WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Bitcoin หลังการล้มละลายของ Mt.Gox


Highlight

 

  การล้มละลายของ Mt.Gox ทำให้ผู้เล่นในตลาด Bitcoin เริ่มตระหนักว่าการใช้งานBitcoin ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะถูกจารกรรมหรือความเสี่ยงที่ผู้ประกอบธุรกิจเลิกกิจการ

  หน่วยงานกำกับดูแลของหลายประเทศเริ่มเข้ามาให้ความสนใจ Bitcoin กันมากขึ้น โดยท่าทีส่วนใหญ่คือมองว่าเงินเสมือน (Virtual currency หรือ Crypto currency) เช่นBitcoin เป็นเหมือนกับสินค้า (Commodity) ไม่สามารถใช้แทนเงินสกุลจริงได้ และจะคอยจับตาเพื่อไม่ให้เงินเสมือนดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือใช้ในการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย

  อีไอซีมองว่า การเก็บภาษีบนกำไรที่ได้จากการซื้อขายเงินเสมือนตามที่รัฐบาลหลายประเทศได้ประกาศไว้จะเป็นการควบคุมการขยายตัวของตลาด Bitcoin และเห็นว่าBitcoin ยังไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์ที่จะมาใช้แทนการชำระเงินในวงกว้างได้ในขณะนี้

      เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับ Bitcoin ในช่วงที่ผ่านมา คือการล้มละลายของ Mt.Gox จากรายงานของรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 28ก.พ. ที่ผ่านมา Mt.Gox ซึ่งเป็นหนึ่งใน Bitcoin Exchange รายใหญ่ที่สุดในโลกได้ยื่นความจำนงต่อศาลในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเพื่อขอล้มละลายและพิทักษ์ทรัพย์ โดยเหตุผลคือ ระบบซื้อขายออนไลน์ของ Mt. Gox นั้นถูกแฮกทำให้ Bitcoin ของลูกค้าMt.Gox จำนวน 750,000 หน่วย และ Bitcoin ที่เป็นของ Mt.Gox เองจำนวน 100,000 หน่วยนั้นสูญหายไป (ราคาซื้อขาย Bitcoin ในขณะนั้นอยู่ที่ 565 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหน่วย มูลค่ารวมของ Bitcoin ที่ถูกจารกรรมไปจึงเท่ากับ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของมูลค่า Bitcoin ทั้งระบบทั่วโลก) ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า Mt. Gox มีลูกค้าอยู่ราว 127,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนญี่ปุ่นประมาณ 1,000 คน และในขณะนั้น Mt.Gox มีทรัพย์สินเหลือในบัญชีธนาคารเพียง 32.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่พอสำหรับหนี้ค้างจ่ายแก่ลูกค้าจำนวนมหาศาล

     นอกจากการล้มละลายของ Mt.Gox แล้ว ยังมีเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ประกอบธุรกิจ Bitcoin รายอื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้เล่นอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น

