WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วีรพงษ์ รามางกูร : ฮ่องกงและไต้หวัน


ฮ่องกงและไต้หวัน โดย วีรพงษ์ รามางกูร


ข่าวการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในฮ่องกง ดูจะเป็นข่าวใหญ่ของโลก พอๆ กับข่าวการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่ยุติด้วยการมีรัฐประหารในปี 2557 อย่างที่ทราบกัน

ฮ่องกงไม่ใช่ประเทศเอกราช แต่เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกงเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ตัวเกาะฮ่องกงนั้นจีนต้องยกให้อังกฤษเพราะจีนแพ้สงครามฝิ่น ส่วนฝั่งเกาลูนและดินแดนที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่เป็นเขตที่อังกฤษบังคับเช่าจากจีนในปี 1898 สมัยที่จีนยังปกครองโดยจักรพรรดิราชวงศ์ชิงเป็นเวลา 99 ปี

เมื่อครบ 99 ปี ในปี 1997 จีนกับอังกฤษโดย เติ้ง เสี่ยวผิง กับมากาเรต แธตเซอร์ ได้ลงนามในสนธิสัญญาคืนเกาะฮ่องกงและดินแดนบนผืนแผ่นดินใหญ่คืนให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกงจึงกลับมาอยู่ใต้อธิปไตยของจีนอีกครั้งหนึ่ง

เงื่อนไขที่ทำไว้ด้วยกันก็คือ จีนจะยังคงระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งกฎหมายและการปกครองไว้ตามเดิมเป็นเวลา 50 ปี เพื่อรักษาความมั่งคั่งของฮ่องกงไว้ตามเดิม

ฮ่องกงจึงต่างกับไต้หวัน ไต้หวันนั้นทั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปักกิ่งและสาธารณรัฐจีนที่ไทเป ประกาศว่าตนจะยึดถือนโยบายจีนเดียวคือ ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน เพียงแต่ว่ารัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นรัฐบาลไหน รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือรัฐบาลของพรรคก๊กมินตั๋งหรือพรรคอื่นที่ชนะการเลือกตั้งที่ไทเป

ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำโดยเหมาเจ๋อตง จะได้รับชัยชนะประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 เจียง ไค เช็ก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีนต่อจาก ดร.ซุน ยัดเซ็น กองทัพ ก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ จึงอพยพลงเรือไปตั้งมั่นอยู่ที่ไต้หวัน มณฑลหนึ่งของจีน ประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติต่างๆ ประกาศไม่รับรองรัฐบาลของ เหมา เจ๋อ ตง พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปักกิ่ง แต่ยังคงรับรองรัฐบาล เจียง ไค เช็ก พรรคก๊กมินตั๋ง ว่าเป็นรัฐบาลโดยชอบของจีนและยังคงให้สาธารณรัฐจีนที่ไปตั้งหลักอยู่ที่ไต้หวันเป็นสมาชิกสหประชาชาติและยังมีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงด้วย

ต่อมาสมัยประธานาธิบดีนิกสันสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนนโยบายหันมารับรองรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปักกิ่ง รวมทั้งไม่คัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วย

ไต้หวันในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นประเทศหรือรัฐอิสระแต่เป็นมณฑลหนึ่งของจีนตามมติของสหประชาชาติ แต่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไทเปก็ประกาศไม่ยอมรับมติสหประชาชาติ และประกาศว่าทางรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันถือว่าแผ่นดินใหญ่ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน

สื่อมวลชนตะวันตกส่วนมากทำเป็นไม่รู้และมักจะลงข่าวทำนองเสมือนว่าไต้หวันเป็นประเทศอิสระมาก่อนแล้วจึงไปเรียกร้องว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีนความจริงทั้งรัฐบาลที่ปักกิ่งและรัฐบาลที่ไทเปต่างก็ดำเนินนโยบายจีนเดียว เพียงแต่เรียกชื่อประเทศต่างกัน รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเรียกประเทศจีนว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 แต่รัฐบาลจีนซึ่งอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2492 ไปอยู่ที่ไทเป ยังคงชื่อเดิมที่สถาปนาขึ้นโดยพรรคก๊กมิน ตั๋ง ของ ดร.ซุน ยัดเซ็น คือสาธารณรัฐจีน

ด้วยเหตุดังกล่าว ฐานะของฮ่องกงกับไต้หวันจึงแตกต่างกันมาก ฮ่องกงเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ไต้หวันอยู่กับจีนมานานแล้ว แม้ว่าจะเคยเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส โดยโปรตุเกสเรียกว่า "ฟอร์โมซา" ขณะนี้สาธารณรัฐจีนแม้ไม่ได้การรับรองจากสหประชาชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปว่าเป็น "รัฐ" เอกราช แต่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนก็จริง แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังสนับสนุนให้เป็นอิสระจากรัฐบาลที่กรุงปักกิ่ง โดยมีสนธิสัญญาความมั่นคงกับไต้หวันที่จะเข้ามาช่วยเหลือทางทหาร หากรัฐบาลที่ปักกิ่งจะใช้กำลังทหารเข้าบังคับในการรวมชาติ

ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปักกิ่งก็ประกาศว่าจะไม่ใช้วิธีรวมชาติโดยกำลังทหารแต่คิดว่าในอนาคตประชาชนจีนในไต้หวันก็คงจะนำไต้หวันเข้ามารวมกับจีนบนแผ่นดินใหญ่เองเพราะทางปักกิ่งก็ลดเงื่อนไขต่างๆ ลงเกือบจะหมด แม้กระทั่งเมื่อรวมชาติแล้วทางไต้หวันจะยังคงมีกองทัพไว้ก็ได้ เพียงแต่ให้ใช้ธงชาติเดียวกัน เพลงชาติเดียวกันกับเรื่องการต่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องเป็นของรัฐบาลปักกิ่ง แต่ทางไต้หวันก็ยังไม่ยอม

ส่วนทางฮ่องกงนั้น เมื่ออังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้กับรัฐบาลจีน โดยมีเงื่อนไขว่าทางจีนจะให้ฮ่องกงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยังคงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีไว้ตามเดิมเป็นเวลา 50 ปี จีนจึงได้ประกาศนโยบาย "หนึ่งประเทศสองระบบ" ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันจึงคงอยู่ภายใต้อธิปไตยอันเดียวกัน

ก่อนที่ฮ่องกงจะถูกส่งมอบคืนให้จีนนั้น อังกฤษซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวฮ่องกงในการเลือกผู้ว่าการเกาะฮ่องกง รวมทั้งไม่เคยมีสภาที่ปรึกษาที่ได้รับเลือกจากประชาชนเลย แม้แต่กองกำลังตำรวจก็ใช้ชาวปากีสถานและชาวกรูข่า แต่เมื่ออังกฤษจะต้องคืนฮ่องกง อังกฤษก็เริ่มสนับสนุนและส่งเสริมขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง 

เมื่อฮ่องกงกลับคืนมาสู่อธิปไตยของจีน ทางจีนก็ได้แต่งตั้งนายต่ง เจี้ยนหวา ซึ่งเป็นชาวจีนฮ่องกงเป็นผู้ว่าการฮ่องกงคนแรก ทันทีที่มีการแต่งตั้งผู้ว่าการคนแรกจากปักกิ่ง ก็มีกระแสเรียกร้องที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงโดยประชาชนชาวฮ่องกงมาโดยตลอด ทางปักกิ่งก็โอนอ่อนผ่อนตามมาเรื่อยๆ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับการคัดกรองจากรัฐบาลที่ปักกิ่งแล้ว

การประท้วงครั้งนี้เป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการฮ่องกงสามารถสมัครได้เองโดยไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากรัฐบาลที่ปักกิ่งก่อน

ทางจีนก็คงจะกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยเพราะจีนก็ไม่ได้มีเขตปกครองตนเองหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษแค่ฮ่องกงที่เดียวเท่านั้นแต่ยังมีดินแดนอื่นๆ ด้วย เช่น ซินเจียง ทิเบต และกวางสีจ้วง สำหรับกวางสีนั้นคงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับอินเดียและทิเบตน่าจะยังมีปัญหา เพราะยังมีการสู้รบเพื่อจะแยกตนเป็นอิสระจากจีน จีนคงจะยอมไม่ได้

การชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมซึ่งเป็นวันชาติจีน แม้จะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากเป็นประวัติการณ์สำหรับฮ่องกง แต่ก็เป็นการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา ทำการปิดถนน ปิดย่านการค้าที่สำคัญ จึงเกิดกลุ่มต่อต้านการชุมนุมขึ้นโดยผู้ประกอบการและผู้ที่มีอายุสูงกว่า โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจการค้า คนฮ่องกงแต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยให้ความสนใจในเรื่องการเมือง สนใจแต่เรื่องค้าขาย ทำอย่างไรจึงจะร่ำรวย มีฐานะทางเศรษฐกิจมากกว่าการมีฐานะทางรัฐบาลและทางการเมือง

ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าทางการจีนที่ปักกิ่งจะจัดการกับปัญหาการเรียกร้องประชาธิปไตยในเขตการปกครองพิเศษฮ่องกงอย่างไรการใช้กำลังเข้าปราบปรามแบบกรณีเทียนอันเหมินคงจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะกรณีดังกล่าวยังเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในระยะยาวจีนคงต้องพิจารณากระแสประชาธิปไตยอย่างจริงจัง

ฮ่องกงกับไต้หวันจึงไม่เหมือนกัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!