WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก้าวพลาด'คลัง'หัวทิ่ม ฮึดดันอีกรอบ 'ภาษีที่ดิน'


      แม้ว่าการสั่งชะลอผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสร้างความโล่งใจให้คนไทยระดับหนึ่ง

      แต่ก็ถือเป็นเพียงชั่วคราว เพื่อให้กระทรวงการคลังไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

     ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ข่าวภาษีที่ดินถือว่าสร้างความอึดอัดให้กับคนไทยไม่น้อย เพราะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแทบทุกวันที่เป็นข่าว

      ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเคยมีการพูดถึงกันมาแล้วในอดีต ถูกหยิบจากลิ้นชักมาปัดฝุ่นอีกครั้งเมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ประเทศไทยเก็บภาษีจากทรัพย์สิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และทำสำเร็จไปแล้ว 1 เรื่อง คือภาษีมรดก

      เดิมทีกระทรวงการคลังจะเสนอภาษีที่ดินเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปลายปี 2557 ที่ผ่านมา แต่ต้องชะลอไว้ เพราะต้องการให้ภาษีมรดกผ่านพ้นกระแสคัดค้านไปก่อน

      ก่อนภาษีที่ดินจะถูกเบรก นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้า

      ผลักดันภาษีตัวนี้เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มีนาคมนี้ แต่ในระหว่างการจัดทำภาษี มีการปล่อยข่าวถึงอัตราที่จะจัดเก็บและมาตรการลดหย่อนมาโดยตลอด

       ช่วงแรกเมื่อคำนวณตัวเลขภาระภาษีออกมา จุดชนวนเสียงค้านของกลุ่มคนทุกระดับชั้นในสังคม บ้านเล็ก บ้านใหญ่ ส่อว่าจะถูกเก็บภาษีแทบทุกหลัง

      กระทรวงการคลังจึงกลับลำ จากเดิมคนที่มีบ้านทุกหลังในไทยต้องเสียภาษี จะมากจะน้อยแล้วแต่มูลค่า เป็นยกเว้นให้กับบ้านที่มีราคา 1 ล้านบาท เพิ่มเป็นยกเว้นสำหรับบ้าน 2 ล้านบาท และลดลงมาที่ 1.5 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี

     ส่วนคนที่มีบ้านแพงกว่านั้นจะได้รับการลดหย่อนภาษีตั้งแต่ 25% จนถึง 50% จากภาระภาษีที่ต้องจ่าย

      เมื่อมีเสียงคัดค้านมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มคนชั้นกลางอันเป็นฐานเสียงสนับสนุน คสช. ทำให้ฝ่ายการเมืองของ คสช.นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช.เมื่อวันที่ 12 มีนาคมว่า ควรจะชะลอเรื่องเสนอภาษีออกไปก่อน 

      ในวันนั้นนายสมหมายไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากติดภารกิจของกระทรวงการคลัง ถือเป็นการ "หัก" กันอีกครั้งในแวดวงรัฐบาล คสช.

      แต่แม้ถูกสั่งชะลอ นายสมหมายยังยืนยันจะผลักดันภาษีที่ดินเข้า ครม.อีกครั้งภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะมองว่าหากปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสนอ คงหมดโอกาส

      "ยังดีที่ชะลอ ไม่ใช่การยกเลิก ระหว่างนี้ยังมีโอกาสที่จะเสนอกฎหมายจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2559 ยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปภาษีของประเทศ และจะพยายามเสนอภายในรัฐบาลชุดนี้ กฎหมายนี้ถูกเสนอมาจากข้าราชการกระทรวงการคลังมาตั้งแต่ปี 2539 และเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลประชาธิปัตย์เมื่อช่วงปี 2553 แต่ก็เกิดการยุบสภา ทำให้กฎหมายนี้ต้องมา

      เริ่มต้นใหม่" นายสมหมายกล่าว 

     ทั้งนี้ ในการผลักดันภาษีที่ดินมีคำสั่งมาจากทางทำเนียบรัฐบาล แจ้งมาว่าให้คนของกระทรวงการคลังดำเนินการอย่างเงียบที่สุด ให้เหมือนกับกฎหมายภาษีอื่นๆ ที่ออกมาพูดได้ต่อเมื่อกฎหมายผ่าน ครม.แล้ว และสุดท้ายในช่วงที่รอการเสนอกฎหมาย กระทรวงการคลังต้องเร่งไปทำความเข้าใจกับสังคมและประชาชนถึงความจำเป็นที่ต้องจัดเก็บภาษี

       สอดคล้องกับในวันรุ่งขึ้น หลังจากกฎหมายถูกชะลอออกไป นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ส่งเอกสารข่าวมายังสื่อมวลชนของกระทรวงการคลัง เพื่อโต้แย้งข้อมูลที่มีการระบุว่าคนไทยเสียภาษีสูงสุดในอาเซียน และติดอันดับ 7 ของโลก ทาง สศค.ระบุว่า เรื่องดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง 

      จุดเริ่มต้นของข้อมูลมาจากสถิติที่รวบรวมโดยธนาคารโลกนั้น ไม่ใช่ข้อมูลภาระภาษีของภาครัฐทั้งหมด แต่เป็นข้อมูลเฉพาะของรัฐบาลกลางเท่านั้น ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีมากสุด

       แต่ถ้าเทียบกันแล้ว พบว่าการจัดเก็บภาษีของไทยอยู่ที่ 20.6% ของจีดีพี ถือว่าต่ำมาก ค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี อยู่ที่ 40.1% ของจีดีพี และค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 24.5% ของจีดีพี หากเรียงลำดับจากประเทศที่มีสัดส่วนดังกล่าวจากสูงไปต่ำแล้ว จะพบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 153 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในลำดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน

       "ไทยยังต้องมีการพัฒนาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก ขณะที่ภาระภาษีที่คนไทยจ่ายโดยรวมถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นเองก็เก็บได้น้อย และรัฐบาลส่วนกลางยังต้องจัดสรรเงินปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ไปให้ท้องถิ่น

       คลังยังหวังว่าภาษีที่ดินจะถูกหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะภาษีนี้จะเป็นเครื่องมือในการจัดหารายได้ของท้องถิ่นที่สำคัญ" นายกฤษฎากล่าว

       จากตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระทรวงการคลังในการเริ่มวางกลยุทธ์ผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกครั้ง และครั้งนี้น่าจะเป็นการดำเนินการแบบลับๆ เพื่อไม่ให้กฎหมายนี้ถูกยกเลิกซ้ำรอยอีก 

      "ในการเสนอกฎหมายต้องมีเทคนิค ดันไปเสนอภาษีโรงเรียนกวดวิชาตัดหน้า พอมีเรื่องภาษีที่ดิน เลยถูกผสมโรงว่าเป็นการซ้ำเติมประชาชน ทั้งที่ภาษีโรงเรียนกวดวิชาเป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับภาษีที่ดิน เมื่อมีกระแสต่อต้านขึ้นมา ก็เกิดการผสมโรงของการต่อต้านทั้งการเมือง ทั้งประชาชน เลยกลายเป็นเรื่องเป็นราวจนกฎหมายต้องถูกเบรกกลางอากาศ" แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ความเห็น

      หลังจากนี้ ไปกระทรวงการคลังคงต้องกลับไปกำหนดแนวทางของการเสนอกฎหมายให้ชัดเจนว่า กฎหมายนี้จะจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ หรือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพราะถ้าเพิ่มรายได้ควรจะจัดเก็บกับคนทุกกลุ่ม และการลดหย่อนจะต้องไม่มาก

     แต่หากจะลดความเหลื่อมล้ำแบบไม่สนใจรายได้ อัตราจัดเก็บและการลดหย่อนจะเป็นอีกแบบหนึ่ง และต้องรอบคอบรัดกุมที่สุด และต้องฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะมีผลกระทบเป็นวงกว้าง 

     ที่สำคัญ เซ็นเตอร์ของการผลักดันคือกระทรวงการคลัง ต้องรักษาอาการ รักษาความนิ่ง หากต้องการให้กฎหมายนี้ไปถึงฝั่ง

     ไม่เช่นนั้นอาจถูกจับแขวนหรือแช่แข็งอีกครั้งได้ง่ายๆ

รอฟังคำตอบ

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558 บทนำมติชน

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับตรงๆ ว่าปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้ไม่พอ จึงเสนอให้ปรับโครงสร้างภาษี โดยยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายขององค์กรส่วนท้องถิ่นที่มีถึงปีละ 2.6 แสนล้านบาท แต่สามารถจัดเก็บได้เพียง 7 หมื่นล้านบาท หากมีการปรับโครงสร้างภาษีทำให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น จะทำให้ลดภาระของรัฐที่ต้องจัดงบประมาณไปสนับสนุน ซึ่งประเด็นดังกล่าวผูกโยงกับแนวคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเดิมมีผลบังคับใช้ปี 2560 ที่ต้องการเก็บภาษีเพื่อนำส่งท้องถิ่น แต่บัดนี้ได้ชะลอออกไปแล้ว

       ขณะเดียวกัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วินิจฉัยสภาพเศรษฐกิจไทยโดยเปรียบเทียบกับอาการป่วยว่าเป็นถึง 3 โรค คือ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่ติดต่อมาจากเศรษฐกิจโลกซึ่งไม่ได้ขยายตัวอย่างที่คาด 2.โรคข้อเข่าเสื่อม คือ โครงสร้างพื้นฐานของไทยสู้ประเทศข้างเคียงไม่ได้ซึ่งกระทบต่อการลงทุน และ 3.โรคไม่เชื่อมั่น ทั้งไม่เชื่อมั่นภาครัฐ ไม่เชื่อมั่นแนวทางวิธีการแก้ปัญหา และไม่เชื่อมั่นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

    ขณะที่ นายวีรพงษ์ รามางกูร ให้สัมภาษณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจไทยว่า ในปีนี้เศรษฐกิจน่าจะหดตัว ซึ่งเท่าที่ทำงานด้านเศรษฐกิจมาไม่เคยมี มีแต่ขยายตัวมากหรือน้อย นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจอีกหลายคน ทั้งนักวิชาการและนักธุรกิจที่มองไปในทำนองเดียวกันว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ แต่ละคนยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

    ดังนั้น หากสถิติตัวเลขและการประเมินสภาพเศรษฐกิจไทยออกมาเช่นนี้ คำถามก็คือประเทศไทยควรจะทำอย่างไร คนไทยควรจะดำรงชีวิตเช่นไรในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้วิกฤตที่เกิดจะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลและกระทบความเชื่อมั่นแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แต่ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่าชีวิตประชาชนคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องเผชิญชะตากรรมในวิกฤตที่เกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงควรตอบคำถามให้ทุกฝ่ายรับทราบว่าสภาวะเศรษฐกิจดั่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประเทศไทยควรจะทำอย่างไร และคนไทยควรจะดำรงชีวิตเช่นไร

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!