WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1Early Retire

จากธนาคารกสิกรไทย K-expert เรื่อง Early Retire หรือรอ 60... แบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน

    กระแสเรื่อง Early Retire ช่วงนี้กำลังมาแรงทีเดียว เพราะเมื่อ Early Retire ไปแล้ว เราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระ ทำสิ่งต่างๆ ที่อยากทำได้ สำหรับพนักงานบริษัท เมื่อตัดสินใจ Early Retire ก็จะได้รับเงินก้อนมาจากบริษัทและเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเงินก้อนนี้อาจสูงถึงหลักล้านเลยทีเดียวนะ แต่ก่อนที่จะคิดวางแผนว่า จะนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไรดี อย่าลืมว่า เงินก้อนนี้ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีด้วย ส่วนจะต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน และต่างจากเคสเกษียณแบบปกติหรือไม่ K-Expert มีคำตอบมาฝากดังนี้

     เพื่อให้เห็นภาพกันแบบง่ายๆ จะขอยกตัวอย่างหากเป็นพนักงานบริษัทอายุ 45 ปี เงินเดือน 50,000 บาท อายุงาน 20 ปี ตัดสินใจ Early Retire ทำให้ได้รับเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวจากบริษัท 1,200,000 บาท และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 600,000 บาท ในการคำนวณภาระภาษีซึ่งต้องใช้ใบแนบในการคำนวณ ก่อนอื่นเราต้องจำแนกออกมาก่อนว่า เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าไร เพราะเงินก้อนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ

                1)เงินสะสมของเรา

                2)ผลประโยชน์ของเงินสะสม

                3)เงินสมทบของนายจ้าง

       4)ผลประโยชน์ของเงินสมทบของนายจ้าง

       โดยเงินส่วนที่ 2, 3 และ 4 เราต้องเสียภาษีหาก Early Retire ก่อนอายุ 55 ปี สำหรับตัวอย่างนี้ หากเงินส่วนที่ 2, 3 และ 4 คิดเป็นเงิน 500,000 บาท ดังนั้น ยอดรายได้ที่จะนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีในใบแนบเท่ากับ 1,200,000 + 500,000 = 1,700,000 บาท และเมื่อคำนวณภาษีตามฐานภาษีในใบแนบแล้ว จะคิดเป็นเงิน 98,500 บาท

      แล้วถ้าลองเปรียบเทียบกับพนักงานที่เกษียณอายุแบบปกติตอนอายุ 60 ปี เงินเดือน 50,000 บาท และมีอายุงาน 20 ปีเท่ากัน เมื่อเกษียณอายุได้รับเงินชดเชยจากบริษัท 500,000 บาท เงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน 700,000 บาท และเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 600,000 บาท ดูเผินๆ จากทั้งสองเคส จะเห็นว่าได้เงินก้อนจากบริษัทออกมาเท่ากันคือ 1,800,000 บาท แต่ภาษีที่จะต้องเสียเมื่อเกษียณอายุแบบปกตินั้นจะน้อยกว่าเมื่อ Early Retire ค่ะ เพราะเมื่อเกษียณแบบปกติ เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี จากเงื่อนไขว่า ถ้าเรานำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป จะไม่ต้องนำเงินก้อนที่ได้รับมาเสียภาษี ดังนั้นเงินส่วนที่จะนำมาเสียภาษีเมื่อเราเกษียณอายุคือ เงินชดเชยและเงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน โดยสามารถนำมาคำนวณในใบแนบได้ จากตัวอย่างนี้จะเสียภาษี 39,500 บาท

     จากตัวอย่างที่แสดงให้ดูข้างต้นจะเห็นว่า แม้ว่าเราจะได้เงินก้อนใหญ่เมื่อ Early Retire แต่ก็จะเสียภาษีเป็นเงินค่อนข้างสูง จึงอยากให้เพื่อนๆ ที่คิดจะ Early Retire ลองคำนวณดูก่อนว่า ภาษีที่เราจะต้องเจอะเจอเมื่อ Early Retire เป็นเงินมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยิ่งมาก ก็จะยิ่งเสียภาษีมากขึ้น จะได้พอคำนวณได้ว่า เงินที่ได้รับเมื่อตัดสินใจลาออกเป็นเงินเท่าไร คุ้มค่ากับการตัดสินใจ Early Retire หรือไม่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!