  • Flexicoin ซึ่งเป็นเว็บให้บริการฝาก Bitcoin ได้ปิดตัวลงหลังพบว่า Bitcoin ของลูกค้าถูกจารกรรมไปทั้งหมด โดยBitcoin ที่หายไปเป็นจำนวน 896 หน่วย รวมมูลค่าราว 600,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • เทคโนโลยีที่ปิดบังผู้ใช้เช่น Bitcoin ทำให้เกิดตลาดมืดที่ซื้อขายสินค้าผิดกฎหมายออนไลน์ขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่นSilk Road ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายมูลค่านับร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลัง Silk Roadถูกปิดลงและผู้บริหารถูกควบคุมตัวโดย FBI
  • กระทรวงการคลังของเยอรมนีประกาศสถานะของ Bitcoin ว่าไม่ใช่เงินอิเลกทรอนิกส์ (e-money) และไม่ใช่เงินสกุลต่างประเทศ (foreign currency) แต่มีสถานะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล (private money) บุคคลทั่วไปสามารถถือครองและซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ โดยผู้ถือครอง Bitcoin ต้องแจ้งจำนวนที่ถือครองต่อทางการ และหากมีรายได้จากการค้า Bitcoinจะต้องนำมาคำนวณรวมเพื่อประเมินภาษี
  • Financial Services Agency (FSA) ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าญี่ปุ่นไม่ถือว่า Bitcoin เป็นสกุลเงิน แต่เป็นสินค้าชนิดหนึ่งคล้ายทองคำ และกำลังพิจารณาว่าจะห้ามไม่ให้สถาบันการเงินเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจเงินตราเสมือนเหมือนกับรัฐบาลจีน ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะเก็บภาษีบนธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย Bitcoin
  • กรมสรรพากรของสหรัฐ (Internal Revenue Service หรือ ออกแถลงการณ์คล้ายกับกระทรวงการคลังของเยอรมนี และรัฐบาลญี่ปุ่น คือตีความว่า Bitcoin เป็นทรัพย์สิน  และบุคคลทั่วไปที่ซื้อขาย Bitcoin แล้วได้กำไรจะต้องนำกำไรนั้นมาคำนวณรวมเพื่อประเมินภาษี
  • European Banking Authority (EBA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการธนาคารของสหภาพยุโรป ได้ออกรายงาน "Warning to consumers on virtual currencies"[3][3] เพื่อเตือนเกี่ยวกับเงินเสมือนว่ายังไม่มีกฎระเบียบคุ้มครองแก่ผู้บริโภคหากมีความเสียหายเกิดขึ้น โดยให้ความเห็นว่าผู้ถือเงินเสมือนยังมีความเสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูล และความเสี่ยงที่ผู้ประกอบธุรกิจเลิกกิจการ
  • หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) ของสิงคโปร์ออกมาประกาศว่าจะออกกฎควบคุมการซื้อขายBitcoin เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือก่อการร้าย
  • ผู้เชี่ยวชาญขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ออกรายงาน “The Bitcoin Question: Currency versus Trust-less Transfer Technology”[4][4]ให้ความเห็นว่าเพื่อเสถียรภาพของระบบโดยรวม สกุลเงินเสมือนหรือCrypto currency นั้นไม่ควรถูกนำมาใช้ในการชำระราคาระหว่างสถาบันการเงิน และเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็น Exchangeซึ่งมีสถานะเป็นผู้ดูแลเงินและทรัพย์สินของผู้บริโภค ควรได้รับการกำกับดูแลให้เท่าเทียมกับสถาบันการเงินประเภทอื่น เช่น ควรกำหนดให้มีการรายงานงบการเงิน และให้มีทุนที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสียหาย ไม่ว่าที่จะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดทางเทคโนโลยี การจารกรรม หรือการทุจริต
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยออกจดหมายเพื่อเตือนว่า Bitcoin เป็นหน่วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าของหน่วยข้อมูลดังกล่าวจะแปรผันไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขาย และจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีผู้ใดต้องการแล้ว[5][5]

      อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin และผู้ใช้งานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ coindesk.com ในปี 2014 มี Venture capital สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ (Start-up) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Bitcoin ด้วยมูลค่ารวมกว่า 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  อีกทั้งยังมีการติดตั้งเครื่อง ATMสำหรับ Bitcoin แล้วในหลายประเทศ และมีการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนใน Bitcoin เช่น Winklevoss Bitcoin ซึ่งกำลังจะจดทะเบียนเป็น ETF เข้าไปซื้อขายในตลาด NASDAQ เว็บไซต์หลายแห่งเช่น Overstock และ Zynga ยอมรับการชำระสินค้าเป็น Bitcoinนอกจากนี้ยังมีกิจการหลายแห่ง เช่น Ebay Expedia และ Dish Network ที่มีแผนที่จะยอมรับให้นำระบบเงินดิจิตอลมาใช้จ่ายชำระค่าสินค้าในอนาคต ในด้านจำนวนผู้ใช้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากข้อมูลของ blockchain.com มีผู้ลงทะเบียนเปิดบัญชีซื้อขาย Bitcoin ซึ่งเรียกว่า “Wallet” แล้วราว 1.8 ล้านบัญชี (รูปที่ 1)

