WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TMB Analytics คาด กนง. ดูเชิง ... เงินยังไม่ฝืด

  ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมวันพุธที่ 11 มีนาคม เหตุนโยบายการเงินผ่อนคลายเพียงพอ และประเมิน เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด กอปรกับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงหลังของปี น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

  หลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ติดลบร้อยละ 0.52 ในเดือนกุมภาพันธ์ นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลถึงภาวะเงินฝืด ก่อให้เกิดแรงกดดันให้ กนง. ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากหากประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวจริง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ กนง. ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและป้องกันไม่ให้ภาวะเงินฝืดกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

  แต่คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือยัง จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ใช่อาการของภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อที่ปรับลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการลดลงของราคาน้ำมันเป็นหลัก ในขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังอยู่ในภาวะปกติ นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสองเป็นต้นไป และคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ในขณะเดียวกัน ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ก็ยังยืนอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งก็ไม่ใช่ระดับที่ต่ำจนน่ากังวล ซึ่งโดยสรุปศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดน่าจะยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้

  นอกเหนือจากประเด็นด้านเงินเฟ้อ อีกหนึ่งแรงกดดันที่ต้องการให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยมาจากการที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยมองว่ามีสาเหตุจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาบ้านเรามาก แท้ที่จริงแล้ว หากเปรีบยเทียบอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่าดอกเบี้ยของเราอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเลยทีเดียว

  แน่นอนว่าการพิจารณาผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจความเสี่ยงคงไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประเทศใดน่าดึงดูดต่อการไหลเข้าของเงินทุนมากกว่ากัน ดังนั้น เราจึงทำการวัดส่วนต่างอัตราผลตอบแทนการลงทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (Information Ratio หรือ IR) โดยหากประเทศใดมีค่า IR ที่สูง ก็หมายความว่าประเทศนั้นมีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีกว่า จากการคำนวณของเราพบว่าในปัจจุบัน IR ของตลาดไทยมีค่อนข้างน้อยอยู่แล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย หรือ มาเลเซีย นั่นหมายความว่า แม้จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายแต่ก็อาจไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุนมากนัก

   ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นด้านความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องระมัดระวัง ทั้งนี้จากรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้ภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 86 ของจีดีพี ณ ไตรมาสสามของปี 2557 ซึ่งหากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอาจส่งผลให้หนี้ในส่วนนี้ปรับเพิ่มขึ้นอีก

  โดยสรุป ศูนย์วิเคราะห์มองว่าการลดดอกเบี้ยในขณะนี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทได้ไม่มากนัก แต่กลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม และจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับสูงขึ้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงประเมินว่า กนง. จะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมในวันที่ 11 มี.ค. เพื่อเป็นการเก็บกระสุน เตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!