WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CIMBอมรเทพ จาวะลาซีไอเอ็มบี สวนกระแสตลาด เชื่อเฟดคงดอกเบี้ยรอบนี้ เตือนนักลงทุนระวังเงินบาทกลับแข็งค่า

    สำนักวิจัย ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย เชื่อเฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่อาจเห็นในการประชุมเดือนมิ.ย. ชี้บาทไม่อาจไม่อ่อนแม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย พร้อมเตือนเงินบาทอาจตีกลับมาแข็งค่าชั่วคราวหากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ย ห่วงไทยใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำนานเกินส่งผลข้างเคียงได้ หวังกนง.ส่งสัญญาณให้ชัด ไม่ใช่ประเทศสุดท้ายที่พร้อมขึ้นตาม

    ดร.อมรเทพ จาวะลาผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประธานเฟดส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ โดยตลาดการเงินเชื่อว่าเฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ สู่ระดับ 0.75-1.00% แต่เชื่อว่าจะยังไม่เห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ 

     แม้ว่า ตัวเลขการจ้างงานและภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นจริง แต่ตัวเลขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาสที่ 4ที่ต่ำมากหรืออยู่ที่ระดับ 1.9% เท่านั้น หากเฟดจะรอตัวเลขการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 1 ที่จะประกาศในเดือนเมษายน ก็น่าจะทำให้ภาพรวมดูมีความชัดเจนดีกว่ารอบนี้ อีกทั้งรอมาตรการของนายโดนัลด์ ทรัมป์ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงไร

      “โดยสรุปแล้วผมมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนมิถุนายนมากกว่า แต่หากเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ ก็คงเพื่อสะกัดภาวะฟองสบู่ในสหรัฐที่เริ่มพองตัวขึ้น ดังเห็นได้จากดัชนีดาวโจนส์ที่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอาจแตกลงทำให้เกิดปัญหาภายหน้าได้ จึงต้องรีบลดความร้อนแรงของตลาดทุนลง”

      อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้หรือรอบเดือนมิถุยายน ล้วนแต่ส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยได้อยู่พอสมควร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรคาดว่าจะขยับขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนของเอกชนสูงขึ้นจากสภาพคล่องที่จะเริ่มตึงตัวขึ้น เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้ส่งออกอาจไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะบาทมีทีท่าจะแข็งค่าเทียบสกุลเงินเพื่อนบาท จากเงินสำรองที่สูงและดุลบันชีเดินสะพัดที่เกินดุล ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจอยู่ในการเป็นที่พักเงินของนักลงทุนต่างชาติ หรือเป็น Safe Haven อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรระวังเงินบาทอาจพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชั่วคราว หากเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือส่งสัญญาณการขึ้นต่อเนื่องไม่ชัด ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับมาไทยได้ชั่วคราว

     นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยว่าจะพร้อมที่จะขยับขึ้นหรือยัง หรือเราจะให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ หรืออยู่ที่ราว 3% และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วยังไม่ว่าในระยะอันใกล้จะมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เหนือ 4% และหากรอไปถึงวันนั้นก่อนจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศสุดท้ายที่จะขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐก็เป็นได้ 

     ขณะเดียวกัน  การส่งสัญญาณดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเกินควร แม้จะดูว่าช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนการเงินต่ำ ให้คนลงทุนและบริโภค แต่ดอกเบี้ยไม่ใช่ยารักษาทุกโรค ดังเห็นได้จากสามปีที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนหดตัว การบริโภคอยู่ในระดับต่ำ ทั้งๆที่ต้นทุนทางการเงินต่ำ ซ้ำร้ายคือ ยาตัวนี้ก็มีผลข้างเคียง ผู้ออมเงินถูกบีบให้ไปแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง หวังเพื่อชนะเงินเฟ้อที่แสนต่ำ โดยอาจไม่พิจารณาความเสี่ยงในการลงทุนอย่างรอบคอบ และอาจนำไปสู่ปัญหาในระบบการเงินได้

    “สุดท้าย ผมหวังกนง. ส่งสัญญาณดอกเบี้ยให้ชัด ว่าไทยคงไม่ใช่ประเทศสุดท้ายที่พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ย และเราต้องคาดหวังสิ่งใดบ้างก่อนดอกเบี้ยจะขยับขึ้นได้”ดร.อมรเทพ กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!