      การเติบโตของตลาด Bitcoin ส่วนสำคัญมาจากความนิยมในประเทศจีนBitcoin มีการซื้อขายมาตั้งแต่ปี 2009 แต่เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในปลายปี 2013ทำให้ปริมาณการซื้อขายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ(รูปที่ 2) จากข้อมูลของ Federal Reserve Bank of St. Louis[1][1]ปัจจุบันมีการทำธุรกรรม Bitcoin ประมาณ 40 รายการต่อนาที แต่ละรายการมีขนาดเฉลี่ย 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายต่อวันราว 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน และจากข้อมูลของ bitcoincharts.com ตลาด Bitcoin ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดมีการซื้อขายเป็นสุกลเงินหยวนของจีน (CNY) รองลงมาเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ (USD)(รูปที่ 3) และ Exchange รายใหญ่ที่สุดคือ Okcoin ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของจีน (รูปที่ 4) สาเหตุที่ Bitcoin ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน รายงานของ Bloomberg[2][2]ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะชนชั้นกลางในประเทศจีนซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วต้องการทางเลือกลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากทางการได้ ทั้งนี้ราคา Bitcoin ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดที่ราว 1,100 ดอลลาร์ต่อหน่วยในเดือนธันวาคมปีก่อน (รูปที่ 5) ล่าสุดถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ราคา Bitcoin ร่วงลงมาอยู่ที่ราว 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการซื้อขายเริ่มลดลงตามลำดับ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาร่วงลง คือการที่รัฐบาลจีนออกคำสั่งห้ามไม่ให้สถาบันการเงินจีนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจเงินตราเสมือน โดยห้ามไม่ให้ธนาคารรับเปิดบัญชีเงินฝากกับเว็บไซต์ที่รับฝากหรือซื้อขายเงินเสมือน (Cyber exchange)

     ผู้กำกับดูแลของหลายประเทศไม่ยอมรับ Bitcoin เป็นสุกลเงิน และจะใช้การเก็บภาษีเป็นวิธีการควบคุมการขยายตัวของตลาดเงินเสมือนนอกจากรัฐบาลของประเทศจีนแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลของหลายประเทศได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อการซื้อขายเงินเสมือน เช่น Bitcoin โดยหลายประเทศไม่ได้คัดค้านหรือห้ามการซื้อขาย Bitcoin และมองว่า Bitcoin เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ออกมายืนยันว่า Bitcoin ไม่สามารถใช้แทนระบบการชำระเงินแบบปกติได้

     อนาคตของ Bitcoin จะเป็นอย่างไร อยู่ที่ว่าผู้ใช้งานจะปลอดภัยดังที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ที่ผ่านมา ผู้เล่นที่เชื่อใน Bitcoin ให้เหตุผลว่า Bitcoin นั้นดีกว่าระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราในรูปแบบดั้งเดิม เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินชำระราคาผ่านระบบออนไลน์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าการโอนเงินผ่านธนาคาร และจะไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลาง ปริมาณ Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกจำกัดด้วยการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ที่ยากขึ้นตามลำดับ ปริมาณของ Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่จึงน้อยลง และทำให้มูลค่า Bitcoin จะไม่ลดลงเหมือนกับเงินสกุลจริง (ดังเช่นเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ด้อยค่าลงเนื่องจากมาตรการ QE) นอกจากนี้ การทำธุรกรรมทุกรายการจะถูกตรวจสอบและบันทึกไว้โดยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบเครือข่ายของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกัน จึงมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งเพราะมีการช่วยตรวจสอบซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม การที่เว็บไซต์ผู้รับฝาก Bitcoin เช่น Mt.Gox ปิดกิจการและสร้างความเสียหายให้กับลูกค้า Mt.Gox เป็นเหตุการณ์ที่ชี้ว่าการซื้อขายหรือถือเงิน Bitcoin ยังมีความเสี่ยงสูง และอาจไม่ปลอดภัยดังที่ผู้เล่น Bitcoin หวังไว้

      ในด้านการเป็นทางเลือกสำหรับลงทุน หลายฝ่ายเตือนว่า Bitcoin อาจเป็นเพียงฟองสบู่อีกลูกหนึ่งการที่ Bitcoin มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น นำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า Bitcoin จะเป็นฟองสบู่หรือไม่ ความเห็นจาก ผู้เชี่ยวชาญของ Federal Reserve Bank of St. Louis มองว่าสินทรัพย์ที่เข้าข่ายเป็นฟองสบู่ คือสินทรัพย์ที่มีราคา (Price) มากกว่ามูลค่าของตัวมันเอง (Intrinsic value) ด้วยคำจำกัดความนี้ อาจกล่าวได้ว่าBitcoin เป็นฟองสบู่ เพราะว่า Bitcoin ไม่มีมูลค่าในตัวเอง หรือ Intrinsic value มีค่าเท่ากับศูนย์ แต่ความเห็นแย้งคือ สินทรัพย์ประเภทอื่นเช่นทองคำก็น่าจะจัดเป็นฟองสบู่ด้วยเช่นกัน เพราะทองคำมีราคาสูงกว่ามูลค่าในตัวเอง คำถามที่น่าคิดถัดมาคือ แล้วฟองสบู่ของ Bitcoin ต่างจากฟองสบู่ของทองคำหรือไม่อย่างไร

