WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gอภศกดอาทิตย์เอกเขนก : 'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' ขึ้นภาษีบาป อุ้ม 'สังคมสูงวัย'

    ไทยโพสต์ : ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นข่าวเรื่องการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุรา เบียร์ และยาสูบ ในอัตราไม่เกิน 2% เพื่อนำเงินไปอุดหนุนกองทุนคนชรา วัตถุประสงค์หลักก็คือ เพื่อใช้ในการ’ดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย’ เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และเพียงพอต่อการยังชีพในยุคภาวะเศรษฐกิจ รวยกระจุก จนกระจาย เช่นนี้

    ซึ่งนั่นเองเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ด้วยเพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

      เพราะหากย้อนไปดูข้อมูลจากการสำรวจของ "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" หรือสภาพัฒน์ จะพบว่า ในปี 2547 กลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเริ่มมีสัดส่วนมากกว่า 10% และปัจจุบันพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวมีกว่า 7 ล้านคน ก่อนจะมีการคาดการณ์กันว่าในปี 2567 หรือในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนที่มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

      นั่นหมายความว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเท่ากับสัดส่วนของกลุ่มเด็กที่ประเทศไทยมีในขณะนี้ และยังคาดอีกว่าประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของกลุ่มเด็ก ในปี 2573 หรือคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ

      ข้อมูลตรงนี้น่าสนใจตรงนี้ เมื่อประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นสะท้อนว่ารัฐบาลซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดหาสวัสดิการเพื่อมาดูแล และรองรับในส่วนดังกล่าวจะต้องมีการแบกภาระงบประมาณเพื่อจัดการในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยยังมีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และไม่มีคนดูแลอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

      และเมื่อดูจากข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด จากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 กว่า 14.1 ล้านคนนั้น ในส่วนนี้จะพบว่า มีผู้สูงอายุมาลงทะเบียนกว่า 4 ล้านคน และในส่วนนี้อีกนั่นเอง พบว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี อยู่จำนวนมากถึง 3.5 ล้านราย

       ถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียวและที่ผ่านมา 'กระทรวงการคลัง' ได้พยายามเร่งดำเนินการหาแนวทางในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะแนวคิดการปรับเพิ่มเบี้ยคนชรา จากปัจจุบันได้รับในอัตรา 600-1,000 บาทต่อเดือน ตามแต่ช่วงอายุ ซึ่งนั่นก็ยังอาจไม่เพียงพอต่อการยังชีพอยู่ดี

      กับล่าสุด การปรับขึ้นภาษีบาป (ภาษีสุรา เบียร์ ยาสูบ) เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลจะ จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้เพื่อมารองรับสถานการณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยกำหนดในอัตราไม่เกิน 2% พร้อมทั้งยังขีดเส้นเพดานเงินกองทุนคนชราที่จะดำเนินการในแต่ละปีได้ต้องไม่เกิน 4 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่รวมกับโครงการที่’กระทรวงการคลัง’ กำลังพยายามผลักดันอยู่ คือการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะดี สละสิทธิ์รับเบี้ยคนชรา เพื่อนำเงินโยกเข้าไปใส่กองทุนคนชราเพื่อใช้ในการดูแลกลุ่มเป้าหมายต่อไป โดยผู้ที่สละสิทธิ์ก็จะได้รับเข็มเชิดชูเกียรติในการทำความดีครั้งนี้ด้วย

       ที่ผ่านมาอาจจะมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วเงิน 4 พันล้านบาทที่เจียดมาจากการจัดเก็บภาษีบาป เพื่อมาดูแลคนชรานั้นจะเพียงพอต่อการดำเนินงานหรือไม่ ทางฟากฝั่ง "กระทรวงการคลัง" เอง ยืนยันชัดเจนมาแล้วว่า เพียงพอแน่นอน

      'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' รมว.การคลัง ระบุว่า "เพดานของกองทุนผู้สูงอายุซึ่งกำหนดไว้ที่ 4 พันล้านบาทนั้น จะเพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในปัจจุบันอย่างแน่นอน และอีกประเด็นที่ถือเป็นเรื่องน่ายินดีว่า ยังมีผู้สูงอายุที่ฐานะดีจำนวนมาก มีความพร้อมและแสดงความประสงค์แล้วว่าจะเข้าร่วมโครงการสละสิทธิ์ในการรับเบี้ยคนชราเป็นจำนวนมาก ซึ่งเงินที่จะได้เพิ่มเข้ามาในส่วนนี้จะทำให้กองทุนผู้สูงอายุมีเงินเข้ามาดูแลกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นด้วย"

      และด้วยสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศ ไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้เอง อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ "กระทรวงการคลัง" มองว่า การหา แหล่งเงินที่แน่นอนให้กองทุนผู้สูงอายุใช้ในการบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมาย มีความจำเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

       กับอีกเหตุผลสำคัญว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อย และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้รัฐบาลดำเนินการในส่วนนี้ เพื่อนำเงินที่จัดสรรเพิ่มขึ้นไปดูแลสวัสดิการในด้านต่างๆ และการปรับขึ้นภาษีบาปดังกล่าวก็ถือเป็นอัตราที่น้อยมาก ทำให้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับราคาสินค้าน้อยมากเช่นกัน

       โดยมีการประเมินคร่าวๆ ว่า เฉพาะวงเงิน 4 พันล้านบาทจากภาษีบาป ซึ่งยังไม่รวมจากการสละสิทธิ์เบี้ยผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุในกลุ่มเป้าหมาย คือมีรายได้น้อย ได้รับเบี้ยคนชราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 100-200 บาทต่อราย หรือคิดเป็น 900-1.3 พันบาทต่อเดือน อันนี้เป็นเพียงข้อสมติฐานคร่าวๆ เท่านั้น แม้จะเป็นวงเงินที่ไม่มากนัก แต่ก็น่าจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพได้ในระดับหนึ่ง

        ข้อมูลอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีบาป 3 ประเภทนี้ของกรมสรรพสามิต อยู่ที่ 2.13 แสนล้านบาทแบ่งเป็น ภาษียาสูบ 6.5 หมื่นล้านบาท ภาษีสุรา 6.2 หมื่นล้านบาท และภาษีเบียร์อีก 8.6 หมื่นล้านบาท

         ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย นั่นเพราะเงินภาษีจำนวนมหาศาลนี้ ไม่ได้ถูกส่งเข้าคลังเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการจัดสรรเพื่อไปอุดหนุนกองทุนสาธารณประโยชน์ และหน่วยงานสาธารณะต่างๆ รวมทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากภาษีดังกล่าวปีละ 2% โดยในปีที่ผ่านมามีวงเงินอุดหนุนอยู่ที่ 4.27 พันล้านบาท, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ได้รับอุดหนุน 1.5% โดยมีเพดานจำกัดอยู่ที่ 2 พันล้านบาท, กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีบาป ปีละ 2% เช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมา มีวงเงินอุดหนุนอยู่ที่ 4.27 พันล้านบาท และล่าสุดคือ "กองทุนผู้สูงอายุ" นั่นเอง ทำให้รวมแล้วในปีๆ หนึ่ง กรมสรรพสามิตต้องจัดสรรเงินภาษีบาปเพื่ออุดหนุนหน่วยงานดังกล่าวที่ 7.5% ต่อปี

        อย่างไรก็ดี ถือเป็นสิ่งจำเป็นและควรจะดำเนินการ เพื่อเป็นการดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และยังเป็นการรองรับสถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ และยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลส่วนนี้ออกมาเพิ่มเติมหรือไม่!.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!