัน และนั่นเท่ากับว่าแบงก์ก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มขยับสูง

   แต่ในด้านของผู้ประกอบการนั้น ต่างยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยนั้นแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่จะแพงมากขึ้น แต่หากมีการลงทุนได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ รายได้ของผู้ประกอบการก็จะเพิ่มมากขึ้น และไม่เป็นปัญหาในการชำระหนี้อย่างแน่นอน

   เรียกได้ว่า ปีนี้มีทั้งปัจจัยผลักและปัจจัยลบที่แบงก์พาณิชย์คงจะต้องฝ่าฟันกันอยู่ไม่น้อย แต่ก็ได้แต่หวังว่าในปีนี้สินเชื่อแบงก์ทั้งระบบน่าจะพอมีแววสดใสได้บ้าง อย่างน้อยก็จากกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่เริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยแม้จะยังไม่คล่องตัวนัก ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่และรายกลางก็ยังคงเป็นความหวังของแบงก์ที่จะสร้างกำไรให้อย่างเป็นกอบเป็นกำต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!