     ในรายงานของฉบับดังกล่าว แนะนำว่าให้วิเคราะห์ไปที่อุปสงค์และอุปทานของสินทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดเสถียรภาพของราคา จริงอยู่ว่า Bitcoin และทองคำมีลักษณะคล้ายกันตรงที่มีอุปทานอย่างจำกัด แต่ในด้านอุปสงค์ ทองคำนั้นได้รับการพิสูจน์มาแล้วกว่าร้อยปีว่ามีความต้องการที่แท้จริง อย่างน้อยก็จากการใช้งานในอุตสาหกรรม ใช้เป็นเครื่องประดับ และความต้องการจากธนาคารกลาง แต่สำหรับ Bitcoin ยังมีข้อสงสัยว่าความต้องการใน Bitcoin จะเป็นความต้องการที่ขยายตัวอย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ย่อมหมายความว่า Bitcoin คือฟองสบู่ที่ไม่ยั่งยืน และราคาของ Bitcoin ควรกลับไปหามูลค่าที่แท้จริงของตนเองในที่สุด   

       อีไอซีมองว่า Bitcoin ยังไม่ใช่ระบบที่จะมาใช้แทนเงินในวงกว้างได้การล้มละลายของ Mt. Gox น่าจะทำให้ผู้เล่นในตลาด Bitcoin ตระหนักว่า การใช้งาน Bitcoin ไม่ว่าจะเพื่อเก็งกำไรหรือนำมาใช้แทนเงินตรายังมีความเสี่ยงสูงมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลของหลายประเทศที่ออกมาเตือนผู้ซื้อผู้ขาย Bitcoin อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหน่วยงานในบางประเทศจะไม่ได้ห้ามการซื้อขาย Bitcoin แต่หากรัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มเก็บภาษีบนธุรกรรมซื้อขายเงินเสมือนดังที่ประกาศไว้ ย่อมหมายความว่าการซื้อขาย Bitcoin จะมีต้นทุนสูงขึ้นทันที และจะเป็นการควบคุมการเติบโตของตลาด Bitcoinไปในตัว โดยสรุป อีไอซีมองว่า Bitcoin เป็นระบบการสร้างและถ่ายโอนความมั่งคั่งที่ได้ผ่านการคิดค้นขึ้นมาอย่างน่าสนใจ แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์ที่จะมาใช้แทนการชำระเงินในวงกว้างได้ ในด้านการซื้อเพื่อลงทุน Bitcoin อาจเข้าข่ายเป็นฟองสบู่เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีมูลค่าในตัวเองและมีความต้องการที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ตลาดซื้อขาย Bitcoin น่าจะยังคงมีต่อไปเนื่องจากยังมีผู้ที่เชื่อในระบบ Bitcoin อยู่อีกมาก แต่การขยายตัวจะไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วเหมือนกับช่วงปีที่ผ่านมา  

Implication

        

     ผู้สนใจที่ต้องการเข้าซื้อขายหรือใช้งาน Bitcoin ควรศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้านเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ใช้Bitcoin เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับและให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกรรมเงินเสมือน อีไอซีจึงแนะนำว่าผู้ที่ต้องการเข้าไปซื้อขายหรือใช้งานเงินเสมือนเช่น Bitcoin ควรศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้านเพื่อให้เข้าใจถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้



สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)

ดวงพร หุตะเสวี (แก้วโทร. 02-544-4503 , 081-6377367 Email: dongprnh@scb.co.th

กุณฑลี  โพธิ์แก้ว (ผึ้งโทร. 02-544-4501 , 086-1308560 Email: koontalee.pokaew@scb.co.th

พิชญ์มน เกตุปมา (ปูเป้) โทร. 02-544-1902  Email: pichamon.ketupama@scb.co.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!