WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) โอกาสทางธุรกิจของธนาคารไทย

     ทุกวันนี้แนวคิด 'ความยั่งยืน' ได้เข้าสู่กระแสสำนึกของภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก และกำลังได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่า หมายถึงวิถีปฏิบัติทางธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด 'การพัฒนาที่ยั่งยืน'(sustainable development) แต่ในประเทศไทย แนวคิดความยั่งยืนอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายและขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินในฐานะตัวกลางที่ขาดไม่ได้ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ น้อยคนที่จะเห็นภาพว่าธนาคารนั้นสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะก้าวสู่ความ 'ยั่งยืน'ได้อย่างไร และมีประโยชน์ทางธุรกิจอะไรที่น่าสนใจสำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิถี 'การธนาคารที่ยั่งยืน'

   บริษัท ป่าสาละ จำกัด ดำเนินการภายใต้ทุนวิจัยจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้จัดทำงานวิจัย“เหตุผลทางธุรกิจของการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย”(Business Case for Sustainable Banking in Thailand) เพื่อสร้างความตระหนักและลดความสงสัยในวิถีธนาคารที่ยั่งยืนถอดบทเรียนธนาคารที่ยั่งยืนจากต่างประเทศทั่วโลก และนำเสนอ เหตุผลทางธุรกิจ ที่น่าสนใจสำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยในการก้าวสู่ความยั่งยืน

     แนวคิด'การธนาคารที่ยั่งยืน'เพิ่งตกผลึกอย่างชัดเจน ในปี ค.ศ. 2007 บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) องค์กรในเครือธนาคารโลกที่ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชน สรุปในรายงาน'การธนาคารเพื่อความยั่งยืน' (Banking for Sustainability) ว่า “ความยั่งยืน” สำหรับภาคธนาคารนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญสองส่วนด้วยกัน คือ การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และในการปล่อยสินเชื่อ และการค้นหาโอกาสการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเงินในสาขาใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

   องค์ประกอบแรกของการธนาคารเพื่อความยั่งยืนนั้นพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการผนวกรวมความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไปเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ เช่น ชุดหลักอีเควเตอร์ (Equator Principles: EPs) ซึ่งถูกออกแบบมาเป็นมาตรฐานสำหรับการปล่อยสินเชื่อโครงการใหญ่ที่รับผิดชอบ โดยจะผนวกรวมผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการกลั่นกรอง

    ส่วนองค์ประกอบที่สองว่าด้วยการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ส่งเสริมกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสะอาด ไมโครไฟแนนซ์ บริการทางการเงินที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มสตรี และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โมเดลธุรกิจซึ่งตอบโจทย์เหล่านี้กำลังสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่และตลาดใหม่ และช่วยให้สถาบันการเงินสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เสริมสร้างชื่อเสียงในสายตาของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียรายสำคัญ เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ และสร้างความไว้วางใจและการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

   ธนาคารที่ยั่งยืนซึ่งถือปฏิบัติตามแนวคิดความยั่งยืน นอกจากจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้แล้ว ยังพบว่าการดำเนินการอย่างยั่งยืนได้สร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจ ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่า ผลประกอบการทางการเงินของธนาคารมีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติกับกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังมีค่าสหสัมพันธ์เชิงลบกับสัดส่วนหนี้เสีย และธนาคารยังมีความผันผวนของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในกระแสหลักที่มีความสำคัญระดับโลก (Global Systemically Important Financial Institutions: GSIFIs)

   หากมองย้อนกลับมายังประเทศไทย ต้องยอมรับว่าวงการธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังค่อนข้างล้าหลังในบริบทของความยั่งยืน แต่คณะวิจัยพบว่า ธนาคารพาณิชย์ที่นำวิถีปฏิบัติของธนาคารที่ยั่งยืนไปประยุกต์ใช้น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจหลายประการในสามมิติใหญ่ของ 'การธนาคารที่ยั่งยืน'ได้แก่ การปล่อยสินเชื่อธุรกิจอย่างรับผิดชอบ, การปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างรับผิดชอบ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความสนใจของธนาคารหลายแห่งที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำภายหลังการเปิดตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการบุกตลาดผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้สมาร์ทโฟนและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

   หากพิจารณาการให้สินเชื่อรายใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังไม่เข้าใจแนวคิดหรือวิถีปฏิบัติของการปล่อยสินเชื่อ “ที่รับผิดชอบ” สำหรับลูกค้าธุรกิจ แต่จะเน้นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศต่างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลเท่านั้น

    ผลกระทบซึ่งจะปรากฎในอนาคตของการให้สินเชื่อในการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว จากธนาคารไทย 6 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 115,000 ล้านบาท คาดว่าจะกลายเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของการให้สินเชื่อโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีถูกนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนจะคัดค้านอย่างหนัก โดยยกเหตุผลว่าการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีแนวโน้มจะก่อหายนะทางระบบนิเวศ และปัญหาข้ามพรมแดนที่ยากจะเยียวยา จากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำ กีดขวางเส้นทางขยายพันธุ์ของปลาหลายชนิด ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม

    ส่วนการพิจารณาให้สินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะมีการควบคุมดูแลโดยหลายหน่วยงาน แต่โดยรวมกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินในไทยยังด้อยกว่ามาตรฐานสากลในบางมิติ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและความรู้เรื่องทางการเงินของธนาคารโลก (World Bank Good Practices for Consumer Protection and Financial Literacy) พบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่คำนวณราคาจริงที่ลูกค้าต้องจ่ายเฉลี่ยรายปี (Annual Percentage Rate: APR) ไม่มีการมอบระยะเวลาที่ลูกค้ารายย่อยสามารถเปลี่ยนใจยกเลิกบริการทางการเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ (cooling-off period) และใบสมัครสินเชื่อยังไม่มีมาตรฐานที่ทุกธนาคารใช้ร่วมกัน เปิดช่องให้ธนาคารหลายแห่งไม่แจกแจงการคำนวณอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ช่องว่างเหล่านี้ส่งผลให้การเปิดเผยเงื่อนไขการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความลักลั่นแตกต่างค่อนข้างมาก

   จากสถิติการร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฉายภาพให้เห็นปัญหาหนี้สินเกินตัว และการขาดความรู้เกี่ยวกับการจัดการหนี้ สอดคล้องกับข้อมูลเชิงมหภาคซึ่งแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับร้อยละ 82 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2556  ส่งผลให้ไทยติดกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงสุดในเอเชีย ใกล้เคียงกับมาเลเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้กลุ่มประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่มีระดับรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทย

   สถิติและสถานการณ์ภายในประเทศเหล่านี้สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางธุรกิจได้จากการปรับปรุงวิถีการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าออมเงินและลดภาระหนี้ และการผนวกผสานการให้การศึกษาหรือความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) เข้าไปในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

   เมื่อหันมาดูสถานการณ์การเข้าถึงบริการทางการเงิน พบว่าปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบค่อนข้างสูง แต่เข้าถึงบริการเงินฝากมากกว่าสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ แต่โดยรวม ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่เจาะตลาดผู้มีรายได้น้อย ทั้งในตัวเมืองและชนบท ปล่อยให้ตลาดดังกล่าวเป็นพื้นที่ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

    จากพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยประกอบกับสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อปัจจุบัน พบว่าตลาดยังเปิดกว้างอยู่มากสำหรับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 12,000 บาทต่อเดือน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ถึง 28 ต่อปี โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจในการเจาะตลาดนี้มีอาทิ การจับมือกับองค์กรการเงินฐานรากให้ทำหน้าที่เป็น “ตัวแทนการปล่อยกู้และติดตามหนี้” แทนธนาคาร และโมเดลการธนาคารผ่านมือถือที่สามารถแปลงเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ให้เป็นเงินสดได้ตามต้องการ

    แนวความคิด 'ธนาคารที่ยั่งยืน'จึงเป็นเรื่องที่นายธนาคารในประเทศไทยควรจับตามอง เพราะเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจในการสร้างผลกำไร และยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับสังคมอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสรรค์สร้างนวัตกรรมทางการเงินและการธนาคาร

  ในการนี้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด จะจัดงานสัมมนา 'การธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย'(Sustainable Banking Thailand) ในวันพุธที่ 25 มีนาคม 2558 เวลา 9.00 น.- 15.00 น. ณ โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิทเพื่อเชิญนักการเงิน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสื่อมวลชนร่วมรับฟังสรุปสาระสำคัญจากงานวิจัยชิ้นนี้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการธนาคารที่ยั่งยืนในเวทีเสวนากับผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน และทำความรู้จักกับเครือข่ายการธนาคารที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทยการรวมตัวกันของนักการเงิน นักการธนาคารและบุคลากรในภาคการเงิน รวมถึงนักวิชาการด้านการเงินการธนาคาร ผู้มีความสนใจร่วมกันที่จะขับเคลื่อนภาคธนาคารกระแสหลักในไทย ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ การธนาคารที่ยั่งยืน’ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.salforest.com โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

เกี่ยวกับป่าสาละ

     ป่าสาละ บริษัท “ปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน” แห่งแรกในประเทศไทย มุ่งจุดประกายและดำเนินวาทกรรมสาธารณะว่าด้วยธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านการจัดสัมมนา อบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ การจัดทำงานวิจัยเรื่องประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญในประเทศไทย ตลอดจนการวัดผลกระทบด้านสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน

   ป่าสาละก่อตั้งในปี พ.. 2556 โดย สฤณี อาชวานันทกุล นักการเงิน นักเขียนและนักแปลอิสระ เจ้าของผลงานหนังสือกว่า 50 เล่ม ร่วมกับ ภัทราพร แย้มละออ นักการตลาดและนักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ร่วมก่อตั้งงานประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลก (Global Social Venture Competition - GSVC) รอบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยผู้ร่วมอุดมการณ์อีกหกชีวิต ทีมงานป่าสาละทั้งห้าคนพร้อมเป็นส่วนเล็กๆ ในการเปลี่ยนผ่านสังคมธุรกิจไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ภัทราพร  แย้มละออ  กรรมการผู้จัดการฝ่ายเผยแพร่ความรู้

บริษัท ป่าสาละ จำกัด  เลขที่ สุขุมวิท ซอย 43 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. 10110

โทร 02 258 7383, Email: pattraporn@salforest.com

www.salforest.com 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!