WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BBC logoคดีดัง'แบงก์บีบีซี' ศาลฎีกานัด'ชี้ขาด'

     กระชั้นเข้ามาทุกที สำหรับคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี และนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี ฉายาพ่อมดการเงิน เป็นจำเลยหลัก กว่า 20 คดี รวมมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

    คดียักยอกทรัพย์บีบีซี จัดว่ายืดเยื้อยาวนานร่วม 20 ปี หลังจากบีบีซีล้มละลายเมื่อปี 2538 และมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเรื่อยมา กระทั่งปี 2555 นายเกริกเกียรติเสียชีวิตลงด้วยอาการป่วย

    ขณะที่นายราเกซหลบหนีไปประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี 2539 ครั้งนั้นทางการไทยประสานกับเจ้าหน้าที่แคนาดาเพื่อนำตัวนายราเกซเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่นายราเกซให้ทนายความยื่นคัดค้าน ทอดเวลามาอย่างยาวนาน โดยอ้างว่าถ้าถูกส่งกลับประเทศไทยอาจถูกสังหารหรือถูกขังในคุกอย่างโหดร้ายทารุณ

    อย่างไรก็ดี ในที่สุดศาลฎีกาแคนาดายกคำร้องคัดค้านของนายราเกซเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นผลให้ทางการแคนาดาต้องส่งตัวนายราเกซให้ทางการไทยตามกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในที่สุด

     ขณะที่การพิจารณาคดีในชั้นศาลนานกว่า 16 ปีกำลังเข้าสู่จุดสิ้นสุด โดยในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ศาลฎีกานัดตัดสินคดียักยอกทรัพย์บีบีซี รวม 3 คดี

     คดีแรกเป็นคดีหมายเลขดำ ด.6173/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ, ม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ และ น.ส.เยาวลักษณ์ นิตย์ธีรานนท์ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์, เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการสินทรัพย์กระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยจำเลยทั้งสามร่วมกับนายราเกซยักยอกทรัพย์บีบีซีมูลค่า 1,228,896,438 บาท จากการลงนามทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ธนบัตรระหว่างบีบีซีกับบริษัท ดิเวลลอปเมนท์ ไฟแนนซ์ แอนด์ อินเวสต์เมนท์ จำกัด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538

    คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2550 ว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯมาตรา 33, 37-39 และ 311 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352-354 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษบทหนักสุดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทุจริตต่อหน้าที่ ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 กระทง กระทงละ 10 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 20 ปี และให้ปรับ 1,157,244,186.28 บาท

     พร้อมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซีจำนวน 589,622,043.04 บาท และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอาญามีคำพิพากษาแล้ว 5 สำนวนที่ให้จำคุกจำเลยที่ 1 รวม 70 ปีด้วย จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

     คดีที่สอง เป็นคดีหมายเลขดำ ด.6618/2542 ที่อัยการกองคดีเศรษฐกิจ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ, นางพรจันทร์ จันทรขจร และนางสุภาภรณ์ ทิพยศักดิ์ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ กรณีจำเลยร่วมกันเบียดบังยักยอกเงินจากบีบีซีจำนวน 200,956,250 บาท เป็นของตนเองและบุคคลที่ 3

      ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ให้จำคุกนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี ปรับ 211,160,166 บาท จำคุกนางพรจันทร์ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี 16 เดือน ปรับ 1,333,333.32 บาท หากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ 213/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 215/2548 และคดีหมายเลขแดงที่ 217/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีหมายเลขแดงที่ 3947/2548 ของศาลอาญา ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 93,036,333 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินจำนวน 84,720,000 บาท แก่ธนาคารโจทก์ร่วม และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3

      ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่ให้แก้ไขคำพิพากษาในส่วนของการชดใช้ค่าเสียหายแก่บีบีซี พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่บีบีซี โจทก์ร่วม จำนวน 128,316,333 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดคืนเงินจำนวน 120,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

     คดีที่สาม เป็นคดีหมายเลขดำ ด.7254/2543 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 และธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี ร่วมกัน เป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ, นายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา อดีตรองผู้อำนวยการ สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่, ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล อดีตผู้บริหารอาวุโส สำนักบริหารเงินและวิเทศธนกิจและ ม.ร.ว.หญิงสุภาณี สารสิน หรือดิศกุล อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบีบีซี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.352, 353, 354 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ม.307, 308, 309, 311, 312 และ 313

     กรณีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 กรกฎาคม 2539 จำเลยทั้งสี่และนายราเกซร่วมกันวางแผนอนุมัติขายหุ้นเพิ่มทุนของบีบีซี โดยไม่ตรวจสอบประวัติฐานะของบริษัทผู้เข้ามาจองซื้อหุ้น จำนวน 260 ล้านหุ้นให้กับบริษัท ออลบิ ยูเอสเอ อิงค์ และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เครดิต โบรกเกอร์เรจ โฮลดิ้ง อิงค์

      ที่มีนายราเกซเป็นผู้รับมอบอำนาจการซื้อขายหุ้น แล้วบริษัทนำหุ้น 90 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินจำนวน 23,170,731.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 570 ล้านบาทไปขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยฟูจิ จำกัด เพื่อนำเงินมาชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของโจทก์ร่วมรวม 38 ล้านหุ้น

     และยังได้อนุมัติสินเชื่อจำนวน 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ธนาคารเนชั่นแนลเครดิตแบงก์ รวมทั้งสินเชื่อให้กับบริษัท อาร์คาเดีย แคปิตอล พาร์ทเนอรส์ อิงค์ และบริษัท เอเซซ คอร์ปอเรท โฮลดิ้ง แอนด์ ไฟแนนซ์ อิงค์ อีกรายละ 50 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายราเกซเป็นผู้ลงนามในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทั้งสองบริษัทนำมาวางประกันขอสินเชื่อ

      คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2548 ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างวาระกัน ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯมาตรา 313 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 5 กระทง กระทงละ 10 ปี รวม 50 ปี

     แต่คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และปรับ 472,122,946.02 ดอลลาร์สหรัฐ และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากศาลอาญากรุงเทพใต้ที่พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหายักยอกทรัพย์ด้วย

      ส่วนจำเลยที่ 2-4 ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯมาตรา 308 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 666,666.66 บาท รวมทั้งให้จำเลยที่ 1 คืนเงินบีบีซี จำนวน 167,090,118.28 ดอลลาร์สหรัฐ หากใช้เป็นเงินบาทให้คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบัน โดยให้จำเลยที่ 2-4 ร่วมชดใช้เงินกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 85,733,882.04 ดอลลาร์สหรัฐ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการยึดทรัพย์สิน

       ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

    คำตัดสินของศาลสูงทั้ง 3 คดีในเวลาอันใกล้นี้จะออกมาอย่างไร เป็นเรื่องน่าสนใจ

มติชนออนไลน์ : วันที่ 08 ธันวาคม พ.ศ. 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!